×

ใครคลอด ESG

18.10.2023
  • LOADING...
ESG

ถ้าพูดคำว่า ‘ESG’ ขึ้นมาในเวลานี้ คงมีคนร้องอ๋อกันมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก โดยเฉพาะคนที่คร่ำหวอดอยู่ในโลกการลงทุน ซึ่งมีการให้ความสำคัญกับประเด็นนี้กันอย่างหนักหน่วง แต่ต้องยอมรับว่าบางท่านอาจยังไม่คุ้นเคยกับคำนี้ว่าคืออะไร มาจากไหน ใครเป็นคนคลอด ESG ออกมา วันนี้ SCB CIO จึงขอมาคลายข้อสงสัยเรื่องนี้ให้

 

สำหรับ ESG เป็นการมัดรวมประเด็นสำคัญ 3 ด้านไว้ด้วยกัน ได้แก่ Environment (E) สิ่งแวดล้อม, Social (S) สังคม และ Governance (G) ธรรมาภิบาล ซึ่งอันที่จริงการให้ความสำคัญเรื่อง ESG มีมานานแล้ว แต่นิยาม แนวปฏิบัติ หรือการให้ความสำคัญในประเด็นแต่ละด้านมีความแตกต่างกันไปตามบริบทการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลาและนโยบายของแต่ละประเทศหรือองค์กร เหมือนหนังสือที่กระจายอยู่เต็มห้อง ยังไม่ถูกจัดระเบียบบนชั้นวาง เรียงเป็นหมวดหมู่ให้ชัดเจน  

 

อย่างเช่นประเด็นสิ่งแวดล้อม ใครที่เกิดทันยุค 90 น่าจะเคยได้ยินเพลง โลกสวยด้วยมือเรา กันมาบ้าง (ให้โลกเราสวย พวกเรามาช่วยกัน…) เนื้อหาเพลงนี้เป็นหนึ่งสิ่งที่สะท้อนได้ดีว่าจริงๆ แล้วความพยายามบอกให้ทุกคนช่วยกันสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมีมานานแล้ว

 

ส่วนประเด็นด้านสังคม ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมแต่ละรอบก็จะมีการให้ความสำคัญเรื่องการปรับปรุงสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงาน ปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานให้ดีขึ้นเป็นระยะ ขณะที่ระยะหลังๆ ก็มีความเคลื่อนไหวเรื่องการปรับปรุงกฎหมายเพื่อส่งเสริมเรื่องความหลากหลายทางสังคมเพิ่มเติม ขณะที่ประเด็นธรรมาภิบาลได้รับความสำคัญอย่างเห็นได้ชัดในช่วงปี 2000 โดยมีการออกแนวทางปฏิบัติมากำกับดูแลบริษัทต่างๆ ให้มีธรรมาภิบาลที่ดี  

 

จะเห็นได้ว่าจริงๆ แล้วบนโลกเรามีคนให้ความสำคัญครอบคลุมทุกประเด็นเรื่อง ESG มานาน แต่อาจจะยังไม่ได้มาในรูปแบบการพูดถึง ESG แบบองค์รวม จนกระทั่งปี 2004 องค์การสหประชาชาติ (UN) ร่วมมือกับสถาบันการเงินรายใหญ่ของโลก เผยแพร่รายงานเรื่อง Who Cares Wins ซึ่งเป็นครั้งแรกที่คำว่า ESG ได้ถือกำเนิดขึ้นหรือคลอดอย่างเป็นทางการ ใจความสำคัญในรายงานคือ แนะนำให้อุตสาหกรรมการเงินปรับใช้ประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ในงานวิเคราะห์ บริหารสินทรัพย์ และค้าหลักทรัพย์ รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางธุรกิจนำประเด็น ESG มาใช้กำกับดูแลการดำเนินงานในระยะยาว 

 

หลังจากรายงานฉบับนี้เผยแพร่ ประเด็น ESG ก็ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากนานาชาติ มีการรณรงค์ให้ธุรกิจดำเนินงานโดยคำนึงถึงประเด็น ESG เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้มีเกณฑ์วัด กฎหมาย หรือบทลงโทษออกมา ทำให้ความใส่ใจกับประเด็น ESG ถูกมองเป็นแค่เครื่องมือสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้องค์กรเท่านั้น 

 

จนกระทั่งเวลาล่วงเลยมาเกือบ 20 ปี เปรียบ ESG เหมือนเด็กที่เติบโตจนเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นตอนปลายที่บรรลุนิติภาวะแล้ว เป็นวัยที่มีตัวตนชัดเจนขึ้น ในช่วงนี้การให้ความสำคัญกับ ESG เริ่มชัดเจนจับต้องได้ในเชิงปฏิบัติมากขึ้น โดยในส่วนของภาครัฐทั่วโลกตื่นตัวกับการดำเนินการโดยคำนึงถึงประเด็นด้าน ESG มีความพยายามออกกฎเกณฑ์ แนวปฏิบัติ หรือกฎหมาย เพื่อส่งเสริมให้บริษัทต่างๆ ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงประเด็น ESG โดยนับตั้งแต่ปี 2016-2020 จำนวนกฎระเบียบด้าน ESG เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 41% ต่อปี ส่วนในปี 2021 ก็ยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราสูงที่ 17% จากปี 2020

 

ขณะเดียวกันก็มีการส่งเสริมในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น นักลงทุน ให้ลงทุนโดยพิจารณาปัจจัย ESG เช่นกัน ด้วยแรงจูงใจที่ว่า ธุรกิจที่มี ESG จะสามารถดำเนินงานได้อย่างยั่งยืน และมีโอกาสให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าในระยะยาว เมื่อเทียบกับบริษัทที่ขาด ESG ซึ่งจากข้อมูลของ Gartner Research ก็บ่งชี้ว่า 85% ของนักลงทุนใช้ประเด็น ESG ในการพิจารณาลงทุนด้วย    

 

ทั้งนี้ ความตื่นตัวมาพร้อมกับความท้าทาย เพราะแต่ละประเทศต่างพยายามสร้างกฎเกณฑ์ กฎหมายกำกับดูแลประเด็น ESG ของตัวเอง แต่สิ่งที่สร้างขึ้นมามีความแตกต่างกันไปเมื่อไปเทียบกับประเทศอื่นๆ ไม่ได้มีการกำกับอะไรที่เป็นมาตรฐานสากลสำหรับใช้ปฏิบัติทั่วโลก ฉะนั้นประเด็นนี้จึงเป็นสิ่งที่เราต้องติดตามกันต่อไปว่าจะมีการพัฒนามาตรฐานสากลกำกับดูแล ESG ที่เป็นหนึ่งเดียวหรือไม่ในอนาคต ในลักษณะเดียวกับมาตรฐาน ISO หรือมาตรฐานของประเทศไหน จะกลายเป็นมาตรฐานที่ทั้งโลกยึดถือ 

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะยังไม่มีมาตรฐานสากลใช้ร่วมกัน แต่เราก็เห็นความพยายามของประเทศทั่วโลกที่จะลงนามร่วมกันเพื่อกำกับดูแลในแต่ละประเด็นให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน เช่น ประเด็นด้านแรงงาน ที่มีการจัดทำมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ, ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ที่มีสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน, ประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มีความตกลงปารีส 

 

ในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ ในฐานะธนาคารแห่งแรกของคนไทย เรายึดมั่นจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจมานานกว่าร้อยปี เรามีการปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล และนำเอาแนวคิดการดำเนินธุรกิจโดยมีความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ตามกรอบแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มาปรับใช้ในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ธนาคารได้ร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์ ‘การธนาคารที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Banking’ เมื่อปี 2019 ซึ่งจัดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์ไทยดำเนินกิจการโดยคำนึงถึง ESG

 

เพื่อให้มั่นใจว่าการบริหารจัดการของธนาคารไทยพาณิชย์สอดคล้องกับหลักการ ESG และสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ในปี 2020 ธนาคารจึงกำหนดนโยบายและกรอบยุทธศาสตร์ 3 เสาหลัก ‘การเงินที่ยั่งยืน (Sustainable Finance: S) สังคมแห่งคุณค่า (Creating Social Impact: C) และสิ่งแวดล้อมเพื่ออนาคต (Better Environmental Future: B)’ เพื่อสะท้อนให้ว่าคำว่า ‘SCB’ ไม่เพียงเป็นชื่อธนาคารไทยพาณิชย์ แต่ยังสะท้อนถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนไปพร้อมกันด้วย 

 

กรอบยุทธศาสตร์ 3 เสาหลัก SCB ถูกนำมาใช้จนถึงทุกวันนี้ โดยภายใต้กรอบได้ให้ความสำคัญบนประเด็น ESG หลายประเด็น เช่น การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending), การเงินสีเขียว (Green Finance), การลงทุนที่ยั่งยืน (Sustainable Investing), ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ตลอดจนการรับมือกับสภาพภูมิอากาศและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Climate Resilience and Net Zero)

 

สิ่งที่เรากำลังทำทั้งหมดนี้ เพราะเราตระหนักดีว่า ESG เป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำธุรกิจ นักลงทุน ประเทศ หรือภาคส่วนต่างๆ ไปสู่ความยั่งยืน (Sustainability) หรือการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ได้ ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตไปได้ควบคู่กับการที่ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ในขณะเดียวกันก็มีความสมดุลของสิ่งแวดล้อมในทุกก้าวเดิน เป็นความพยายามที่จะตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบันโดยไม่ส่งผลกระทบต่อคนรุ่นหลัง อย่างไรก็ดี เราเชื่อว่าด้วยบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ฉะนั้น ESG ในโลกธุรกิจและภาคการเงินก็ยังมีความจำเป็นต้องพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งธุรกิจและนักลงทุนจำเป็นต้องเร่งปรับตัวบนประเด็นด้าน ESG ให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงและการเปลี่ยนผ่าน เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนไปพร้อมกัน 

 

คำเตือน: 

  • การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง รวมถึงควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนตัดสินใจลงทุน
  • สอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ SCB Call Center โทร. 0 2777 7777

 

อ้างอิง: 

  • Unepfi.org
  • Thecorporategovernanceinstitute.com
  • Gartner 
  • SCB CIO

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising