แม้จะเป็นซีรีส์วายที่แทบไม่ได้มีฉากถูกเนื้อต้องตัวกัน และยังเป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ของคู่รักเกย์วัย 40+ แต่ก็ทำออกมาได้โรแมนติก ซึ้งใจ จนดูได้ซ้ำๆ ได้ไม่เบื่อ สำหรับ What Did You Eat Yesterday? หรือเมื่อวานคุณทานอะไร (ก่อนหน้านี้ใช้ชื่อว่า เมื่อวานเจ๊ทานอะไร) ที่ว่าด้วยเรื่องราวชีวิตรักเรียบง่ายของ ชิโระ คาเคย์ทนายความหนุ่มมาดสุขุมผู้ปกปิดรสนิยมทางเพศของตัวเอง กับ เคนจิ ยาบุกิ ช่างตัดผมที่มีนิสัยร่าเริง สดใส และพร้อมเปิดเผยความเป็นเกย์ของตัวเองอยู่เสมอ โดยมีอาหารเข้ามาช่วยสื่อสารถึงความรัก ความห่วงใย ที่ฝ่ายหนึ่งมีต่ออีกฝ่ายแลกกับคำชื่นชมแสนธรรมดา แต่ทว่าอิ่มเอมหัวใจ
ระยะเวลา 6 ชั่วโมงที่ได้ดูซีรีส์เรื่องนี้ นอกจากจะสนุกไปกับวิธีทำอาหารง่ายๆ ที่อธิบายค่อนข้างละเอียด บทสนทนาและการปฏิสัมพันธ์ต่อคนรอบข้างของตัวละครยังสะท้อนชีวิตจริงของคู่รักเกย์ไว้ได้เกือบทั้งหมด หลายเรื่องเป็นความเข้าใจผิดของสังคมรอบข้างที่ค่อยๆ กระจ่างขึ้นเมื่อดูไปในแต่ละตอน ส่วนจะมีเรื่องอะไรบ้างนั้นเราลองมาวิเคราะห์กัน
*หมายเหตุ บทความเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์
ไม่สาวเท่ากับฝ่ายรุก?
ถ้ามองผ่านบรรทัดฐานความรักต่างเพศก็อาจจะมองว่าชิโระน่าจะเป็นสามีด้วยบุคลิกภูมิฐาน และเก็บซ่อนความเป็นเกย์ของตัวเอง ในขณะที่เคนจิเป็นคนเปิดเผย ร่าเริง สดใส และบางครั้งก็เปล่งประกายมงกุฎแว่บๆ ออกมา แต่ในอีพีแรกก็เผยว่าจริงๆ แล้วรสนิยมทางเพศคืออะไรกันแน่
ความจริงแล้วเรื่องรสนิยมทางเพศของคู่รักเกย์ไม่สามารถใช้บรรทัดฐานของคู่รักต่างเพศมานิยามได้ (และจริงๆ ก็ไม่ควรจะนิยามด้วย) เพราะทุกอย่างลื่นไหลไม่เกี่ยวกับบุคลิกหรือการแสดงออก รวมทั้งบทบาทหน้าที่ในครอบครัว เพราะหากวิเคราะห์ที่ตัวเคนจิ แม้จะมีหน้าที่ทำอาหารคล้ายเป็นแม่บ้าน ขณะเดียวกันก็มีความเป็นผู้นำ แถมยังมีแนวคิดแบบสังคมปิตาธิปไตยในแบบที่พ่อบ้านญี่ปุ่นมักจะเป็นกัน อย่างเรื่องการแสดงออกที่ต้องเป็นชายสมชาย จนกลายเป็นความพารานอยด์สร้างมุกตลกตลอดทั้งเรื่อง หรือการไม่แสดงความรักจนบางครั้งดูเหมือนเย็นชา อีกทั้งยังมีแนวคิดเก่าๆ อย่างเช่นการมีลูกหลานเพื่อให้เลี้ยงดูตัวเองในอนาคตแบบสังคมเอเชีย เมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นเกย์เลยประหยัด ใช้เงินค่าอาหารไม่เกิน 25,000 เยนต่อเดือน (ประมาณ 7,500 บาท) ขนาดจ่ายกับข้าวแพงกว่าแค่ 2 บาทก็อาจเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเขา แสดงถึงความจุกจิกเกินความเป็นชายที่เจ้าตัวซ่อนเอาไว้ภายใต้บุคลิกแมนๆ ที่สังคมเข้าใจ
ชิโระ คาเคย์
ในขณะที่เคนจิมีลักษณะของผู้ตาม และมักเปิดเผยตัวตนให้คนรอบข้างได้เห็น เขามองว่าความรักของเขาเป็นเรื่องปกติ และอยากให้คนอื่นมองว่าปกติด้วย อย่างที่เราได้รู้เหตุผลว่าที่เขาเอาเรื่องของชิโระไปเล่าให้คนอื่นฟังก็เพราะเห็นเพื่อนร่วมงานพูดถึงครอบครัว จึงอยากเล่าเรื่องแฟนของตัวเองบ้าง สิ่งเหล่านี้เป็นมุมมองแตกต่างที่คนหนึ่งซ่อนตัวตนให้ลื่นไหลไปกับสังคม แต่อีกคนพร้อมเปิดเผยเพื่อให้สังคมยอมรับในสิ่งที่เป็น นี่คือความขัดแย้งที่ทำให้ความสัมพันธ์นี้ลงตัวและไม่จืดชืด
เคนจิ ยาบุกิ
พยายามมองว่าปกติเท่ากับมองว่าไม่ปกติ
อีกเรื่องที่น่าสนใจของ What Did You Eat Yesterday? คือการเผยให้เห็นมุมมองของพ่อแม่ต่อลูกชายที่เป็นเกย์แบบไม่ต้องมีฉาก Come out สะเทือนอารมณ์ แต่แคปเจอร์ช่วงเวลาพยายามเรียนรู้และทำความเข้าใจวิถีชีวิตของลูก ถ้าลองวิเคราะห์ดูก็พอจะรู้ว่าแม่ของชิโระเพิ่งรู้ว่าลูกตัวเองเป็นเกย์ และพยายามศึกษาชีวิตผ่านกลุ่มคนรู้จักที่เป็นเกย์ จึงจำคำพูดต่างๆ มาใช้โดยที่ในใจก็ยังยอมรับไม่ได้ 100% อย่างเช่น “ทำไมไม่บอกคนที่ทำงาน การเป็นเกย์เป็นสิ่งพิเศษนะ” ในขณะเดียวกันก็หลุดบางประโยคที่ดูขัดแย้งกันเอง เช่น “แม่ยอมรับไม่ว่าลูกเป็นเกย์หรือฆาตกร” ซึ่งจริงๆ แล้วคนที่เป็นเกย์ไม่ได้ต้องการให้มองในแง่ดีจนเป็น ‘สิ่งพิเศษ’ หรือมองในแง่ร้ายขนาดไปเปรียบเทียบกับ ‘ฆาตกร’ แต่อยากให้มองว่ามันเป็นเรื่องปกติ แม้แต่ตัวชิโระเองก็มองว่าชีวิตรักของเขาไม่อาจเป็นที่ยอมรับได้ของครอบครัว จึงลำบากใจเมื่อพ่อแม่เรียกร้องให้พาเคนจิมาเจอในวันขึ้นปีใหม่ แต่เพื่อทำให้ความสัมพันธ์ครั้งนี้เป็นเรื่องปกติเหมือนคู่ชายหญิงตามที่พ่อแม่คาดหวัง เขาก็ยอมทำตามด้วยเหตุผลที่ว่า “กลัวว่าพ่อแม่ผิดหวัง คิดว่าลูกน่าสงสาร อยากให้ท่านเห็นว่าผมไม่ได้เกิดมาโชคร้าย”
แม่ของชิโระเพิ่งรู้ว่าลูกตัวเองเป็นเกย์ และพยายามศึกษาชีวิตผ่านกลุ่มคนรู้จักที่เป็นเกย์ จึงจำคำพูดต่างๆ มาใช้โดยที่ในใจก็ยังยอมรับไม่ได้ 100%
ส่วนเรื่องของสังคมรอบข้างก็สะท้อนผ่านมุมมองของคาโยโกะ คู่หูแม่บ้านนักช้อปของชิโระที่เผยออกมาโต้งๆ ตรงๆ ว่ายอมรับความเป็นเกย์ของเขาได้ก็เพราะเราไม่มีสายเลือดเดียวกัน หมายความว่าถ้าเป็นคนในครอบครัวของเธอ เรื่องนี้จะเป็นอีกเรื่องไปเลย ส่วนสามีของคาโยโกะที่แสดงความเห็นอกเห็นใจ คิดว่าเคนจิต้องผ่านความยากลำบากมามากแน่นอน แต่กลับหลุดประโยค “คุณอย่าเผลอมาชอบผมนะ” นั่นแสดงถึงความไม่เข้าใจว่า ถึงเป็นชายรักชายแต่ก็ไม่จำเป็นต้องรักผู้ชายทุกคน
มุมมองของโคโยโกะและสามีมีความคล้ายคลึงกับสังคมไทย ที่เหมือนจะยอมรับแต่ก็ไม่สนิทใจ เหมือนจะเข้าใจแต่ก็ไม่เข้าใจ ซึ่งจริงๆ แล้วเกย์ก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมากไปกว่าการอยากให้ปฏิบัติต่อกันในฐานะคนปกติเท่านั้นเอง
ชีวิตรักเกย์เมื่อไรจะเท่ากับชีวิตรักชายหญิง
What Did You Eat Yesterday? เลือกแคปเจอร์ช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ของคู่รักเกย์เดินทางมาได้ในระยะหนึ่ง จึงไม่หวือหวาโรแมนติกเหมือนนั่งรถไฟเหาะในสวนสนุก แต่ออกจะเรียบง่ายคล้ายการนั่งม้าหมุน คือวนลูปเดิมๆ แต่เล่นได้เรื่อยๆ อย่างที่เราได้เห็นว่าลูปชีวิตของทั้งคู่วนเวียนอยู่แค่ที่ทำงานกับห้องสี่เหลี่ยมที่เป็นดังโลกส่วนตัวของพวกเขา ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่มีการแสดงความรักกันทางกายภาพ แต่บอกผ่านสิ่งละอันพันละน้อย เช่น ชิโระไม่ยอมให้เคนจิถือถุงกับข้าวเพราะกลัวว่ามือจะบาดเจ็บ หรือแล่ปลาชิ้นบางๆ เพื่อให้คนรักกินง่ายขึ้น ส่วนเคนจิก็เก็บกวาดทำความสะอาดบ้านเพื่อให้ชิโระหายเครียด ถ้ามองย้อนกลับมาที่ครอบครัวทั่วไป ภาพนี้ก็ไม่ต่างจากคู่รักรุ่นพ่อแม่ที่รักกันมานาน แต่สิทธิ์ที่ได้รับกลับไม่เหมือน
ซีรีส์พูดถึงปัญหาเรื่องเกี่ยวกับสิทธิในชีวิตคู่ผ่านตัวละครคู่รักเกย์ ที่ขอร้องให้ชิโระทำเรื่องรับคู่รักเป็นบุตรบุญธรรมของตัวเอง เพื่อทรัพย์สินจะได้ตกเป็นของคู่ชีวิตแต่เพียงผู้เดียว เพราะกฎหมายยังไม่รองรับการแต่งงานของเพศเดียวกัน ซึ่งนอกจากเรื่องทรัพย์สมบัติแล้ว เวลาที่ป่วยไข้คู่รักเกย์ก็ไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจแทนคู่ชีวิตได้ กรณีแบบนี้ก็มีหลายๆ เคสในเมืองไทย ที่การตัดสินความเป็นความตายกลับถูกโยนไปให้คนในครอบครัว ทั้งๆ ที่บางคนก็ไม่ได้มีความผูกพันกันมานานแล้ว ความจริงเรื่องนี้ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ไม่ได้พิเศษอะไร อย่างที่บอกไปในหัวข้อที่แล้วว่า เกย์ไม่ได้ต้องการความพิเศษหรือความเห็นใจ แต่แค่อยากให้ปฏิบัติต่อกันในฐานะคนปกติก็เท่านั้นเอง
ภาพ: Courtesy of Netflix