จากกรณีที่มีการรายงานว่า พบผู้ติดโควิด-19 หลังพ้นช่วงเข้าพักที่สถานที่กักกันของรัฐบาลจนครบ 14 วันไปแล้ว และต่อมามีการตรวจพบเชื้ออีกครั้งหลังกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ โดยในการแถลงของกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ระบุว่า การพบเชื้อในกรณีดังกล่าวเป็น ‘ซากเชื้อ’ ที่ไม่มีทางไปแพร่เชื้อต่อได้ นำมาสู่คำถามที่ว่า ‘ซากเชื้อ’ คืออะไร และการพบซากเชื้อจะไม่สามารถแพร่เชื้อได้จริงหรือไม่
ขอเริ่มต้นอธิบายแบบนี้ว่า เมื่อนาย A ตรวจ ‘พบเชื้อ’ ของโรคโควิด-19 อาจไม่เท่ากับว่านาย A สามารถ ‘แพร่เชื้อ’ ให้กับผู้อื่นได้ โดยเฉพาะถ้านาย A มีประวัติว่าเคยป่วยเป็นโควิด-19 มาก่อน
ย้อนกลับไปช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม เรายังไม่อาจสรุปเช่นนี้ได้ เพราะตอนนั้นยังไม่มีการนำเชื้อที่พบไป ‘เพาะเชื้อ’ ว่าสามารแบ่งตัวได้หรือไม่ แต่ในปัจจุบันงานวิจัยหลายฉบับสนับสนุนว่าเชื้อที่พบในภายหลังจากที่นาย A หายป่วยแล้วเป็นเพียง ‘ซากเชื้อ’
การตรวจพบโควิด-19 หรือผลเป็น ‘บวก’ เป็นการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในตัวอย่างจากการป้ายจมูกด้วยวิธี RT-PCR (การเพิ่มจำนวนสารพันธุกรรมที่อาจมีน้อยมากให้มีจำนวนมากพอที่เครื่องสามารถตรวจจับได้) จึงสรุปได้แค่ว่า ‘พบ’ หรือ ‘ไม่พบ’ เชื้อเท่านั้น เลยมีนักวิจัยนำเชื้อที่ตรวจพบไปเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการก็พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ภายหลังจากวันที่ 10 นับจากวันเริ่มมีอาการ สารพันธุกรรมนั้นจะไม่สามารถแบ่งตัวได้ และเมื่อไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ จึงไม่สามารถแพร่เชื้อได้นั่นเอง
มีการคำนวณว่าโอกาสในการตรวจพบสารพันธุกรรมที่ไม่สามารถแบ่งตัวได้หรือ ‘ซากเชื้อ’ เท่ากับ 88% และ 95% ของการตรวจทั้งหมด ภายหลังจากวันที่ 10 และ 15 นับจากวันที่เริ่มมีอาการ ตามลำดับ
สอดคล้องกับข้อมูลการสอบสวนโรคที่พบว่า ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่บ้านและโรงพยาบาล หากสัมผัสกับผู้ป่วยในวันที่ 6 นับจากวันเริ่มมีอาการเป็นต้นไป จะไม่ติดเชื้อจากผู้ป่วยรายนั้น ยกเว้นผู้ป่วยส่วนน้อย เช่น อาการรุนแรง ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ที่ยังตรวจพบความสามารถในการแบ่งตัวของเชื้อได้ต่อไปอีกไม่เกินวันที่ 20 นับจากวันเริ่มมีอาการ
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เคยป่วยเป็นโควิด-19 อาจตรวจพบสารพันธุกรรมของไวรัสได้ในปริมาณน้อยนานถึง 3 เดือน (นานมาก) โดยไม่พบว่าเป็นการติดเชื้อซ้ำ และจากการศึกษาในเกาหลีใต้พบว่า ผู้ป่วยที่ตรวจพบสารพันธุกรรมค้างอยู่เป็นเวลานานนี้ ‘ไม่แพร่เชื้อ’ ให้กับผู้สัมผัสเลย ดังนั้นจึงนำมาสู่ข้อสรุปที่ว่า เมื่อนาย A ตรวจพบโควิด-19 (ซากเชื้อที่ตกค้าง) ‘ไม่เท่ากับ’ นาย A สามารถแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้
คำแนะนำในการแยกกักผู้ป่วยและข้อควรระวังของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (US CDC) ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563 ระบุว่า
- ระยะเวลาที่เหมาะสมในการกักตัวผู้ป่วยคือ 10 วัน นับจากวันที่เริ่มมีอาการ (หากไม่มีอาการให้นับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ) โดยจะต้องไม่มีไข้อย่างน้อย 24 ชั่วโมง และอาการอื่นดีขึ้นแล้ว
- การตรวจหาเชื้อก่อนจำหน่ายผู้ป่วยไม่จำเป็นอีกต่อไป โดยให้นับระยะเวลาจากวันเริ่มมีอาการแทน ยกเว้นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงให้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านโรคติดเชื้อ ซึ่งข้อนี้ตรงกับแนวทางของประเทศไทยตั้งแต่ช่วงมีนาคมถึงเมษายน 2563 ที่ยกเลิกการตรวจหาเชื้อก่อนกลับบ้าน แต่ผู้ป่วยจะต้องกักตัวต่อจนครบ 30 วันแทน
- ผู้ที่เคยป่วยเป็นโควิด-19 มาก่อน และไม่มีอาการเลยนับตั้งแต่หายป่วย ไม่ควรได้รับการตรวจหาเชื้อซ้ำภายใน 90 วัน (เพราะหากตรวจก็อาจเจอซากเชื้อ และทำให้วินิจฉัยผิดได้) ยกเว้นมีอาการที่เข้าได้กับโควิด-19 ซ้ำอีกครั้ง แล้วหาสาเหตุอื่นไม่ได้
สำหรับคำถามว่าเพราะเหตุใดสารพันธุกรรมของไวรัสถึงหลงเหลืออยู่ในร่างกายผู้ป่วยได้นานขนาดนั้น? ทำไมร่างกายเราถึงกำจัดไวรัสได้ไม่หมด? ยังคงเป็นปริศนาที่รอผู้ค้นพบคำตอบอยู่ครับ
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- Duration of Isolation and Precautions for Adults with COVID-19 https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/hcp/duration-isolation.html
- Presymptomatic Transmission of SARS-CoV-2 — Singapore, January 23–March 16, 2020 https://www.cdc.gov/mmwr/volumes/69/wr/mm6914e1.htm
- Report of the WHO-China Joint Mission on Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) https://www.who.int/docs/default-source/coronaviruse/who-china-joint-mission-on-covid-19-final-report.pdf