×

‘สภาทองคำโลก’ ระบุความต้องการทองคำปี 2022 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อานิสงส์เศรษฐกิจโลกฟื้นดันกำลังซื้อเพิ่ม แรงกดดันจากโควิดเริ่มคลี่คลาย

03.02.2022
  • LOADING...
World Gold Council

สภาทองคำโลก หรือ World Gold Council คาดการณ์ความต้องการทองคำปี 2022 จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2021 เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้นทั่วโลก ขณะที่แรงกดดันจากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย แนะจับตาการดำเนินนโยบายของ Fed และอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งจะส่งผลต่อความต้องการทองคำอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากฝั่งนักลงทุนสถาบัน 

 

แอนดรูว์ เนย์เลอร์ (Andrew Naylor) ซีอีโอประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมจีน) ของสภาทองคำโลก กล่าวว่า ในปี 2022 คาดว่าทองคำจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่คล้ายกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีทั้งปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยกดดันประสิทธิภาพของทองคำ โดยในระยะใกล้นี้ราคาทองคำมีแนวโน้มที่จะปรับตามเงินเฟ้อ โดยจะเป็นไปพร้อมๆ กับการกระชับนโยบายทางการเงินและประสิทธิภาพในการควบคุมเงินเฟ้อของธนาคารกลางทั่วโลก 

 

‘เงินเฟ้อ-ดอกเบี้ย’ กดดันราคาทองคำผันผวน

ทิศทางทองคำในปี 2022 ทองคำจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่คล้ายกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีทั้งปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยกดดันประสิทธิภาพของทองคำ ซึ่งในระยะสั้นนี้ ราคาทองคำมีแนวโน้มปรับตามเงินเฟ้อ โดยจะเป็นไปพร้อมกับการกระชับนโยบายทางการเงินและประสิทธิภาพในการควบคุมเงินเฟ้อของธนาคารกลางทั่วโลก

 

ในอดีตการเปลี่ยนแปลงของตลาดเหล่านี้ได้สร้างกระแสต่อต้านทองคำ อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในช่วงต้นปีนี้และความเป็นไปได้ที่ตลาดจะอ่อนตัวลงมีแนวโน้มที่จะรักษาความต้องการทองคำไว้เป็นเครื่องป้องกันความเสี่ยง นอกจากนี้ทองคำอาจยังคงได้รับการหนุนจากผู้บริโภคและอุปสงค์ของธนาคารกลาง

 

“อัตราดอกเบี้ยจะส่งผลต่อความน่าซื้อของทองคำ ถ้าอัตราดอกเบี้ยเข้าสู่ช่วงขาขึ้นก็จะกระทบต่อทองคำด้วย ส่วนกรณีที่เมื่อเร็วๆ นี้มีการคาดการณ์ว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงและเร็วกว่าที่คาดการณ์นั้น หากย้อนดูประวัติศาสตร์จะพบว่าความคาดหวังหรือคาดการณ์ของตลาดจะสูงกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงเสมอ และเมื่อย้อนดูสถิติสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ 6 เดือนก่อนที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพอร์ฟอร์แมนซ์ของทองคำจะไม่ดีนัก แต่ 6 เดือนหลังจาก Fed ขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว ทองคำจะปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ” แอนดรูว์กล่าว 

 

สถิติชี้ ‘ราคาทองคำพุ่ง’ เมื่อเงินเฟ้อสูงกว่า 3% 

ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อนั้น หากมองทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยและเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงแล้ว จะพบว่าในช่วงที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 3% ราคาทองคำจะลดลงประมาณ 7% แต่ในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อสูงกว่า 3% ทองคำมีโอกาสที่จะปรับขึ้นได้ถึง 14% 

 

ขณะที่ลูอีส สตรีท (Louise Street) นักวิเคราะห์ตลาดอาวุโสของสภาทองคำโลก ให้ความเห็นว่า ผลการดำเนินงานของทองคำในปี 2021 ได้ตอกย้ำถึงคุณสมบัติของทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยได้เป็นอย่างดี 

 

“เราคาดว่าการเปลี่ยนแปลงที่คล้ายๆ กันนี้จะส่งผลต่อประสิทธิภาพทองคำในปี 2022 โดยมีตัวขับเคลื่อนความต้องการที่ผันผวนตามอิทธิพลของตัวแปรทางเศรษฐกิจที่สำคัญ วิธีที่ธนาคารกลางจัดการกับเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องจะเป็นปัจจัยสำคัญต่ออุปสงค์ทางสถาบันและการค้าปลีกในปี 2022 ในขณะเดียวกันความแข็งแกร่งของตลาดอัญมณีในปัจจุบันอาจต้องหยุดชะงัก หากมีการระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่มาเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงของผู้บริโภคอีก หรืออาจจะคงความแข็งแกร่งต่อไป ถ้าเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัว” ลูอีสกล่าว  

 

ความต้องการทองคำทั่วโลกปี 2021 เกิน 4,000 ตัน  

รายงานความต้องการทองคำรายปีทั่วโลก (ไม่รวมตลาด OTC) ในปี 2564 ได้ฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ 4,021 ตัน โดยเฉพาะไตรมาส 4 ปี 2021 ความต้องการทองคำทั่วโลกแตะ 1,147 ตัน เป็นระดับสูงสุดรายไตรมาสนับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2019 เป็นต้นมา และเพิ่มขึ้นเกือบ 50% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามรายงานของสภาทองคำโลก

 

ความต้องการทองคำแท่งและเหรียญเพิ่มขึ้น 31% สู่ระดับสูงสุดในรอบ 8 ปีที่ 1,180 ตัน เนื่องจากนักลงทุนรายย่อยมองหาสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยท่ามกลางสภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อันเกิดจากการระบาดใหญ่ของโควิด

 

สถาบันขาย ETF ทองคำ 173 ตัน เพื่อปรับพอร์ต

ในขณะเดียวกันข้อมูลของสภาทองคำโลกรายงานว่า มีทองคำไหลออกจากกองทุน ETF ที่หนุนด้วยทองคำจำนวน 173 ตันในปี 2021 เนื่องจากนักลงทุนที่ปรับสัดส่วนการลงทุนตามสภาวะของตลาดบางรายได้ลดการป้องกันความเสี่ยงในช่วงต้นปี เมื่อประชาชนทั่วไปเริ่มได้รับวัคซีนป้องกันโควิด ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำให้การถือครองทองคำมีราคาแพงขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม การไหลออกของทองคำเหล่านี้เป็นเพียงส่วนน้อยเมื่อเทียบกับทองคำปริมาณถึง 2,200 ตัน ที่กองทุน ETF ทองคำได้สะสมไว้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่านักลงทุนให้ความสำคัญกับการสะสมทองคำไว้ในพอร์ตการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

 

ธนาคารกลางทั่วโลกถือครองทองเพิ่ม 463 ตัน

เมื่อพิจารณาถึงความต้องการรายปีของผู้บริโภค ธนาคารกลางเป็นผู้ซื้อสุทธิของทองคำในปี 2021 เป็นปีที่ 12 ติดต่อกัน โดยเพิ่มการถือครองทองคำ 463 ตัน ซึ่งสูงกว่าปี 2020 ถึง 82% กลุ่มธนาคารกลางที่มีความหลากหลายจากทั้งตลาดเกิดใหม่และตลาดที่พัฒนาแล้วได้เพิ่มการสำรองทองคำของตน ทำให้ยอดรวมทั่วโลกเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 30 ปี

 

ความต้องการทองคำรูปพรรณและภาคอัญมณีปรับตัวเพิ่มขึ้นจนใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด หรืออยู่ที่ราว 2,124 ตัน โดยได้รับการหนุนจากภาคเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ปี 2021 ที่แข็งแกร่ง โดยเป็นความต้องการที่สูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2013 เป็นต้นมา

 

ส่วนการใช้ทองคำในภาคเทคโนโลยีในปี 2021 เพิ่มขึ้น 9% สู่ระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี ที่ 330 ตัน แม้ว่าความต้องการในด้านเทคโนโลยีค่อนข้างน้อยกว่าภาคส่วนอื่นๆ แต่มีการใช้งานทองคำอย่างแพร่หลายในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายประเภท ตั้งแต่อุปกรณ์พกพาไปจนถึงกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ (James Webb Space Telescope) อันล้ำสมัยที่เพิ่งเปิดตัวไป

 

ประเทศไทยความต้องการทองคำเพิ่ม 

สำหรับตลาดทองคำในประเทศไทย พบว่าความต้องการทองคำของผู้บริโภคแตะระดับ 12 ตัน ในไตรมาส 4 ปี 2021 เพิ่มขึ้น 44% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

 

ความต้องการเครื่องประดับทองปี 2021 ของประเทศไทยอยู่ที่ 8 ตัน เพิ่มขึ้น 38% จาก 6 ตัน ในปี 2020 และเฉพาะในไตรมาส 4 ปี 2021 การใช้เครื่องประดับเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกันในการเติบโตแบบปีต่อปี และเป็นไตรมาสที่ความต้องการเพิ่มขึ้นมากสุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยได้ฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิดอย่างต่อเนื่อง

 

ในปี 2021 ประเทศไทยเปลี่ยนจากการถอนการลงทุนสุทธิไปเป็นการลงทุนเชิงบวกสุทธิในทองคำแท่งและเหรียญ สาเหตุหลักมาจากราคาทองคำที่ปรับลดลงในปี 2021 เมื่อเทียบกับปี 2020 และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการทองคำแท่งและเหรียญต่อปีแตะ 29 ตัน เทียบกับการขายสุทธิที่ 87 ตัน ในปี 2020

 

“เราเห็นดีมานด์ในทองคำแท่งและเหรียญเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อประเทศไทยเปลี่ยนจากการถอนลงทุนสุทธิไปเป็นการลงทุนเชิงบวกสุทธิ การรวมกันระหว่างราคาทองคำที่ลดลงและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความกังวลเรื่องเงินเฟ้อและค่าเงินบาทที่อ่อนลงมีบทบาทสำคัญในแนวโน้มการลงทุนนี้เป็นอย่างยิ่ง” แอนดรูว์กล่าว 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X