×

แรง g คืออะไร เกี่ยวกับกรณี Singapore Airlines ตกหลุมอากาศอย่างไร

โดย Mr.Vop
30.05.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • สำหรับแรง g อักษร g ต้องเป็นตัวเล็กและเป็นตัวอักษรแบบเอียง ตัวอักษร g ที่ไม่เอียงหมายถึงหน่วย ‘กรัม’ ส่วนตัว G อักษรใหญ่ หมายถึงค่าคงที่ค่าหนึ่ง นั่นคือค่าคงตัวความโน้มถ่วง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ต้องการสื่อความหมาย

สำนักงานสืบสวนความปลอดภัยด้านการขนส่งแห่งสิงคโปร์ (TSIB) เปิดเผยข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากเที่ยวบินของสายการบิน Singapore Airlines ซึ่งประสบเหตุตกหลุมอากาศอย่างรุนแรงเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา พบข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่าง

 

ข้อมูลจากเครื่องบันทึกข้อมูลการบิน (FDR) และเครื่องบันทึกเสียงในห้องนักบิน (CVR) ของเครื่องบิน Boeing 777-312ER เที่ยวบินที่ SQ321 พบว่า เที่ยวบินดังกล่าวออกเดินทางจากสนามบินฮีทโธรว์ กรุงลอนดอน ด้วยความปกติเรียบร้อยตลอดเส้นทาง จนกระทั่งเวลา 14.49.21 น. ตามเวลาไทย ขณะที่บินอยู่ที่ความสูง 37,000 ฟุตเหนือเขตเมียนมาในภาคอิรวดี ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมียนมา มีความผิดปกติเกิดขึ้น

 

ในเวลาดังกล่าวเริ่มปรากฏลักษณะการพาความร้อนของสภาพอากาศโดยรอบเครื่องบิน ในลักษณะที่ก่อให้เกิดการยกตัวของอากาศ เครื่อง FDR สามารถบันทึกความเปลี่ยนแปลงของค่า g ระหว่างค่าบวก (+ve) 0.44G และ +ve 1.57G ส่งผลให้เที่ยวบิน SQ321 เริ่มมีอาการสั่นสะเทือนเล็กน้อย จากนั้นเครื่องบินก็ถูกดันให้เปลี่ยนความสูงขึ้นไปที่ 37,362 ฟุต เมื่อระบบบินอัตโนมัติพบความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ก็ได้ส่งคำสั่งลดระดับความสูงไปที่ระดับปกติคือ 37,000 ฟุต ในจังหวะนี้นักบินรายงานว่า ความเร็วของเครื่องบินอยู่ดีๆ ก็เพิ่มขึ้นเอง นักบินจึงพยายามที่จะเปิดเบรกลดความเร็ว ซึ่งตรงกับเวลา 14.49.32 น. มีเสียงพูดในห้องนักบินว่า ได้มีการสั่งเปิดไฟเตือนรัดเข็มขัดในห้องโดยสารแล้ว

 

ต่อมาเมื่อเวลา 14.49.40 น. เครื่องบินก็พบการเปลี่ยนแปลงค่า g อย่างกะทันหัน ตามข้อมูลจากเครื่องบันทึก เครื่องบินมีการเปลี่ยนแปลงความเร่งตามแนวตั้งจาก +ve 1.35G เป็นติดลบ (-ve) 1.5G ภายใน 0.6 วินาที ส่งผลให้ผู้โดยสารที่ไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัยตัวลอยขึ้นไปในอากาศ

 

วินาทีถัดมา เวลา 14.49.41 น. ความเร่งตามแนวตั้งเปลี่ยนจาก -ve 1.5G เป็น +ve 1.5G ภายใน 4 วินาที ส่งผลให้ผู้โดยสารที่กำลังลอยอยู่ในอากาศตกกลับลงมากระแทกพื้นหรือเก้าอี้โดยสาร

 

เมื่อมองจากด้านนอก ช่วงเวลาโดยรวม 4.6 วินาทีที่เกิดเหตุดังกล่าว ไฟลต์ SQ321 ได้ลดระดับความสูงลงถึง 54 เมตร หรือ 178 ฟุต คือจากความสูง 37,362 ฟุต ลดลงเหลือ 37,184 ฟุต 

 

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว นักบินได้ปิดระบบบินอัตโนมัติชั่วคราวเพื่อเข้าควบคุมเครื่องบินด้วยตนเองเป็นเวลา 21 วินาที จากนั้นระบบบินอัตโนมัติได้กลับมาทำงานอีกครั้งเมื่อเวลา 14.50.05 น.

 

หลังจากเวลาดังกล่าว​ เครื่องบินยังพบการเปลี่ยนแปลงความเร่งตามแนวตั้งอีกเล็กน้อยต่อเนื่องไปอีก 24 วินาที สามารถวัดค่าได้จาก +ve 0.9G ถึง +ve 1.1G 

 

ในที่สุดความปั่นป่วนของสภาพอากาศรอบเครื่องบินก็สิ้นสุดลง เครื่องบินกลับมาบินที่ความสูง 37,000 ฟุตซึ่งเป็นความสูงปกติในเวลา 14.50.23 น. และเมื่อได้รับรายงานว่ามีผู้โดยสารหลายรายได้รับบาดเจ็บ นักบินก็ตัดสินใจติดต่อหอบังคับการบิน เพื่อนำเครื่องลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินสุวรรณภูมิต่อไป และจนถึงเวลานี้การสอบสวนของ TSIB ยังไม่สิ้นสุด

 

แรง g คืออะไร

 

แรง g คือ ‘ความเร่ง’ ของวัตถุที่แสดงออกมาในจำนวนเท่าของความเร่งจากแรงโน้มถ่วงโลก 

 

ความเร่งคือสิ่งที่มักมาคู่กับ ‘ความเฉื่อย’ และสิ่งที่ส่งผลกับเราก็มาจาก 2 สิ่งนี้ 

 

ในชีวิตประจำวันเราจะมีอาการ ‘หลังติดเบาะ’ เมื่อเร่งเครื่องรถไปข้างหน้า แม้แต่เวลายืนบนขบวนรถไฟฟ้าหรือบนรถเมล์ เราก็จะรู้สึกว่ามีแรงบางอย่างผลักเราให้เซไปข้างหลังเมื่อตัวรถเร่งเครื่องออกจากสถานีหรือออกจากป้าย และเมื่อมีการหักเลี้ยวรถแรงๆ ตัวเราจะถูกแรงนี้ดันให้เอียงไปเบียดกับด้านข้างหรือเบียดกับประตูรถ หรือเมื่อรถเบรกกะทันหัน ตัวเราก็จะพุ่งไปข้างหน้า ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจาก ‘ความเร่ง’ ของรถ และ ‘ความเฉื่อย’ ของเรานั่นเอง

 

สิ่งที่เกิดกับเครื่องบินขณะตกหลุมอากาศก็คือ เครื่องบินเกิดความเร่งขึ้นลงตามแนวตั้ง ทำให้สิ่งของในเครื่องบินที่ไม่ได้ยึดแน่น หรือร่างกายของผู้โดยสารที่ไม่ได้คาดเข็มขัด เกิดลอยขึ้นลงจากความเฉื่อย 

 

ในวงการบินจะคุ้นชินกับความเร่งในรูปแบบของแรง g มากกว่าพูดกันด้วยคำว่าความเร่งเฉยๆ ทั้งนี้ ก็เพื่อความสะดวกและเข้าใจง่ายว่าเป็น ‘กี่เท่า’ ของความเร่งจากแรงโน้มถ่วง โดยจะปรากฏทั้งในรูปแบบเป็นบวกและลบ 

 

ค่าของแรง g ที่เป็นบวกหมายถึงเครื่องบินกำลังพุ่งขึ้นจากผิวโลก ส่วนค่าที่เป็นลบหมายถึงเครื่องบินกำลังตกลงมา

 

ลึกเข้าไปในตัวเรา แรง g ก็แสดงออกมากับอวัยวะต่างๆ รวมทั้งการไหลเวียนของเลือดด้วย ในวงการบินทางการทหารก็จะฝึกให้นักบินทนทานต่อแรง g มากกว่าบุคคลทั่วไปหลายเท่า ซึ่งเราอาจพบเรื่องนี้ในภาพยนตร์ดังอย่าง Top Gun Maverick ที่กล่าวถึงแรง g อยู่บ่อยครั้งในเรื่อง เพราะนักบินที่พบกับแรง g ที่มีค่าสูงเกินไปในบางจังหวะ ก็จะส่งผลให้เลือดในร่างกายไหลไปกองที่ส่วนล่างของร่างกาย ไม่ไปเลี้ยงสมองจากความเฉื่อย จนทำให้นักบินมีอาการผิดปกติ อาจเริ่มจาก Greyout คือเริ่มมองภาพเป็นขาวดำ อาการหนักกว่านั้นคือ Blackout นั่นคือดวงตาดำมืด มองภาพไม่เห็นเหมือนตาบอด แต่ยังมีสติ และสุดท้ายเมื่อแรง g สูงขึ้นอีก ก็จะเกิดอาการ Loss of Consciousness (g-LOC) คือหมดสติโดยสิ้นเชิง ชุดนักบินรบยุคหลังๆ จะมีตัวบีบท่อนล่างของร่างกายในจังหวะที่แรง g เพิ่มขึ้น เพื่อให้เลือดไม่ไหลลงด้านล่าง ส่งผลให้สมองยังคงได้รับเลือดเพียงพอ 

 

ภาพ: Stringer / Anadolu via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising