×

Airborne คืออะไร แพร่โควิด-19 ได้จริงไหม

27.03.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • Airborne คือละอองที่มีขนาดเล็กมาก (น้อยกว่า 5 ไมครอน) หรือละอองเสมหะที่ระเหยไปจนมีขนาดเล็กและมีเชื้อโรคที่มีชีวิตเกาะอยู่ ละอองนี้จะสามารถลอยอยู่ในอากาศได้นานและไกล เชื้อโรคที่สามารถแพร่เชื้อได้แบบนี้ที่แพทย์รู้จักมีเพียง 3 ชนิด ได้แก่ ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหัด โรคสุกใสหรืองูสวัด และแบคทีเรียวัณโรค
  • “WHO ประกาศโควิด-19 เป็น Airborne” เป็นข่าวจริงเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 แต่ถ้าเข้าไปอ่านรายละเอียดจะพบว่าองค์การอนามัยโลกเตือนเฉพาะ ‘บุคลากรทางการแพทย์’ ภายหลังจากมีการศึกษาใหม่พบว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มีชีวิตรอดในอากาศได้ใน ‘บางสถานการณ์’ ซึ่งจริงๆ แล้วแทบไม่สามารถพบได้ในชีวิตประจำวันได้เลย
  • สาเหตุที่องค์การอนามัยโลกต้องออกมาเตือนบุคลากรทางการแพทย์ เช่น แพทย์ พยาบาล ก็เพราะว่าขั้นตอนการดูแลรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลบางขั้นตอนสามารถเปลี่ยน Droplet ให้กลายเป็น Airborne ได้ โดยขั้นตอนนั้นเรียกว่า ‘Aerosol-generating procedure’ หรือหัตถการที่ทำให้เกิดละอองลอย (Aerosol) ซึ่งสามารถฟุ้งอยู่ในอากาศได้นาน

“WHO ประกาศโควิด-19 เป็น Airborne” เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา คุณแม่ของผมได้รับการส่งต่อข้อความทางกลุ่มไลน์ว่าโควิด-19 ติดต่อกันผ่านทางอากาศ (Airborne) โดยอ้างการแถลงข่าวขององค์การอนามัยโลก (WHO) พร้อมแนะนำว่าต้องใส่หน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้าน และอย่าเข้าไปในอาคารที่ติดเครื่องปรับอากาศโดยไม่จำเป็น

 

ว่าแล้วแม่ก็หันมาบอกผม แล้วหยิบหน้ากากผ้าขึ้นมาสวม

 

ทบทวนอีกครั้ง Contact, Droplet และ Airborne ต่างกันอย่างไร

คำว่า Airborne มีความหมายที่เหลื่อมกันอยู่ระหว่างคนทั่วไปกับแพทย์ เพราะถ้าเปิดพจนานุกรมคำนี้จะแปลว่า ‘[adj.] (ทหาร, สินค้า) ขนมาทางอากาศ’ หรือ Airborne transmission จะแปลว่า ‘การแพร่เชื้อทางอากาศ’ ทำให้เรานึกภาพว่าเชื้อโรคลอยอยู่ในอากาศเหมือนละอองเกสรที่ลอยไปตามทิศทางลม เมื่อสูดหายใจเข้าไปก็จะติดเชื้อ

 

แต่ในทางการแพทย์จะแบ่งระดับของการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลตามการแพร่เชื้อ (Transmission-based precautions) ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ Contact, Droplet และ Airborne นอกเหนือจากการป้องกันตัวตามมาตรฐาน (Standard Precaution) ซึ่งต้องปฏิบัติกับผู้ป่วยทุกรายเหมือนกันคล้ายกับการรักษาสุขอนามัยของคนทั่วไป

 

Contact: 

หมายถึงการสัมผัสเชื้อโรคอยู่ในของเหลวที่หลั่งออกมาจากตัวผู้ป่วย เช่น หนอง เลือด หากสัมผัสผ่านผิวหนังที่มีแผลจะเป็นช่องทางเข้าของเชื้อได้ เราจึงมักเห็นแพทย์สวมถุงมือทุกครั้งที่สัมผัสผู้ป่วย 

 

การสัมผัสนี้ยังรวมถึงการสัมผัสน้ำมูกและน้ำลายของผู้ป่วยที่อาจตกอยู่ตามสิ่งของ การป้องกันที่สำคัญอีกอย่างจึงเป็นการล้างมือ

 

Droplet: 

คือละอองน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะที่ผู้ป่วยไอจามออกมา ซึ่งทุกคนน่าจะเคยเห็นภาพกราฟิกว่าละอองเหล่านี้จะกระเด็นออกไปได้ไม่เกิน 1-2 เมตร แล้วจะตกลงที่พื้นหรือสิ่งของที่อยู่ใกล้ 

 

แพทย์จะป้องกันตัวด้วยการสวมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical Mask) หรือหน้ากากสีเขียวสีฟ้าที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี

 

การแพร่เชื้อแบบนี้เป็นช่องทางการติดต่อหลักของโควิด-19 เพราะเป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการไอ ซึ่งไม่ว่าไอแห้งหรือไอมีเสมหะก็จะมีละอองน้ำมูกน้ำลายออกมาด้วยทุกครั้ง เป็นที่มาของคำแนะนำให้ผู้มีอาการป่วยต้องสวมหน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่างจากผู้อื่น (Social Distancing)

 

Airborne: 

คือละอองที่มีขนาดเล็กมาก (น้อยกว่า 5 ไมครอน) หรือละอองเสมหะที่ระเหยไปจนมีขนาดเล็กและมีเชื้อโรคที่มีชีวิตเกาะอยู่ ละอองนี้จะสามารถลอยอยู่ในอากาศได้นานและไกล เชื้อโรคที่สามารถแพร่เชื้อได้แบบนี้ที่เรา (แพทย์) รู้จักมีเพียง 3 ชนิด ได้แก่ ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหัด โรคสุกใสหรืองูสวัด และแบคทีเรียวัณโรค

 

จะสังเกตว่าทั้ง Droplet และ Airborne เป็นการแพร่เชื้อผ่านทาง ‘อากาศ’ แต่ Droplet จะต้องสูดหายใจเอาละอองขนาดใหญ่ซึ่งลอยอยู่ในอากาศได้ไม่นานเข้าไป ส่วน Airborne เป็นการหายใจเอาเชื้อโรคหรือละอองขนาดเล็กเข้าไป แพทย์จะป้องกันด้วยการสวมหน้ากากชนิด N95 และแยกผู้ป่วยอยู่ในห้องที่ควบคุมทิศทางการไหลของอากาศได้

 

WHO บอกใคร 

“WHO ประกาศโควิด-19 เป็น Airborne” เป็นข่าวจริงเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 แต่ถ้าเข้าไปอ่านรายละเอียดจะพบว่าองค์การอนามัยโลกเตือนเฉพาะ ‘บุคลากรทางการแพทย์’ ภายหลังจากมีการศึกษาใหม่พบว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มีชีวิตรอดในอากาศได้ใน ‘บางสถานการณ์’ และยังแถลงกับสื่อมวลชนด้วยว่า “การแพร่เชื้อส่วนใหญ่ยังคงเกิดจากการไอจาม”

 

สาเหตุที่องค์การอนามัยโลกต้องออกมาเตือนบุคลากรทางการแพทย์ เช่น แพทย์ พยาบาล ก็เพราะว่าขั้นตอนการดูแลรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลบางขั้นตอนสามารถเปลี่ยน Droplet ให้กลายเป็น Airborne ได้ โดยขั้นตอนนั้นเรียกว่า ‘Aerosol-generating procedure’ หรือหัตถการที่ทำให้เกิดละอองลอย (Aerosol) ซึ่งสามารถฟุ้งอยู่ในอากาศได้นาน

 

หัตถการที่ว่า ได้แก่ 

  • การพ่นยา เพราะผู้ป่วยมีภาวะปอดอักเสบ ทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบได้ แพทย์มักจะสั่งพ่นยาขยายหลอดลมเพื่อให้อากาศลงไปแลกเปลี่ยนที่ปอดได้ 
  • การใส่ท่อช่วยหายใจ เพราะผู้ป่วยอาการรุนแรงจะมีภาวะระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ต้องใส่ท่อแล้วต่อกับเครื่องช่วยหายใจ (Ventilator) เป็นต้น

 

ดังนั้น ‘บางสถานการณ์’ ที่องค์การอนามัยโลกพูดถึงจึงไม่สามารถพบได้ในชีวิตประจำวันเลย

 

ในขณะที่งานวิจัยที่อ้างถึงน่าจะเป็นงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร NEJM เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 ที่พบว่าไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นสาเหตุของโควิด-19 สามารถมีชีวิตอยู่บนละอองลอยได้นานถึง 3 ชั่วโมง เหมือนกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคซาร์สในอดีต และได้ยืนยันว่าไวรัสสามารถอยู่รอดบนกระดาษแข็งนาน 1 วัน และบนพลาสติกได้นานถึง 3 วัน

 

ทั้งนี้เป็นการสร้างละอองลอยจากเครื่องพ่น (Collison Nebulizer) และทดลองในสิ่งแวดล้อมที่มีความชื้นสัมพัทธ์ 65% และอุณหภูมิ 21-23 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจเทียบได้กับอากาศภายในอาคารที่เปิดเครื่องปรับอากาศ ดังนั้นสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญคือการล้างมือหลังหยิบจับสิ่งของในที่สาธารณะ เช่น รถประจำทาง มากกว่า

 

Airborne ไม่ใช่ช่องทางการแพร่เชื้อหลัก

ที่ผ่านมาในรายงานของคณะทำงานร่วมขององค์การอนามัยโลกและประเทศจีน ฉบับวันที่ 16-24 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ถูกอ้างอิงในสื่อจำนวนมาก ได้เขียนถึงเรื่องการแพร่เชื้อว่าโควิด-19 ติดต่อผ่าน Droplet และ Fomite (สิ่งของที่ปนเปื้อน Droplet) ระหว่างที่มีการสัมผัสใกล้ชิดโดยไม่ได้ป้องกันระหว่างผู้ป่วยและผู้ที่ยังไม่ป่วย

 

ส่วน Airborne ยังไม่พบการแพร่เชื้อในลักษณะนี้ และเชื่อว่าไม่ใช่ช่องทางการแพร่เชื้อหลัก

 

ทั้งหมดนี้ผมได้อธิบายให้คุณแม่ของผมฟังเพื่อไม่ให้ความกลัวอยู่เหนือหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และการป้องกันอย่างการสวมหน้ากากอนามัยก็ต้องสวมให้ถูกวิธี เช่น สวมแนบจมูก สวมแล้วไม่ยกมือขึ้นมาหยิบจับบริเวณใบหน้า (สังเกตได้จากการแถลงข่าวของผู้ใหญ่บางท่าน) มิฉะนั้นจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

 

แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโควิด-19 เกิดจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ เราจึงจะต้องเฝ้าติดตามและยืดหยุ่นกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบใหม่อย่างต่อเนื่องครับ

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising