เรารู้อะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับสายพันธุ์เดลตา (B.1.617.2)
สายพันธุ์เดลตา (B.1.617.2) พบครั้งแรกในอินเดียเมื่อตุลาคม 2563 องค์การอนามัยโลกจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่าเป็นห่วง (Variant of Concern: VOC) และมีรายงานมากกว่า 80 ประเทศทั่วโลก โดยสายพันธุ์นี้ใช้เวลาประมาณ 2 เดือนนับตั้งแต่เมษายน 2564 แพร่ระบาดในอังกฤษจนสามารถเอาชนะสายพันธุ์อัลฟา (B.1.1.7) ที่ระบาดอยู่ก่อนหน้าได้ จนปัจจุบันพบเป็นสัดส่วน 91% แล้ว
สถานการณ์นี้คล้ายกับในไทย สายพันธุ์อัลฟาเป็นสายพันธุ์หลักในการระบาดระลอกที่ 3 แต่ภายหลังจากมีการตรวจพบสายพันธุ์เดลตาที่แคมป์คนงานหลักสี่เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อด้วยสายพันธุ์นี้ 496 ราย พบมากที่สุดใน กทม. 404 ราย คิดเป็น 9.8% ของตัวอย่างที่ส่งตรวจสายพันธุ์ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์คาดว่าภายในไม่เกิน 2-3 เดือนจะแทนที่สายพันธุ์อัลฟา
สิ่งที่เรารู้เพิ่มขึ้นคือคุณสมบัติและประสิทธิภาพของวัคซีนต่อสายพันธุ์นี้ อย่างแรกคือ สายพันธุ์เดลตามี #ความสามารถในการแพร่ระบาด มากกว่าสายพันธุ์อัลฟา 40-50% (ซึ่งสายพันธุ์อัลฟาแพร่ระบาดมากว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมอยู่แล้วประมาณ 50%) อาการที่พบบ่อยที่สุดคือปวดศีรษะ รองลงมาเป็นเจ็บคอ น้ำมูก ไข้ ส่วนอาการไอและจมูกไม่ได้กลิ่นพบได้น้อยลง
ในขณะที่ #ความรุนแรง เพิ่มขึ้นด้วยเมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์อัลฟา โดยข้อมูลเบื้องต้นในอังกฤษและสกอตแลนด์พบว่ามีความเสี่ยงของการนอนโรงพยาบาลมากกว่าสายพันธุ์อื่น 1.9 เท่า เมื่อปรับด้วยตัวแปรอายุ เพศ ระยะเวลา และโรคประจำตัวแล้ว ส่วนอัตราป่วยเสียชีวิตของสายพันธุ์นี้เท่ากับ 0.3% ซึ่งยังต่ำกว่าสายพันธุ์อื่น แต่ยังต้องติดตามในระยะเวลาที่นานขึ้น
#การยับยั้งของภูมิคุ้มกัน ลดลง ทำให้ #ประสิทธิผลของวัคซีน ลดลง แต่ลดลงมากหรือน้อยขึ้นกับยี่ห้อของวัคซีน วัคซีน AstraZeneca เข็มแรกมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ 33% แต่จะเพิ่มขึ้นเป็น 60% หากฉีดครบ 2 เข็ม จึงเป็นทำให้อังกฤษประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 เร็วขึ้นในผู้สูงอายุ จากเดิมห่างจากเข็มแรก 12 สัปดาห์ เป็น 8 สัปดาห์
วัคซีน Pfizer-BioNTech เข็มแรกมีประสิทธิผล 33% แต่จะเพิ่มขึ้นเป็น 88% หากฉีดครบ 2 เข็ม ส่วนประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อรุนแรงทั้ง 2 วัคซีนป้องกันได้มากกว่า 90% ในเข็มที่ 2 ในขณะที่วัคซีน Sinovac ไม่มีข้อมูล แต่มีข่าวในอินโดนีเซียว่าบุคลากรทางการแพทย์มากกว่า 350 รายติดเชื้อถึงแม้จะได้รับวัคซีน Sinovac ครบแล้ว* และคาดว่าจะเป็นสายพันธุ์เดลตา
ในไทยมีการศึกษาของ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ไบโอเทค สวทช. โดยนำซีรั่มของบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็มเป็นเวลา 1 เดือนมาทดสอบกับไวรัสตัวแทนที่สร้างให้มีการแสดงออกของโปรตีนหนามเหมือนสายพันธุ์ต่างๆ พบว่า ภูมิคุ้มกันชนิด NAb กลับยับยั้งสายพันธุ์เดลตา ‘ลดลง’ อย่างมีนัยสำคัญ เทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิมที่ยับยั้งได้พอสมควร
เมื่อรู้จักสายพันธุ์เดลตามากขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นสายพันธุ์หลักของไทยภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า ประกอบกับมีหลักฐานเกี่ยวกับประสิทธิภาพวัคซีนมากขึ้น ศบค. จึงควรจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงและมีปริมาณเพียงพอที่จะควบคุมการระบาดระลอกที่ 3 ที่ยืดเยื้อมา 2 เดือนครึ่งโดยไม่มีทีท่าว่าจำนวนผู้ป่วยรายใหม่จะลดลงเท่าไรนัก และย่อมทำให้เปิดประเทศได้อย่างปลอดภัย
หมายเหตุ: *ข้อมูลจากข่าวยังไม่เพียงพอที่จะสรุปประสิทธิผลได้ เนื่องจากไม่มีกลุ่มเปรียบเทียบ บอกได้เพียงว่ามีการติดเชื้อหลังได้รับวัคซีน (Breakthrough Infection) แต่ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 เคยมีข่าวว่าประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการของวัคซีน Sinovac ในอินโดนีเซียเท่ากับ 94% แต่อาจเป็นเพราะสายพันธุ์ใหม่หรือได้รับวัคซีนมานานแล้ว
ภาพประกอบ: กริน วสุรัฐกร
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง:
- Delta variant of Covid-19 mutates into Delta Plus: All you need to know
- Risk assessment for SARS-CoV-2 variant: Delta (VOC-21APR-02, B.1.617.2) (18 June 2021)
- SARS-CoV-2 variants of concern and variants under investigation in England: Technical briefing 16 (18 June 2021)
- Five things we know about the Delta variant (and two things we don’t)
- Effectiveness of COVID-19 vaccines against the B.1.617.2 variant
- Effectiveness of COVID-19 vaccines against hospital admission with the Delta (B.1.617.2) variant
- SARS-CoV-2 Delta VOC in Scotland: demographics, risk of hospital admission, and vaccine effectiveness
- กรมวิทย์ฯ เฝ้าระวังสายพันธุ์ “เดลตา” คาดระบาดในไทย 2-3 เดือนนี้
- Hundreds of vaccinated Indonesian health workers get COVID-19, dozens in hospital
- Indonesia study finds China’s Sinovac COVID-19 vaccine effective in medical staff