WHA เซ็นสัญญาซื้อขายที่ดิน 250 ไร่ ให้กับฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย ลุยตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) กำลังผลิต 1 แสนคันต่อปี เฟสแรก 8,862 ล้านบาท คาดเริ่มผลิตปี 2568 พร้อมเผยเร็วๆ นี้ ฉางอานฯ มีลุ้นอานิสงส์จาก FTA ไทย – EU เพิ่มแต้มต่อส่งออกนอกเหนือจากตลาดเอเชีย แง้ม 1 พฤศจิกายน นายกรัฐมนตรีนั่งประธานบอร์ด EV อาจช่วยผลักดันแพ็กเกจ EV 3.5 เร็วขึ้น
วันนี้ (26 ตุลาคม) บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในเครือดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ประกาศลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินครั้งใหญ่กับบริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด ซึ่งเป็น 1 ใน 4 บริษัทยานยนต์ชั้นนำจากจีน ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 จ.ระยอง ซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อสร้างโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า นับเป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ครั้งสำคัญในปี 2566
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- “ผมขอเวลา 6 เดือน ผมหวังว่าจะเปลี่ยนใจพวกเขาได้” ถอดบทสนทนาตอนหนึ่งของ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ กับความในใจ…ทำไมไทยยังตามหลังเวียดนาม?
- สรุป 8 บริษัทระดับโลกที่เศรษฐาพบและชวนให้มาลงทุนในประเทศไทย
โดยในพิธีลงนามในสัญญาครั้งนี้ประกอบด้วย จางเซียวเซียว อัครราชทูตจีน ประจำแผนกพาณิชย์ สถานทูตจีนประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน โดยมี จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ เซินซิงหัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด และกรรมการผู้จัดการและประธานกรรมการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ลงนามในสัญญา
ฉางอานฯ ก่อตั้งมานาน 153 ปี และเป็นผู้ริเริ่มอุตสาหกรรมยานยนต์จีน โดยภาษาจีน ฉาง แปลว่า ยาวนาน และ อาน แปลว่า ความปลอดภัย เมื่อนำคำมาต่อกัน ฉางอานจึงมีความหมายว่า ความปลอดภัยอย่างยาวนาน ปัจจุบันเป็น 1 ใน 4 ยักษ์ใหญ่ในกลุ่มยานยนต์ EV จีน
เซินซิงหัวกล่าวว่า บริษัทมีความยินดีที่ได้ลงนามซื้อขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 ภายใต้การสนับสนุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในการลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในไทย
โดยมูลค่าการลงทุนเฟสแรก 8,862 ล้านบาท กำลังผลิต 1 แสนคันต่อปี บนพื้นที่ 250 ไร่ ส่วนเฟสที่ 2 คาดการณ์ว่า 2 แสนคันต่อปี บนพื้นที่ 300 ไร่ โดยจะผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวา ทั้งประเภท BEV, PHEV, REEV (Range Extended EV) สำหรับจำหน่ายในไทย และส่งออกสู่ภูมิภาคอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ และแอฟริกาใต้
หนุนรัฐบาลไทยผลักดัน EV 3.5 สร้าง Ecosystem
ทั้งนี้ บริษัทพร้อมจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าและมีแผนจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนารถยนต์ในไทยในอนาคตอีกด้วย เบื้องต้นจะเปิดตัวและพร้อมจำหน่าย 29 พฤศจิกายน 2566 ในงานมอเตอร์โชว์ส่งท้ายปี ก่อนที่คาดว่าโรงงานจะแล้วเสร็จและเริ่มผลิตรถยนต์ได้อย่างเป็นทางการในปี 2568
“เหตุผลสำคัญในการตัดสินใจลงทุนครั้งใหญ่นี้ เนื่องจากไทยเป็นตัวเลือกที่ครบ ด้วยทำเลที่ตั้งและชื่อเสียงของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ปในฐานะผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมชั้นนำของภูมิภาค ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 มีสิ่งที่เรามองหา ทั้งทำเลที่ตั้งอันโดดเด่นบนพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายของ EEC ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ ระบบสาธารณูปโภคและบริการระดับเวิลด์คลาส รวมไปถึงการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูง”
ขณะเดียวกันมองว่าหากรัฐบาลเดินหน้ามาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า EV 3.5 จะทำให้เกิด Ecosystem ในอุตสาหกรรมไทยได้เร็วนี้ โดยดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป จะช่วยขยายคลัสเตอร์ยานยนต์ใน EEC ได้เป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการลงทุนของฉางอานฯ
ดีล WHA กับฉางอานฯ เหมือนการปลูกต้นรักมานาน 3 ปี
ทางด้านจรีพรกล่าวว่า บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด ให้ความเชื่อมั่นและเลือกดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการจัดตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแห่งใหม่ในไทย
“ต้องบอกเลยว่าดีล WHA กับฉางอานฯ เหมือนเราได้ปลูกต้นรักมานาน 3 ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตโควิด วันนี้การลงนามเหมือนการแต่งงานกัน จะเลิกกันคงไม่ได้ และฉางอานฯ ขอจองพื้นที่เพิ่มไปอีกในเฟส 2”
สำหรับการลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่แห่งปีของความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน ในการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต และการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ตลอดจนเป็นสิ่งยืนยันได้ว่าไทยคือจุดหมายด้านการลงทุนอุตสาหกรรมไฮเทคจากต่างประเทศที่สำคัญของเอเชีย
FTA ไทย – EU เพิ่มแต้มต่อส่งออกให้กับฉางอานฯ
“เร็วๆ นี้จะมีอีกข่าวดีสำหรับฉางอานฯ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีกำลังเร่งเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป (EU) ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่ฉางอานฯ สร้างโรงงานเสร็จพอดี ทำให้จะมีโอกาสขยายตลาดส่งออกจากเอเชียไปยังตลาด EU ได้อีกด้วย”
นอกจากนี้ ล่าสุดนายกฯ ยังได้ตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) โดยเป็นประธานเอง และมีเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นเลขาธิการ ฉะนั้นการผลักดันแพ็กเกจ EV 3.5 จะได้รับการพิจารณาเร็วขึ้น โดยคาดว่าบอร์ด EV จะประชุมนัดแรกในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566
ทำเลทองนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4
สำหรับนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 เป็นนิคมอุตสาหกรรมลำดับที่ 9 ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในไทย มีพื้นที่ทั้งหมด 2,443 ไร่ (รวมพื้นที่ส่วนขยาย) ตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ของ EEC ที่เอื้อต่อการส่งออกสู่ภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ได้รับการออกแบบให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ (Smart ECO Industrial Estate) โดยมีโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่ได้มาตรฐานระดับโลกทั้งเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมล่าสุด
ไม่ว่าจะเป็นด้านการสื่อสาร การคมนาคมขนส่ง การรักษาความปลอดภัย การควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการผลิตและการบำบัดน้ำเสีย และมีการเชื่อมต่อกับศูนย์ควบคุมส่วนกลางของดับบลิวเอชเอ (Unified Operation Center: UOC)
ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจีนได้เข้ามาลงทุนไทยแล้ว 1.44 พันล้านดอลลาร์
“การเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของโลกจำนวนมากส่งผลให้เกิดการขยายคลัสเตอร์ยานยนต์ใน EEC ปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนได้เข้ามาลงทุนในไทยต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าการลงทุนกว่า 1.44 พันล้านดอลลาร์ ช่วยผลักดันให้ไทยกลายเป็นศูนย์การผลิตภูมิภาค”
ดังนั้นการตัดสินใจลงทุนในไทยของฉางอานฯ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมบทบาทของไทยในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าบนเวทีโลก
อีกทั้งช่วยผลักดันให้ไทยมุ่งสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก เกิดระบบนิเวศครบวงจร บรรลุเป้าหมายการใช้ยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero-Emission Vehicle) ภายในปี 2573 ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป