×

กูรูกางตำราแจงสาเหตุเงินเฟ้อยังพุ่ง ผลจากวิกฤตไวรัสระบาดป่วนการผลิต ขวางเศรษฐกิจฟื้นตัว

10.01.2022
  • LOADING...
เงินเฟ้อ

สถานีโทรทัศน์ CNN ประมวลสถานการณ์วิกฤตภาวะเงินเฟ้อสูงในปัจจุบัน พร้อมแจกแจงรายละเอียดที่มาที่ไป รวมถึงคาดการณ์ทิศทางแนวโน้มเงินเฟ้อในปี 2022 ที่ยังคงต้องอยู่กับอัตราเงินเฟ้อสูงต่อไป พร้อมฝากความหวังไว้ที่มาตรการสกัดเงินเฟ้อของบรรดาธนาคารกลาง โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed

 

ทั้งนี้ อธิบายให้เข้าใจได้ง่ายที่สุด เงินเฟ้อจะเกิดขึ้นเมื่อราคาสินค้าและบริการที่มีอยู่ในท้องตลาดทั้งหมดปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งบ่อยครั้งการที่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นมีสาเหตุมาจากความต้องการสินค้าและบริการหนึ่งๆ เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทว่าปริมาณสินค้าและบริการนั้นมีอยู่อย่างจำกัด 

 

ในสถานการณ์เศรษฐกิจปกติ ทางแก้ไขเงินเฟ้อที่เร็วที่สุดและง่ายที่สุดก็คือการเพิ่มรายรับให้แก่ผู้บริโภค สำหรับในสหรัฐฯ ก็คือการเพิ่มค่าแรงและเงินเดือน ขณะเดียวกันก็อาจออกนโยบายควบคุมราคาสินค้าพื้นฐาน ดังนั้นต่อให้มีของแพง ก็ยังอยู่ในระดับที่คนส่วนใหญ่ยังคงเอื้อมถึงและแบกรับได้ เท่ากับว่าภาวะเงินเฟ้อไม่ใช่เรื่องที่เลวร้าย เพราะเพื่อให้เศรษฐกิจเดินไปข้างหน้าและมีการขยับขยายตัวโตต่อเนื่อง ประเทศนั้นๆ ควรมีภาวะเงินเฟ้อในระดับอ่อนๆ 

 

กลับมาที่สถานการณ์เงินเฟ้อสูงในปัจจุบัน แทนที่จะกลายเป็นข่าวดีกลับเป็นข่าวร้ายในสายตาของบรรดานักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลาย โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่อัตราเงินเฟ้อขยับปรับขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อดังกล่าวเกิดจากการที่เศรษฐกิจ ‘ร้อนแรง’ (Overheating) จนเกินไป หลังอัดฉีดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง และแทนที่เศรษฐกิจจะขยายตัวเติบโต กลับกลายเป็นการซ้ำเติมให้เกิดวิกฤตหนักกว่าเดิม โดยดัชนีราคาผู้บริโภคในสหรัฐฯ ประจำเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 6.8 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ดัชนีราคาการใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภค (Personal Consumption Expenditures Price Index) เพิ่มขึ้น 5.7 เปอร์เซ็นต์ 

 

ทั้งนี้ เมื่อราคาสินค้าแพงขึ้นเป็นระยะเวลาต่อเนื่องกันพอสมควร ทำให้ผู้บริโภคในตลาดเริ่มคาดหวังว่าราคาสินค้ามีสิทธิ์ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอีกในอนาคต ดังนั้นผู้บริโภคย่อมจะซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องไปซื้อสินค้าในราคาที่แพงขึ้นในวันถัดไป ทำให้ราคาสินค้ายิ่งแพงขึ้นมากกว่าเดิม กลายเป็นงานยากของ Fed ที่มีภาระหน้าที่ในการควบคุมปริมาณการเงิน จัดการสภาพคล่อง และกำกับภาวะเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

 

ถามว่าภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบันเกิดจากอะไร นักเศรษฐศาสตร์ตอบตรงกันว่า เป็นผลจากวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด โดยโควิดที่เกิดขึ้นไม่ต่างอะไรกับการที่มีใครเอานิ้วไปแหย่ปลั๊กไฟของระบบเศรษฐกิจโลกที่ทำให้ทุกอย่างช็อตและหยุดชะงัก ไม่ว่าจะเป็นโรงงานที่หยุดการผลิต ผู้คนต้องงดรับประทานอาหารนอกบ้าน และสายการบินระงับการเดินทางชั่วคราว ขณะที่การชัตดาวน์ที่เกิดขึ้นก็ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปลดคนงานเพื่อความอยู่รอด ส่งผลให้อัตราการว่างงานพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ อย่างในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 15 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่ราว 3.5 เปอร์เซ็นต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 

 

เรียกได้ว่าโควิดทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจหดตัวอย่างรวดเร็วที่สุดและรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก โดยเมื่อโรงงานผลิตสินค้าไม่ได้หรือผลิตได้ไม่ทัน บวกกับซัพพลายบางตัวที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่ปริมาณความต้องการยังคงเดิมหรือมากกว่าเดิม ราคาสินค้าจึงปรับตัวแพงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น กรณีของการผลิตชิปที่ไม่เพียงเป็นปัญหาต่อการผลิตรถยนต์เท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการผลิตสมาร์ทโฟน เครื่องใช้ฟ้า โทรทัศน์ และแล็ปท็อป 

 

ในส่วนของแนวทางรับมือหรือแก้ไข ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายเห็นตรงกันว่าขึ้นอยู่กับสถานการณ์เป็นหลัก โดยคาดการณ์ว่าแนวโน้มราคาสินค้าและค่าแรงในปี 2022 จะยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น แต่จะปรับเพิ่มขึ้นเท่าไรและกินเวลานานเท่าใด ขึ้นอยู่กับแนวทางที่รัฐบาลและธนาคารกลางของแต่ละประเทศงัดออกมาใช้ ประเดิมด้วยการหาทางให้ระบบห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) เคลื่อนที่ได้อย่างไหลลื่นไม่ติดขัดเหมือนเช่นก่อนเกิดวิกฤตโควิด ซึ่งไม่ใช่งานที่ง่ายเลย เพราะมีปัจจัยอื่นนอกเหนือจากโควิดเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งปัญหาเส้นทางและจำนวนเรือขนส่งที่ค่อนข้างแออัด หรือปัญหาภัยธรรมชาติที่พร้อมเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ 

 

หลายฝ่ายฝากความหวังไว้ที่มาตรการของธนาคารกลาง อย่างในกรณีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็คือการปรับลดวงเงินการซื้อคืนพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) กระทั่งยุติโครงการดังกล่าวได้อย่างเบ็ดเสร็จภายในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2022 พร้อมเดินหน้าทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งภายในปีนี้ ซึ่งการทำให้เงินมีต้นทุนกู้ยืมที่แพงขึ้น จะช่วยชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ และดึงให้เศรษฐกิจกลับมาโตในระดับที่พอเหมาะต่อไป  

 

อ้างอิง:

 


ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

Twitter: twitter.com/standard_wealth

Instagram: instagram.com/thestandardwealth

Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X