×

จริงหรือไม่ การโดนจับหน้าอกบ่อยๆ หรือกระทบแรงๆ เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม?

12.07.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 mins. read
  • ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า มะเร็งเต้านมกลายเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิง พบรายใหม่ประมาณ 35 คนต่อวัน และเสียชีวิต 7 คนต่อวัน
  • ผู้หญิงที่ถูกกระทบกระแทกเต้านมแรงๆ บ่อยๆ โดยเฉพาะคนที่มีเต้านมขนาดใหญ่ จะเกิดการตายของไขมัน (Fat necrosis) ทำให้เกิดก้อนแข็งในเต้านม การตรวจเต้านมโดยเอกซเรย์พิเศษแมมโมแกรมอาจวินิจฉัยผิดว่าเป็นมะเร็งเต้านม 
  • เช่นเดียวกับสาเหตุการเกิดของโรคมะเร็งอื่นๆ โรคมะเร็งเต้านมเป็นโรคที่ไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดที่แน่ชัดได้ แต่แน่นอนว่าเราสามารถบอกปัจจัยเสี่ยงได้

ปัจจุบันนี้มีการรายงานข้อมูลจากกระทรวงสาธารณะสุข ว่ามะเร็งเต้านมกลายเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิง ฉะนั้นการตรวจสุขภาพโดยแพทย์ตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำคือทุก 3 ปี (เมื่อมีอายุ 20 ปีขึ้นไป) เป็นสิ่งที่ผู้หญิงทุกคนไม่ควรละเลย หรือหากให้แพทย์แนะนำ ยังมีวิธีตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวเองที่คุณสามารถทำได้บ่อยถึงเดือนละครั้งอีกด้วย 

 

เช่นเดียวกับสาเหตุการเกิดของโรคมะเร็งอื่นๆ โรคมะเร็งเต้านมเป็นโรคที่ไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดที่แน่ชัดได้ แต่เราสามารถบอกปัจจัยเสี่ยงได้ อย่างน้อยที่สุดเพื่อให้เราได้สังเกตพฤติกรรม และระมัดระวังลดความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งลงได้ 

 

สาเหตุหนึ่งที่เป็นเหมือนความเชื่อติดตัวสาวๆ หลายๆ คนคือความเชื่อที่ว่า ‘การโดนจับหน้าอกบ่อยๆ หรือหน้าอกถูกกระทบแรงๆ’ นั้นเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดมะเร็งเต้านมได้ ซึ่งไม่ว่าที่มาของมันจะมาจากคำผู้ใหญ่สอนเวลาที่สาวๆ มัธยมฯ วัยหน้าอกกำลังเจริญเติบโต หยอกล้อจับหน้าอกกัน เพื่อบอกให้เธอเหล่านั้นหยุด หรือมาจากไหนก็ตาม ดูเหมือนว่าความเชื่อที่ดูคล้ายเป็นคำเตือนให้ระวังตัวนั้นไม่ได้จำกัดอยู่ในวงแคบ ที่แน่ๆ มันฝังหัวอยู่นานจนน่ายกขึ้นมาอธิบายหาความจริงกันเสียที  

 

คำถามฉบับนี้เราจึงอยากชวนคุยกันด้วยประเด็นที่ว่า ‘จริงหรือมั่วนิ่ม ที่ว่าหากโดนจับหน้าอกบ่อยๆ หรือแรงๆ จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านม’

 

ก่อนจะเฉลยคำตอบ ขอเล่าที่มาที่ไปก่อนค่ะ

 

มีการสังเกตมานานแล้วว่าผู้หญิงที่ถูกกระทบกระแทกเต้านมแรงๆ บ่อยๆ โดยเฉพาะคนที่มีเต้านมขนาดใหญ่ จะเกิดการตายของไขมัน (Fat necrosis) ทำให้เกิดก้อนแข็งในเต้านม การตรวจเต้านมโดยเอกซเรย์พิเศษแมมโมแกรมอาจวินิจฉัยผิดว่าเป็นมะเร็งเต้านม ภายหลังพิสูจน์แล้วว่าก้อนไขมันตายเหล่านี้ไม่เป็นมะเร็ง และไม่กลายเป็นมะเร็งเต้านมในภายหลัง

 

คำตอบ จึงขอตอบว่า…ไม่จริงค่ะ การโดนจับหน้าอกบ่อยๆ หรือแรงๆ ไม่เกี่ยวกับการเกิดมะเร็งเต้านมค่ะ

 

มะเร็งเต้านมปัจจุบันมาแรงแซงโค้งมะเร็งปากมดลูก กลายเป็นเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิง ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขพบรายใหม่ประมาณ 35 คนต่อวัน และ เสียชีวิต 7 คนต่อวัน ส่วนสาเหตุของมะเร็งเต้านมก็เหมือนอีกหลายมะเร็ง คือไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่เราสามารถหลีกเลี่ยงได้ดังนี้: 

 

  1. เป็นเพศหญิง โรคมะเร็งเต้านมเกิดในชายเพียงร้อยละ 1

 

  1. อายุมาก หญิงทุกคนตั้งแต่เกิดจนตาย 1ใน 8 คนมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านม พบมากในอายุมากกว่า 40 ปี

 

  1. เกี่ยวข้องกับการได้รับฮอร์โมนเพศหญิงระดับสูงเป็นเวลานาน จากการกินฮอร์โมน หรือจากความอ้วนด้วยไขมันในช่องท้อง สามารถสร้างฮอร์โมนเพศหญิงได้

 

  1. เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ชาติพันธุ์ มีแม่ พี่ ป้า น้า อา น้องสาว เป็นมะเร็งเต้านม

 

  1. รูปร่างสูง หญิงที่สูงมากกว่า 175 เซนติเมตร มีโอกาสเป็น 1.2 เท่าของส่วนสูงต่ำกว่า 160 เซนติเมตร

 

  1. มีประจำเดือนก่อนอายุ 13 ปี หมดประจำเดือนช้ากว่า 55 ปี ไม่มีลูก มีลูกยาก หรือมีลูกช้ากว่า 35 ปี ซึ่งทำให้เต้านมได้รับฮอร์โมนเพศหญิงโดยไม่หยุดมาเป็นเวลานาน

 

  1. วิถีชีวิต ทำงานกลางคืน (พยาบาลเวรดึกมีโอกาสเป็นสูงกว่าคนทั่วไป 1.8 เท่า)

 

  1. กินเหล้า สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีมลพิษ ปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสี

 

  1. เคยเป็นมะเร็งเต้านม หรือเคยรับรังสีรักษาโรคมะเร็งบริเวณทรวงอก 

 

สำหรับวิธีการหลีกเลี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมมีดังนี้ค่ะ

 

  1. อยู่ในที่ที่ไม่มีมลพิษ ออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่ปล่อยให้อ้วน

 

  1. ไม่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ กินอาหารผักผลไม้หลากสี น้ำมันมะกอก (อาหารเมดิเตอร์เรเนียน) ลดอาหารไขมันสูง ไม่กินฮอร์โมนจากพืชผักสมุนไพรหรือยา นอกจากแพทย์สั่ง สำหรับน้ำเต้าหู้ถั่วเหลืองควรกินปานกลาง เชื่อว่าป้องกันมะเร็งเต้านมในคนเอเซีย ไม่ป้องกันในคนตะวันตก

 

  1. แต่งงานมีลูกก่อนอายุ 35 ปี ให้นมลูกเกิน 6 เดือน

 

  1. ตรวจเต้านมตนเองเดือนละครั้ง ในกรณีที่คลำพบก้อนให้พบแพทย์ทันที หากมีญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม ควรตรวจแมมโมแกรมก่อนอายุที่ญาติเป็น 5 ปี ตรวจติดตามตามคำแนะนำของแพทย์ หากเป็นมะเร็งเต้านม อย่าวิตก

 

  1. ควรรักษาแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันการผ่าตัด ใช้ยา และรังสีรักษามะเร็งเต้านมมีความก้าวหน้ามาก มีโอกาสหายขาดสูง

 

 

 

ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง: 

  • Feigelson HS, Jonas CR, Teras LR, et al. Weight gain, body mass index, hormone replacement therapy, and postmenopausal breast cancer in a large prospective study. Cancer Epidemiol Biomarkers Prev 2004; 13:220.
  • Kelsey JL, Gammon MD, John EM. Reproductive factors and breast cancer. Epidemiol Rev 1993; 15:36.
  • Breast cancer and hormone replacement therapy: collaborative reanalysis of data from 51 epidemiological studies of 52,705 women with breast cancer and 108,411 women without breast cancer. Collaborative Group on Hormonal Factors in Breast Cancer. Lancet 1997; 350:1047.
  • Travis RC, Balkwill A, Fensom GK, et al. Night Shift Work and Breast Cancer Incidence: Three Prospective Studies and Meta-analysis of Published Studies. J Natl Cancer Inst 2016; 108.
  • John EM, Kelsey JL. Radiation and other environmental exposures and breast cancer. Epidemiol Rev 1993; 15:157.
  • Brennan SF, Cantwell MM, Cardwell CR, et al. Dietary patterns and breast cancer risk: a systematic review and meta-analysis. Am J Clin Nutr 2010; 91:1294.
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

X
Close Advertising