×

เราเรียนรู้อะไรบ้างจากวิกฤตแบงก์ล้มในรอบนี้?

12.05.2023
  • LOADING...

ผ่านมาแล้วกว่า 1 เดือนหลังจากเกิดวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ในภาคการเงินการธนาคาร คือ การล่มสลายของธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ในสหรัฐอเมริกา และการเข้าซื้อกิจการธนาคาร Credit Suisse ของ UBS ในสวิตเซอร์แลนด์ เราได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งที่เกิดขึ้นนี้บ้าง?

 

ในภาพรวมดูเหมือนว่าตลาดส่วนใหญ่ได้ทยอยตกผลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะที่นักลงทุนก็ถูกตอกย้ำให้ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับ ‘ข้อเท็จจริงหลายข้อของธุรกิจธนาคาร’ ที่ไม่สามารถมองข้ามได้ ได้แก่

 

1. ความเชื่อมั่นเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับธุรกิจธนาคาร

 

แม้ว่าเงินของผู้ฝากส่วนใหญ่จะได้รับการคุ้มครองภายใต้เกณฑ์ของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก แต่ในยามที่เกิดวิกฤตจนกระทบต่อความเชื่อมั่น ผู้ฝากเงินจะยังแห่กันถอนเงินฝากของตัวเองออกจากธนาคารจนนำไปสู่ภาวะ Bank Run อยู่ดี ภาวะที่เกิดขึ้นนี้ทำให้หน่วยงานกำกับในสหรัฐฯ ต้องตัดสินใจเคลื่อนไหวด้วยความรวดเร็วและครอบคลุมเพื่อตัดไฟเสียแต่ต้นลม

 

อีกหนึ่งบทเรียนที่ธนาคารได้เรียนรู้กันคือการมีโครงสร้างทางการเงิน เช่น เงินกองทุนที่แข็งแกร่งและเพียงพอตามเกณฑ์ของหน่วยงานกำกับเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นและเชื่อใจให้กับลูกค้า ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้ได้ย้ำเตือนถึงข้อเท็จจริงข้อนี้

 

2. การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดและเข้มงวดในภาคธนาคารยังมีความจำเป็น

 

ก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤตในรอบนี้ ธนาคารบางกลุ่มในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรได้มีท่าทีต่อต้านการกำหนดกฎระเบียบที่เข้มงวดในอุตสาหกรรมการเงิน และเรียกร้องให้มีการผ่อนคลายข้อบังคับหลายด้านเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตัวเอง

 

แต่เหตุการณ์ล่าสุดได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการกำหนดกฎระเบียบและการตรวจสอบที่เข้มงวด นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่จะมีกฎระเบียบใหม่บางอย่างออกมาเพื่อดูแลความเสี่ยงของภาคธนาคาร ทำให้ทั้งธนาคารและภาคธุรกิจอาจมีต้นทุนที่สูงขึ้นสำหรับการกู้ยืมและการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี ผู้ฝากเงินส่วนใหญ่อาจมองว่านี่เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องยอมเสียสละ เพื่อแลกกับความมั่นคงของเงินฝาก

 

3. สินทรัพย์บางประเภทมีความเสี่ยงสูงกว่าเราเคยคิดกันไว้

 

สภาพคล่องหรือความสามารถในการแปลงสินทรัพย์เป็นเงินสดของธนาคารจำเป็นจะต้องดูไปถึงการถือครองสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากเงินสดด้วย นักลงทุนต้องศึกษาข้อมูลและวิเคราะห์ความเสี่ยง เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เช่น กรณีพันธบัตรรัฐบาลที่แม้จะเป็นสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยกว่าหุ้นสามัญ แต่ดอกเบี้ยปรับเป็นขาขึ้น มูลค่าก็มีความเสี่ยงที่จะลดลงหากธนาคารจำเป็นต้องขายออกก่อนครบกำหนด ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับ SVB ดังนั้นผู้ฝากเงินและผู้ลงทุนอาจจำเป็นต้องศึกษาโครงสร้างสภาพคล่องของธนาคารที่ตัวเองมีส่วนได้ส่วนเสียอยู่ด้วย

 

อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤตภาคธนาคารในรอบนี้คือการไหลออกของเงินฝากในสหรัฐฯ ไปสู่กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) มากขึ้น จากทั้งความกังวลต่อความมั่นคงของภาคธนาคาร และกองทุนรวมตลาดเงินยังให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากจากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากปรับขึ้นในอัตราที่ช้ากว่า โดยคาดว่าการปรากฏการณ์นี้อาจยังคงดำเนินต่อเนื่องไปหากอัตราผลตอบแทนของกองทุนรวมยังสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก

 

ปริมาณเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ที่ลดลง ซึ่งสวนทางกับยอดการลงทุนในกองทุนรวมที่เพิ่มสูงขึ้นอาจ มีผลกระทบต่อความสามารถในการให้สินเชื่อของธนาคาร เราอาจได้เห็นการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารเพื่อรักษาระดับเงินฝาก ขณะที่ความต้องการตราสารหนี้และผลิตภัณฑ์การลงทุนอื่นๆ ในภาพรวมจะเพิ่มสูงขึ้นจากเงินจำนวนมากที่ไหลเข้ามาลงทุนในกองทุนรวม

 

ท้ายที่สุด สิ่งที่เราต้องพึงตระหนักจากบทเรียนในครั้งนี้คือ เราต้องไม่ลืมหลักการพื้นฐานว่าการลงทุนทุกรูปแบบนั้นมีความเสี่ยงอยู่เสมอ ราคาหุ้นในบางครั้งอาจมีความผันผวนอย่างรวดเร็วและรุนแรงจากเงื่อนไขของตลาดโดยรวม หรือปัจจัยเฉพาะที่ส่งผลต่อบริษัทและอุตสาหกรรมนั้นๆ

 

ขณะที่ราคาพันธบัตรมักจะเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้ามกับอัตราดอกเบี้ย ดังนั้นเมื่อราคาพันธบัตรปรับตัวตามอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น มูลค่าของพอร์ตการลงทุนอาจลดลง นอกจากนี้ การลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับเครดิตต่ำย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยงสูงในการผิดนัดชำระและการสูญเสียเงินต้น ต้องไม่ลืมว่าการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือของพันธบัตร หรืออันดับเครดิตความแข็งแกร่งทางการเงินของผู้ออกพันธบัตร ผู้รับประกัน หรือผู้ค้ำประกัน อาจส่งผลต่อมูลค่าของพันธบัตรได้

 

การคาดหวังผลตอบแทนที่สูงย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยงสูงที่ต้องแบกรับเช่นกัน สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศต้องไม่ลืมคำนึงถึงความเสี่ยงพิเศษจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ รวมถึงปัจจัยการเมืองในประเทศและผลกระทบจากความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ด้วย

 

4. จัดพอร์ตลงทุนสู้ความเสี่ยงอย่างไรดี?

 

ความผันผวนที่เกิดขึ้นกับวงการธนาคารล่าสุดนี้นับเป็นความท้าทายใหม่ที่สร้างความกังวลให้กับนักลงทุน เพราะแม้ว่าในปัจจุบันตลาดจะมีมุมมองว่าความผันผวนที่เกิดขึ้นกับภาคธนาคารในรอบนี้เป็นปัญหาเฉพาะตัวที่ไม่น่าจะลุกลามเป็นปัญหาเชิงระบบ แต่ความเชื่อมั่นในภาคธนาคารก็ยังคงเปราะบาง

 

เพื่อรับมือความเสี่ยงและความผันผวนของตลาดที่อาจเกิดขึ้น ธนาคารยูโอบีซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนจึงแนะนำให้จัดพอร์ตการลงทุนในช่วงนี้ ดังนี้

 

สินทรัพย์กลุ่มแรกที่ยูโอบีแนะนำคือ ตราสารหนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่สำคัญในการจัดพอร์ตของนักลงทุน ทั้งนี้ควรมีการกระจายการลงทุน และลงทุนในบริษัทคุณภาพดีที่มีงบการเงินและกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง โดยเน้นไปที่การลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพดี (Investment Grade Credit) เพื่อสร้างรายได้สม่ำเสมอและลดความผันผวน อีกทั้งมีความทนทานในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว จากภาวะปัจจุบันที่เงินเฟ้อชะลอตัวและเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีโอกาสชะลอตัวลง ทำให้มีโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะหยุดวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในอนาคต การลงทุนในตราสารหนี้จะมีโอกาสทำกำไรจากราคาตราสารหนี้ที่ปรับตัวสูงขึ้น

 

อีกหนึ่งสินทรัพย์ที่ยูโอบีแนะนำเพื่อสร้างสมดุลให้พอร์ตการลงทุนคือ การลงทุนในกองทุนรวมหลายสินทรัพย์ (Multi-Asset) กองทุนประเภทนี้มีการกระจายการลงทุนในประเภทสินทรัพย์ที่หลากหลาย เช่น หุ้น ตราสารหนี้ และสินค้าโภคภัณฑ์ การกระจายการลงทุนทั้งด้านสินทรัพย์ ภูมิภาค และอุตสาหกรรม ช่วยลดความเสี่ยงให้กับการลงทุนได้ และในปีนี้คาดว่าความสัมพันธ์ของสินทรัพย์ โดยเฉพาะหุ้นและตราสารหนี้จะเข้าสู่ภาวะปกติ คือมีความสัมพันธ์ในทางตรงกันข้าม ซึ่งเป็นกุญแจหลักในการกระจายการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ และจะช่วยให้การลงทุนแบบ Multi-Asset กลับมาทำผลงานได้ดีขึ้นในปีนี้ 

 

สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้มากขึ้นและแสวงหาโอกาสการเติบโตของเงินทุน ยูโอบีแนะนำให้ลงทุนในหุ้นจีน เอเชีย และอาเซียน รวมถึงหุ้นกลุ่มสุขภาพทั่วโลก โดยภูมิภาคเอเชียจะได้รับประโยชน์จากการเปิดประเทศของจีน อีกทั้งเงินเฟ้อที่ไม่ได้สูงและกดดันเท่าตลาดพัฒนาแล้ว ส่งผลให้นโยบายการเงินผ่อนคลาย ซึ่งเป็นแรงสนับสนุนให้กับสินทรัพย์เสี่ยงและการเติบโตของจีน เอเชีย และอาเซียน สำหรับธุรกิจเกี่ยวสุขภาพก็มีอัตราการเติบโตจากความต้องการบริการและผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างระยะยาวจากการเพิ่มขึ้นของสังคมผู้สูงอายุทั่วโลก และการพัฒนาทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านยาและการรักษาต่างๆ จะสนับสนุนให้อุตสาหกรรมสุขภาพเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

 

 

เรื่อง: UOB Wealth

อ้างอิง:


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising