×

Super Spreader คืออะไร ไทยเสี่ยงแค่ไหนที่จะมีผู้ป่วยโควิด-19 แพร่เชื้อจำนวนมาก เทียบความเหมือนและต่างจากกรณีเกาหลีใต้

26.02.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • ความเหมือนในกรณีของคุณปู่ชาวไทยและคุณป้าชาวเกาหลีที่เชื่อกันว่าจะเป็น Super Spreader ของโรคโควิด-19 คือทั้ง 2 เคสมีการวินิจฉัยโรคที่ล่าช้า เนื่องจากผู้ป่วยปกปิดประวัติเดินทาง ทำให้ไม่มีการแยกตัวผู้ป่วย และเกิดความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อให้กับผู้อื่น 
  • นิยามของ Super Spreader ไม่ได้นับจำนวน ‘ผู้สัมผัส’ แต่นับจำนวน ‘ผู้ป่วย’ ที่ได้รับเชื้อต่อจากผู้ป่วยรายนั้นๆ นั่นหมายความว่าเราจะต้องรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงก่อนว่ามีกี่ราย
  • จากการสอบสวนโรคผู้ป่วย ยืนยันในประเทศไทยที่ผ่านมามีการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงประมาณ 30 คนต่อผู้ป่วย 1 ราย เพราะในชีวิตประจำวันของผู้ป่วยก็ต้องพบปะกับผู้อื่นไม่ต่างจากเราทุกคน และในจำนวนนี้ได้ตรวจพบการติดเชื้อทั้งหมด 11 ราย คิดเป็น 1% เท่านั้น

“ไวรัสโคโรนาอยู่ใกล้เข้ามาทุกขณะ” 

 

หลังจากปลัดกระทรวงสาธารณสุขแถลงข่าวพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในประเทศไทย เพิ่มอีก 3 ราย โดยเป็นคุณปู่อายุ 65 ปี และคุณย่าอายุ 62 ปี ที่เดินทางไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 16-20 กุมภาพันธ์ 2563 และหลานอายุ 8 ขวบ ซึ่งไม่ได้เดินทางไปด้วยกัน 

 

ถึงแม้ท่านปลัดฯ จะยืนยันว่า “ขณะนี้ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดที่มีความเสี่ยงสูงได้ทุกราย” แต่ข่าวที่เผยแพร่ในสังคมออนไลน์ว่ามีผู้สัมผัสกับผู้ป่วยหลายคนในหลายสถานที่ ทำให้กังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์ Super Spreader เหมือนกับกรณี ‘อาจุมม่า’ ของเกาหลีใต้หรือไม่

 

เหมือนตรงไหน? เคสคุณปู่ไทย VS อาจุมม่าในเกาหลี 

สำหรับกรณีผู้ป่วย 3 รายล่าสุดของไทย จากข้อมูลพบว่าการวินิจฉัยผู้ป่วยรายแรกทำได้ล่าช้า เนื่องจากผู้ป่วยปฏิเสธประวัติการเดินทางไปต่างประเทศ 

 

โดยจากแถลงการณ์ของโรงพยาบาลเอกชน [1] วันที่ 23 กุมภาพันธ์ (วันแรก) คุณปู่มาโรงพยาบาลด้วยอาการไข้ ไอ แพทย์จึงวินิจฉัยว่าเป็นปอดอักเสบ และให้รักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ผู้ป่วยได้ปฏิเสธประวัติการเดินทางไปต่างประเทศ จนกระทั่งในช่วงสายของวันถัดมา (วันที่สอง) ถึงให้ประวัติว่าเดินทางกลับมาจากประเทศญี่ปุ่น โรงพยาบาลจึงแยกผู้ป่วยและส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในอีก 8 ชั่วโมงต่อมา

 

ส่งผลให้กว่าการสอบสวนโรคจะเริ่มต้นขึ้นก็ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ (วันที่สาม) และมีผู้สัมผัสที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ด้วย เพราะตอนแรกแพทย์และพยาบาลไม่ได้สวมอุปกรณ์ป้องกันที่เพียงพอ

 

ในขณะที่กรณีของอาจุมม่าในเกาหลีใต้ (อายุ 61 ปี) ก็ได้รับการวินิจฉัยล่าช้าเช่นกัน [2] โดยเธอประสบอุบัติเหตุรถยนต์ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ และได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาลท้องถิ่นแห่งหนึ่ง ต่อมาอีก 3 วันก็เริ่มมีไข้ แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นปอดอักเสบ และให้การรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อ จนกระทั่งได้รับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ โดยตอนแรกคุณป้าจะไม่ยอมตรวจ และปฏิเสธว่าไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศแต่อย่างใด 

 

ยิ่งไปกว่านั้นในระหว่าง 10 วันนี้เธอยังไปเข้าร่วมพิธีทางศาสนาที่โบสถ์อยู่ [3] ทำให้มีผู้สัมผัสทั้งในโรงพยาบาลและในชุมชนเช่นกัน

 

อีกหนึ่งเรื่องที่ทั้ง 2 เคสนี้มีความเหมือนกันคือ การไม่แยกตัวขณะมีอาการป่วย เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นเป็นพื้นที่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กรมควบคุมโรคได้ยกระดับการเฝ้าระวังเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ดังนั้นผู้ที่เดินทางกลับมาควรแยกตัวออกจากผู้อื่น (Self-quarantine) เป็นเวลา 14 วัน (ที่บ้านจะต้องอยู่ห่างจากคนอื่นในครอบครัวอย่างน้อย 1 ช่วงแขน แยกห้องนอนและห้องน้ำ และล้างมือบ่อยครั้งที่สุด) และถ้าหากมีอาการป่วยจะต้องรีบไปพบแพทย์ แต่ผู้ป่วยไม่ได้มาพบแพทย์ตั้งแต่แรก จนกระทั่งตรวจพบเชื้อไวรัสจากหลานที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน เหมือนกับอาจุมม่าที่ยังเข้าไปในที่ชุมชน ทั้งที่มีอาการป่วย

 

 

ต่างอย่างไร? รู้จักความเสี่ยงสูง-ต่ำ

ความเสี่ยงของผู้สัมผัสแต่ละคนไม่เท่ากัน ซึ่งในการสอบสวนโรคจะแบ่งผู้สัมผัส (ผู้ที่อาศัยหรือทำกิจกรรมร่วมกับผู้ป่วย) ออกเป็น 2 ประเภท คือ ‘ผู้สัมผัสความเสี่ยงสูง’ และ ‘ผู้สัมผัสความเสี่ยงต่ำ’ ขึ้นกับลักษณะของกิจกรรม ระยะห่างจากตัวผู้ป่วย ระยะเวลาในการสัมผัส และการป้องกันตนเอง 

 

โดยผู้ที่มีความเสี่ยงสูงจะเป็นผู้ที่สัมผัสใกล้ชิด เช่น อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน หรือพูดคุยกับผู้ป่วยในระยะ 1 เมตร นาน 5 นาที หรืออยู่ในห้องปรับอากาศในระยะ 1 เมตร นาน 15 นาที โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย นอกนั้นจะจัดเป็นผู้มีความเสี่ยงต่ำ ดังภาพที่ 1

 

ถ้าตั้งต้นที่ผู้ป่วยรายแรก ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกันจะเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทั้งหมด ได้แก่ คุณย่า หลาน และคนอื่นๆ แต่คุณย่าก็อาจติดเชื้อมาจากญี่ปุ่นพร้อมกับคุณปู่ แต่เพิ่งมีอาการก็ได้ 

 

ส่วนหลานเท่าที่ฟังจากการแถลงข่าว ท่านปลัดบอกว่า “ไม่มีอาการ” ซึ่งถึงแม้ความรู้เกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้จะยังไม่มีข้อสรุปว่าผู้ป่วยที่ไม่มีอาการจะสามารถแพร่เชื้อได้หรือไม่ แต่ช่องทางการแพร่เชื้อหลักยังติดต่อจากผู้มีอาการอยู่ ดังนั้นเพื่อนร่วมห้องเรียนเดียวกับหลานจะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อน้อยกว่า (ต้องรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการในกลุ่มผู้สัมผัสอีกครั้ง)

 

ในขณะที่อาจุมม่าของเกาหลีใต้เข้าไปร่วมพิธีทางศาสนาในโบสถ์ และมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 หลายรายที่เกี่ยวข้องกับโบสถ์แห่งนี้ น่าจะเกิดจากการเข้าไปรวมตัวกันของคนจำนวนมากภายในห้องที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก และอยู่ภายในนั้นเป็นเวลานาน รวมถึงกิจกรรมที่ทำร่วมกัน เช่น การร้องเพลง ทำให้มีการแพร่กระจายของเชื้อได้ง่ายผ่านละอองน้ำลาย [5] 

 

ทว่าอาจุมม่ารายนี้ ‘อาจ’ ไม่ใช่ผู้ป่วยรายแรกของโบสถ์ เพราะสำนักข่าวต่างประเทศไม่ได้พูดถึงประวัติการเดินทางไปประเทศจีนของเธอเลย (คุณป้าน่าจะติดมาจากคนอื่นอีกที)

 

มีโอกาสแค่ไหนที่จะมี Super Spreader ในไทย

นิยามของ Super Spreader ไม่ได้นับจำนวน ‘ผู้สัมผัส’ แต่นับจำนวน ‘ผู้ป่วย’ ที่ได้รับเชื้อต่อจากผู้ป่วยรายนั้นๆ 

 

นั่นหมายความว่าเราจะต้องรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงก่อนว่ามีกี่ราย (ในการสอบสวนโรคเราจะป้ายคอเก็บตัวอย่างจากผู้สัมผัสเสี่ยงสูงมาตรวจหาเชื้อเลย ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำจะให้เก็บตัวอย่างก็ต่อเมื่อมีอาการภายใน 14 วัน) 

 

ส่วน ‘จำนวนเท่าไร’ ไม่ได้มีการกำหนดไว้ชัดเจน อย่างกรณีโรคเมอร์ส-ไวรัสโคโรนาที่เกิดการระบาดครั้งใหญ่เมื่อปี 2558 ที่เกาหลีใต้กำหนดไว้ที่ 6 รายขึ้นไป [6]

 

ซึ่งจากการสอบสวนโรคผู้ป่วยยืนยันในประเทศไทยที่ผ่านมามีการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงประมาณ 30 คนต่อผู้ป่วย 1 ราย [7] เพราะในชีวิตประจำวันของผู้ป่วยก็ต้องพบปะกับผู้อื่นไม่ต่างจากเราทุกคน และในจำนวนนี้ได้ตรวจพบการติดเชื้อทั้งหมด 11 ราย คิดเป็น 1% เท่านั้น

 

ดังนั้นถ้าถามว่า “โอกาสของการเกิด Super Spreader ของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยมีหรือไม่” ก็ต้องตอบว่า “มี” ขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบของผู้ป่วยและมาตรการควบคุมโรค ทั้งนี้ขอให้รอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการใน 1-2 วันนี้ก่อนถึงจะยืนยันว่า “ไวรัสโคโรนาอยู่ใกล้เข้ามาทุกขณะ”

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X