×

เกิดอะไรขึ้นในเหตุการณ์ ทหารอิสราเอลสังหาร 3 ตัวประกัน แม้ชูธงขาวขอความช่วยเหลือ

18.12.2023
  • LOADING...

ทางการอิสราเอลกำลังอยู่ระหว่างการสอบสวน ภายหลังเกิดเหตุอันน่าสลดใจเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (15 ธันวาคม) หลังทหารอิสราเอลพลาดยิงสังหาร 3 ตัวประกันชาวอิสราเอลที่ถูกกลุ่มฮามาสจับตัวไปในฉนวนกาซา แม้ว่าหนึ่งในตัวประกันจะชูธงขาวที่ทำจากเสื้อเพื่อขอความช่วยเหลือ

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้รัฐบาลอิสราเอลเผชิญแรงกดดันอย่างหนักให้มีการเจรจาหยุดยิงกับฮามาสเพื่อปล่อยตัวประกันเพิ่มเติม แต่ยังไม่มีสัญญาณความเป็นไปได้ ขณะที่สถานการณ์ในกาซายังทวีความรุนแรง จากการโจมตีทั้งภาคพื้นดินและทางอากาศอย่างหนักหน่วงของกองทัพอิสราเอล

 

และนี่คือรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

 

ตัวประกัน 3 คนดังกล่าว เป็นชายชื่อว่า โยตัม ฮาอิม (Yotam Haim) วัย 28 ปี, ซาเมอร์ ทาลัลกา (Samer Talalka) วัย 22 ปี และอลอน แชมริซ (Alon Shamriz) วัย 26 ปี ซึ่งถูกสังหารในกาซาซิตี้ ขณะที่กองทัพอิสราเอลกำลังเดินหน้าปฏิบัติการภาคพื้นดินเพื่อกวาดล้างกลุ่มฮามาส

 

ตามคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่กองทัพอิสราเอลที่ไม่เปิดเผยชื่อ ระบุว่าชายทั้ง 3 คนโผล่ออกมาจากอาคารหลังหนึ่งโดยไม่สวมเสื้อ และมีคนหนึ่งถือท่อนไม้ที่มีผ้าขาวผูกติดอยู่

 

ขณะที่หนึ่งในทหารอิสราเอลที่เผชิญหน้ากับกลุ่มชายตัวประกันในระยะห่างไม่กี่สิบเมตร อ้างว่าเขารู้สึก ‘ถูกคุกคาม’ จึงตะโกนว่า “พวกก่อการร้าย” และเปิดฉากยิงใส่ ทำให้ตัวประกัน 2 คนเสียชีวิตทันที ส่วนคนที่ 3 บาดเจ็บและหนีกลับเข้าไปในอาคาร

 

เสียงร้องของตัวประกันที่ขอความช่วยเหลือในภาษาฮีบรู ทำให้ผู้บังคับบัญชากองพันสั่งให้ทหารหยุดยิง หลังจากนั้นตัวประกันที่บาดเจ็บปรากฏตัวอีกครั้ง และถูกยิงเสียชีวิตในที่สุด

 

ไม่มีรายงานแน่ชัดว่าตัวประกันทั้ง 3 คนถูกกลุ่มติดอาวุธที่จับตัวมาปล่อยตัว หรือหลบหนีออกมาเอง

 

โดยวานนี้ (17 ธันวาคม) กองทัพอิสราเอลเผยว่า ได้เข้าไปตรวจค้นอาคารดังกล่าว และพบผ้าขาวติดบนผนังที่ใช้เศษอาหารเหลือทิ้งเขียนเป็นข้อความขอความช่วยเหลือว่า ‘SOS’ และ ‘ช่วยด้วย ตัวประกัน 3 คน’ ซึ่งคาดว่าตัวประกันเหล่านี้อยู่ในอาคารหลังนี้มาระยะหนึ่งแล้ว

 

เจ้าหน้าที่กองทัพอิสราเอลยอมรับว่า การสังหารชายที่ถือธงขาวนั้นถือเป็นการละเมิด ‘กฎการปะทะ (Rules Of Engagement)’ ระหว่างสงคราม

 

หลังเกิดเหตุ โฆษกกองทัพอิสราเอลให้สัมภาษณ์ CNN ถึงแนวทางป้องกันการเกิดเหตุผิดพลาดเช่นนี้ซ้ำ โดยระบุว่าตอนนี้กองทัพอิสราเอลได้มีการแจ้งทหารที่ปฏิบัติการในกาซา ให้ฝึกซ้อมเพิ่มความระมัดระวังและการตรวจสอบที่มากขึ้น เมื่อเผชิญหน้ากับประชาชนในชุดพลเรือน

 

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ความผิดพลาดร้ายแรงนี้ ก่อให้เกิดการประท้วงและเพิ่มแรงกดดันแก่รัฐบาลอิสราเอลในการเจรจาข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราว เพื่อเปิดทางให้มีการปล่อยตัวประกันเพิ่มเติม

 

จนถึงตอนนี้ เชื่อว่ายังมีตัวประกันอีกราว 120 คนอยู่ในฉนวนกาซา โดยในส่วนของตัวประกันคนไทย คาดว่ามีอีกจำนวน 8 คน ขณะที่สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเทลอาวีฟ ได้รับรายงานจากฝ่ายอิสราเอลว่า มีตัวประกัน 19 คน จากทั้งหมด 135 คน ที่เสียชีวิต แต่ยังไม่มีการเปิดเผยสัญชาติ

 

ที่ผ่านมา หลายชาติตะวันตกทั้งฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และเยอรมนี ต่างเรียกร้องให้มีการหยุดยิงโดยทันทีและถาวร 

 

แต่ เอลี โคเฮน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอล กล่าวว่า การหยุดยิงนั้นอาจเป็นข้อผิดพลาด และกลายเป็นของขวัญแก่กลุ่มฮามาส

 

‘ความเสี่ยง’ และ ‘อันตราย’ ของภารกิจช่วยตัวประกัน

 

สำนักข่าว BBC รายงานความเห็นจาก พล.ต. ชาร์ลี เฮอร์เบิร์ต นายพลเกษียณอายุแห่งกองทัพอังกฤษ ต่อเหตุการณ์สังหารตัวประกันของทหารอิสราเอล โดยตั้งคำถามถึงยุทธวิธีและการแยกแยะระหว่างพลเรือนกับกลุ่มติดอาวุธของกองทัพอิสราเอล

 

เขาชี้ว่าที่ผ่านมา กองทัพอิสราเอลเน้นย้ำการหลีกเลี่ยงการทำร้ายพลเรือน แต่ยอดผู้เสียชีวิตในกาซาจนถึงตอนนี้พุ่งสูงกว่า 1.8 หมื่นคน ซึ่งแน่นอนว่ามีพลเรือนจำนวนมาก และทำให้อิสราเอลถูกประณามและกล่าวหาว่าทิ้งระเบิดโจมตีตามอำเภอใจ

 

ในเกือบทุกกรณีของเหตุการณ์ลักพาตัวในประวัติศาสตร์ ผู้ที่ถูกลักพาตัวมีโอกาสที่ดีกว่ามาก ที่จะปรากฏตัวแบบมีชีวิตและไม่ได้รับบาดเจ็บ ผ่านการเจรจาไกล่เกลี่ยและทำข้อตกลง มากกว่าการแทรกแซงด้วยอาวุธ

 

พล.ต. ชาร์ลี เฮอร์เบิร์ต ยกตัวอย่างกรณีนักรบญิฮาดในเยเมน ที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มอัลกออิดะห์ ก่อเหตุลักพาตัวนักท่องเที่ยวจากชาติตะวันตก 16 คน ในปี 1998 ซึ่งเอกอัครราชทูตอังกฤษได้เข้าพบรัฐมนตรีมหาดไทยเยเมน เพื่อกดดันให้มีการเจรจาปล่อยตัวตัวประกัน แต่สายเกินไป เนื่องจากกองทัพเยเมนได้ส่งทหารไปปฏิบัติการช่วยเหลือ ทำให้ 1 ใน 4 ของตัวประกันถูกสังหารในการสู้รบที่เกิดขึ้น ส่วนคนอื่นๆ ได้รับบาดเจ็บ

 

ที่ผ่านมา หน่วยรบพิเศษของตะวันตกและอิสราเอล ใช้เวลาหลายทศวรรษในการพัฒนายุทธวิธีในการช่วยเหลือตัวประกันให้สมบูรณ์แบบ 

 

แต่ถึงอย่างนั้น มันก็ไม่ได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้เสมอไป และหลายครั้งเกิดความผิดพลาดที่ไม่คาดคิด จนทำให้ตัวประกันหรือกองกำลังที่เข้าไปช่วยเหลือเสียชีวิต

 

ในปี 1976 กองทัพอิสราเอลได้ส่งหน่วยคอมมานโด ปฏิบัติการสายฟ้าฟาด เพื่อช่วยชีวิตตัวประกัน 106 คน ที่ถูกจับไปในเมืองเอนเทบเบ ประเทศยูกันดา ซึ่งสามารถช่วยตัวประกันได้ 102 คน แต่ผู้บัญชาการหน่วยคอมมานโดอิสราเอลถูกสังหาร ซึ่งต่อมา เบนจามิน เนทันยาฮู น้องชายของผู้บัญชาการรายนี้กลายเป็นนายกรัฐมนตรีอิสราเอล

 

สำหรับกรณีตัวประกันที่ฮามาสจับตัวไว้ ชนวนเหตุเริ่มต้นของปฏิบัติการเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม เชื่อว่ามาจากความคับแค้นใจที่มีต่อการกดขี่ของอิสราเอลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

 

ซึ่งในช่วงแรกนั้นการช่วยเหลือตัวประกันยังเป็นเพียงความหวังที่เลือนราง แต่ในเวลาต่อมา กลุ่มฮามาสก็เต็มใจที่จะเจรจาหยุดยิง และปล่อยตัวประกันกว่า 100 คน ซึ่งบรรดาญาติและครอบครัวของตัวประกันเหล่านี้ ทราบดีว่าความสำเร็จในการช่วยชีวิตตัวประกันให้ได้รับอิสรภาพ ไม่ได้เกิดจากปฏิบัติการทางทหาร แต่มาจากการเจรจาและการไกล่เกลี่ยโดยกาตาร์และอียิปต์

 

แต่ถึงกระนั้น การทำข้อตกลงกับกลุ่มฮามาส ซึ่งอิสราเอลและหลายประเทศมองว่าเป็นองค์กรก่อการร้ายนั้น อาจเป็นยาขมที่ต้องฝืนกลืนลงไป เพราะการจะได้มาซึ่งอิสรภาพของตัวประกัน จะต้องมีการแลกเปลี่ยนบางสิ่งบางอย่างเป็นการตอบแทนเสมอ

 

ในกรณีของฮามาส นั่นหมายถึงการหยุดยิงชั่วคราว การปล่อยนักโทษปาเลสไตน์จำนวนมากออกจากเรือนจำอิสราเอล และการเพิ่มการจัดส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเข้าไปในฉนวนกาซา

 

ภาพ: Israel Defense Forces / Handout via Reuters

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising