×

Quarantine คืออะไร ใครบ้างต้องกักตัวเองอยู่ในบ้าน ทำความเข้าใจการป้องกันโรคโควิด-19 ที่ต้องเริ่มจากตัวเราเอง

27.02.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • ความสำคัญของการ Quarantine คือการให้ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ‘แยกตัว’ ออกจากชุมชน ทั้งเพื่อสังเกตอาการของตัวเองและป้องกันคนอื่นติดเชื้อจากผู้ที่มีความเสี่ยง เพราะการแพร่เชื้อส่วนใหญ่เกิดจากผู้ป่วยที่มีอาการ แม้จะมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • คนที่เข้าข่ายต้องผ่านการ Quarantine หลักๆ มีอยู่ 2 กลุ่มคือ 1.ผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงสูง ที่มีความใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ และ 2.ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด ได้แก่ จีน มาเก๊า ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อิตาลี และอิหร่าน
  • หากระหว่าง Quarantine แล้วพบว่าผลการตรวจไม่เจอเชื้อ (Negative) ก็ยังต้อง Quarantine ตัวเองต่อจนครบ 14 วัน เพราะยังมีโอกาสป่วยเป็นโรคโควิด-19 ได้อยู่ โดยที่อาการป่วยรอบแรกเกิดจากการติด ‘เชื้ออื่น’ ที่ได้รับมาก่อน

“มาทำงานทำไม ทำไมไม่แยกตัวอยู่ที่บ้าน” 

 

คำถามนี้กำลังเกิดขึ้นบ่อยๆ ในช่วงที่โรคโควิด-19 หรือโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ระบาดในประเทศไทย ทำให้หลายคนชี้นิ้วตำหนิเพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้าน หรือแม้แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และดาราที่เพิ่งกลับมาจากประเทศเสี่ยงอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สะท้อนให้เห็นถึงความตระหนักรู้ของสังคมที่กำลังตื่นตัวต่อโรคร้าย และเห็นความสำคัญของการ Quarantine 

 

ก่อนที่จะเกิดดราม่าด้วยความไม่เข้าใจกัน เรามาลองทำความเข้าใจกันก่อนดีกว่าว่าการ Quarantine คืออะไร แล้วใครบ้างที่จะต้องเข้าข่ายแยกตัวเองออกจากสังคม

 

Quarantine คืออะไร ทำไมถึงสำคัญ

ใครที่เกิดทันยุคโปรแกรมป้องกันไวรัสในคอมพิวเตอร์ หลังจากสแกนเจอไวรัสจะมีตัวเลือกหนึ่งว่าเราจะ ‘Quarantine’ ไฟล์นั้นหรือไม่ นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมรู้จักกับคำนี้ 

 

แต่เด็กในยุคนี้คงรู้จักคำนี้ผ่านการระบาดของโรคโควิด-19 แทน โดยภาษาไทยมีคำแปลอยู่หลายคำ เช่น กักตัว กักบริเวณ 

 

แต่คำที่ พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ใช้คือ ‘กักกัน’ (ต่างจาก ‘แยกกัก’ ซึ่งเป็นคำแปลของ Isolation) ส่วนตอนที่กรมควบคุมโรคใช้แนะนำนักศึกษาที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศคือคำว่า ‘แยกสังเกตอาการที่บ้าน/ที่พัก’

 

การ Quarantine เป็นมาตรการการควบคุมโรคยุคโบราณที่มีมาตั้งแต่ยุคคริสต์ศตวรรษที่ 14 ในช่วงที่มีการระบาดของกาฬโรคในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดจะถูกกักตัวไม่ให้เข้าเมืองเป็นเวลา 30 วัน (Trentino) ซึ่งต่อมาเพิ่มเป็น 40 วัน (Quarantino) นานกว่าในปัจจุบันที่เรารู้ระยะฟักตัวของกาฬโรคแล้วว่าอยู่ระหว่าง 2-6 วัน 

 

ใช่แล้วครับ! เวลาเราจะกักกันใครเป็นเวลานานเท่าไร ต้องรู้จักระยะฟักตัวของโรคนั้นๆ ก่อน อย่างโรคโควิด-19 มีระยะฟักตัวเฉลี่ย 5 วัน (2-14 วัน) แต่มีรายงานว่า ‘บางเคส’ อาจนานถึง 19 หรือ 27 วัน (แต่นั่นก็เป็นส่วนน้อยมาก)

 

ความสำคัญของการ Quarantine คือการให้ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ‘แยกตัว’ ออกจากชุมชน ทั้งเพื่อสังเกตอาการของตัวเองและป้องกันคนอื่นติดเชื้อจากผู้ที่มีความเสี่ยง เพราะการแพร่เชื้อส่วนใหญ่เกิดจากผู้ป่วยที่มีอาการ แม้จะมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ (ซึ่งแยกยากจากสาเหตุในชีวิตประจำวันอย่างการยกของ และผู้อื่นก็สังเกตไม่ได้ด้วย) 

 

ยิ่งไปกว่านั้น เริ่มมีแพทย์รายงานว่าโรคโควิด-19 สามารถแพร่เชื้อได้ในขณะที่ไม่แสดงอาการ (Asymptomatic Transmission) ด้วย ก็ยิ่งทำให้การ Quarantine มีความสำคัญในการควบคุมโรค

 

ใครบ้างที่เข้าข่ายต้อง Quarantine

“ผู้ที่มีโอกาสได้รับเชื้อมาแล้ว” คือคำตอบสั้นๆ เลยครับ 

 

แต่ถ้าพูดให้เห็นภาพมากขึ้นจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักคือ 

 

1.ผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงสูง หมายความว่าเมื่อเราเจอ ‘ผู้ป่วยยืนยัน’ 1 คน เจ้าหน้าที่ก็จะไปค้นหาผู้สัมผัสกับผู้ป่วยแล้วประเมินว่าใครมีความเสี่ยงสูงหรือต่ำ ยิ่งใกล้ชิดมากก็ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อมาก เช่น อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน เดินทางในพาหนะเดียวกัน เรียนหรือทำงานในห้องเดียวกัน คนในกลุ่มนี้จะได้รับคำสั่ง (เพราะโรคนี้ได้รับการประกาศเป็น ‘โรคติดต่ออันตราย’ แล้ว) ให้ Quarantine ตัวเองเป็นเวลา 14 วัน

 

อีกกลุ่มหนึ่งคือ 2.ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด ซึ่งตอนนี้ ได้แก่ จีน มาเก๊า ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อิตาลี และอิหร่าน (สามารถเข้าไปอัปเดตข้อมูลได้จากเว็บไซต์ของกรมควบคุมโรค) เพราะพื้นที่เหล่านี้มีการระบาดในชุมชนแล้ว ผู้ที่เดินทางไปเที่ยวหรือทำงานอาจได้รับเชื้อมาจากต่างประเทศ หากไม่ Quarantine ตัวเองจนครบระยะฟักตัวก็อาจแพร่ให้กับผู้อื่น ซึ่งจะเห็นว่าการ Quarantine เป็นเรื่องยุ่งยากมาก ไม่เฉพาะแค่หยุดงาน แต่ต้องแยกตัวจากคนที่อาศัยอยู่ภายในบ้านด้วย (ตัวอย่างกรณีหลาน 8 ขวบติดเชื้อจากคุณปู่) ดังนั้นถ้าไม่จำเป็นจึงควรหลีกเลี่ยงการเดินทางในช่วงนี้

 

Quarantine ที่บ้านต้องทำอย่างไร

การถูก Quarantine ในยุคก่อนคงหงอยเหงาไม่น้อย แต่สมัยนี้มีทั้ง Facebook, Twitter และ Netflix (อ๋อ ผมลืม GrabFood) ทำให้เรายังติดต่อกับโลกภายนอกได้แม้จะนั่งอยู่บนโซฟาที่บ้าน ดังนั้นสิ่งที่ผมจะเตรียมก่อนเลยคือสมาร์ทโฟนครับ ต่อมาจึงจะเป็นขั้นตอนเหล่านี้ 

 

1.หยุดเรียนหรือหยุดงาน เพื่อแยกตัวอยู่ที่บ้านจนกว่าจะครบ 14 วัน หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง และหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนแออัด

 

2.แยกห้องนอนและห้องน้ำ ไม่รับประทานอาหารร่วมกับคนอื่นภายในบ้าน ไม่ใช้ของส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ ร่วมกับผู้อื่น เมื่ออยู่กับผู้อื่นภายในบ้านต้องสวมหน้ากากอนามัย และอยู่ห่างจากคนอื่น 1-2 เมตร

 

3.หากมีอาการไอจามให้ปิดปากและจมูก โดยใช้แขนเสื้อหรือกระดาษทิชชู (ทิ้งลงถุงพลาสติกและปิดปากถุงให้สนิท) หากใช้มือต้องล้างมือทันที ส่วนทุกคนในบ้านก็ควรล้างมือให้บ่อย โดยเตรียมสบู่ไว้ที่อ่างล้างมือ

 

4.ทำความสะอาดเสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูเตียงด้วยผงซักฟอก ในขณะที่การทำความสะอาดพื้นผิวควรใช้น้ำยาทำความสะอาดหรือแอลกอฮอล์ 70%

 

5.สังเกตอาการของตัวเอง โดยอาจใช้เทอร์โมมิเตอร์วัดไข้ทุกวัน หากมีอุณหภูมิร่างกายมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการทางเดินหายใจ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

 

ทั้งนี้หากผลการตรวจไม่เจอเชื้อ (Negative) ก็ยังต้อง Quarantine ตัวเองต่อจนครบ 14 วัน เพราะยังมีโอกาสป่วยเป็นโรคโควิด-19 ได้อยู่ โดยที่อาการป่วยรอบแรกเกิดจากการติด ‘เชื้ออื่น’ ที่ได้รับมาก่อน

 

Quarantine จะง่ายกว่านี้ถ้ามีนโยบายรองรับ

“การสั่งให้งดเข้าชั้นเรียนหรือหยุดงานมาปฏิบัติงานตามวรรคสอง จะไม่นับเป็นวันลาเฉพาะแต่กรณีที่ได้รับอนุมัติให้เดินทางไปเพื่อปฏิบัติงานให้แก่มหาวิทยาลัยเท่านั้น ส่วนกรณีอื่นให้นักเรียน นิสิต หรือบุคลากรลาป่วยหรือลาพักผ่อน แล้วแต่กรณี” 

 

ขอยกตัวอย่างนโยบายของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นนโยบายที่ตรงไปตรงมา แต่ถ้าเปรียบเทียบกับนโยบายของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในวันเดียวกันจะเห็นว่ามีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติมากกว่า กล่าวคือ

 

“นักศึกษาและบุคลากรที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศทุกประเทศ ให้หยุดพักเฝ้าดูอาการ ณ ที่พำนักของตนเองเป็นเวลา 14 วัน นับจากวันที่เดินทางกลับมาถึงประเทศไทย โดยไม่ถือเป็นการขาดเรียน หรือไม่ถือเป็นการขาดปฏิบัติงาน และไม่นับเป็นวันลา” 

 

ฉะนั้นจึงขึ้นกับผู้บริหารแต่ละองค์กรว่าจะเห็นความสำคัญกับเรื่องนี้และผลกระทบต่อสาธารณสุขมากน้อยเพียงใด ยิ่งถ้าเป็นพนักงานบริษัทหรือภาคเอกชนน่าจะประสบปัญหาในการลางาน หากต้องใช้วันลาของตัวเอง หรือวันพักร้อนหมดแล้วก็อาจไม่ได้รับความร่วมมือ

          

อีกทั้งถ้าหากเป็น ‘ผู้สัมผัสความเสี่ยงสูง’ ซึ่งไม่ได้เป็นผลมาจากการเดินทางไปต่างประเทศ แต่เป็นเพราะเขาสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันภายในประเทศ (ไม่ใช่ความผิดของเขา) กลับทำให้เขาต้องขาดงานจากคำสั่งให้กักกันตนเองอยู่ที่บ้าน ดังนั้น ‘รัฐบาล’ จึงควรมีนโยบายที่สนับสนุนการ Quarantine ของประชาชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันและควบคุมโรค รวมถึงการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากการเรียกร้องความรับผิดชอบจากรายบุคคลและการลงโทษตามกฎหมาย

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X