ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องติดกันมา 2 ปี หลังจากที่ปรับลดลงอย่างหนักในปี 2020 ก่อนที่ตลาดจะปรับลดลงอีกครั้งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมากว่า 10% จากความกังวลของนักลงทุนต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ที่จะลดลง และเหตุความขัดแย้งในยูเครน
Market Correction คืออะไร?
ตลาดปรับฐาน หมายถึง การที่ตลาดหุ้นปรับลดลงกว่า 10% แต่มักจะไม่ถึง 20% ซึ่งโดยปกติจะใช้ดัชนี S&P 500 เป็นตัววัด การปรับฐานของตลาดอาจเกิดขึ้นเป็นเวลานานเท่าใดก็ได้ อาจเป็นเดือนหรือมากกว่านั้น และจากข้อมูลในอดีตตั้งแต่ปี 2000 พบว่าตลาดเกิดการปรับฐานทั้งหมด 11 ครั้ง และเฉลี่ยเกิดขึ้นนาน 3-4 เดือน ซึ่งการปรับฐานของตลาดแต่ละครั้งอาจทำให้นักลงทุนระยะสั้นขาดทุนได้ แต่ก็เป็นโอกาสดีสำหรับนักลงทุนระยะยาวที่จะเข้าซื้อหลักทรัพย์ในราคาที่ถูกเพื่อให้ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาว
Bear Market คืออะไร?
การที่ตลาดปรับลงแรงมากกว่า 20% จะถือว่าตลาดเข้าสู่ภาวะ Bear Market ซึ่งมักจะใช้เวลายาวนานกว่าช่วงตลาดปรับฐานปกติ และจะนับว่าตลาดผ่านช่วง Bear Market ก็ต่อเมื่อราคาหุ้นปรับขึ้นสูงกว่าระดับเดิมอีกครั้ง ขณะเดียวกันตลาดที่อยู่ในภาวะ Bull Market ก็คือการที่ตลาดหุ้นปรับขึ้นไปทำจุดสูงสูดระดับใหม่อีกครั้งนับตั้งแต่ปรับตัวลงไปสู่จุดต่ำสุด
ภาวะ Bear Market ในปี 2020 ถือว่าเป็นช่วงที่เกิดขึ้นสั้นที่สุด โดยปรับตัวลงเพียง 9 เดือนครึ่งเท่านั้น
อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ตลาดปรับลง
ส่วนใหญ่การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นเกิดจากความเชื่อมั่นของนักลงทุน หากมีแรงขายมากกว่าแรงซื้อจะส่งผลให้ราคาหุ้นปรับลง ซึ่งการที่ตลาดเกิดภาวะ Bear Market มักเกิดจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแอ หรือการที่นักลงทุนรู้สึกว่าที่ผ่านมาราคาหุ้นนั้นปรับขึ้นมามากเกินกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็นแล้ว สัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจหรือเหตุการณ์ใดๆ ที่ทำให้นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจต่อผลตอบแทนในอนาคต ก็จะทำให้นักลงทุนขายหุ้นที่ลงทุนอยู่ออกมา ซึ่งก็จะทำให้ตลาดปรับลดลง
Bear Market มักเกิดในภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) หรือในช่วงที่เศรษฐกิจหรือ GDP ขยายตัวติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาส ซึ่งในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอยนั้นตลาดหุ้นอาจมีการปรับขึ้นได้บ้างในช่วงสั้นๆ
การที่ตลาดปรับฐานจะนำไปสู่ภาวะ Bear Market ได้หรือไม่?
การปรับฐานของตลาดหุ้นไม่ได้เป็นการทำให้เกิด Bear Market หากย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1975 พบว่ามีเพียง 5 ครั้งใน 24 ครั้งที่เกิด Bear Market หลังจากที่เกิดการปรับฐานของตลาด และเป็นการยากที่จะรู้ว่าการปรับฐานของตลาดหุ้นจะเกิดขึ้นยาวนานเท่าไร และไม่อาจบอกได้ด้วยว่าการปรับฐานแต่ละครั้งจะเกิด Bear Market ตามมาด้วยหรือไม่
เมื่อไรที่ควรระมัดระวัง และระบบ Circuit Breakers เป็นอย่างไร?
การปรับลงของตลาดอาจใช้เวลาหลายวันหรือเป็นสัปดาห์ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงปรับฐานหรือเข้าสู่ภาวะ Bear Market ที่แท้จริง การลดลงของราคาหุ้นแบบฉับพลันมักเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วระหว่างวัน และการปรับลงของราคาหุ้นทั้งตลาดก็อาจนำไปสู่การหยุดซื้อขายโดยอัตโนมัติได้ทันที (Circuit Breakers) อย่างเช่นที่เกิด Circuit Breakers ในเดือนมีนาคม 2020 หลังจากนักลงทุนมีความกังวลต่อ โคโรนาไวรัสที่แพร่กระจายอยู่ในสหรัฐฯ
ระบบ Circuit Breakers หรือการที่ตลาดหุ้นหยุดการซื้อขายชั่วคราวในช่วงที่ตลาดปรับลงอย่างรวดเร็วฉับพลันนั้น มีไว้เพื่อให้นักลงทุนหยุดตื่นตกใจและตั้งสติให้ดีก่อนที่จะกลับมาซื้อขายหุ้นอีกครั้ง
สำหรับการทำงานของระบบ Circuit Breakers ในสหรัฐฯ นั้นแบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือ
- ขั้นที่ 1 ตลาดจะหยุดการซื้อขายนาน 15 นาที หากตลาดหุ้นในวันนั้นปรับลดลงถึง 7%
- ขั้นที่ 2 ตลาดจะหยุดการซื้อขายอีก 15 นาที หากตลาดหุ้นในวันนั้นปรับลดลงถึง 13%
- ขั้นที่ 3 ตลาดจะหยุดการซื้อขายทั้งวัน หากตลาดหุ้นในวันนั้นปรับลดลงถึง 20%
โดยการทำงานของระบบในขั้นที่ 1-2 นั้นจะใช้ในช่วงที่ตลาดยังเปิดทำการซื้อขายตั้งแต่เปิดตลาดจนถึงก่อนเวลา 15.25 น. และจะปล่อยให้ตลาดยังซื้อขายได้ต่อเนื่องหลังจากหยุดพักชั่วคราวไป
แต่หากเป็นขั้นที่ 3 ไม่ว่าจะเกิดช่วงใดของวัน ตลาดหุ้นก็จะหยุดทำการซื้อขายทันทีในช่วงเวลาที่เหลือของวัน
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP