สภาทองคำโลกเผย ดีมานด์ทองคำใน ‘ไทย’ เพิ่มเพียง 3% ในปี 2022 มองดอลลาร์อ่อน, Fed ชะลอขึ้นดอกเบี้ย, จีนผ่อนคลาย Zero-COVID เป็นปัจจัยหนุนราคาทองคำในปี 2023
วันนี้ (2 กุมภาพันธ์) สภาทองคำโลก (World Gold Council) เปิดเผยว่า ความต้องการทองคำของผู้บริโภคในไทยในปี 2022 เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อยู่ที่ 37.9 ตัน นับเป็นการเพิ่มขึ้นที่ไม่ได้สูงมาก โดยมีปัจจัยหนุนส่วนใหญ่มาจากความต้องการทองคำที่เป็นเครื่องประดับ (Jewellery) ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 17% ในปีก่อน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘สภาทองคำโลก’ เผยรายงานประจำปี 2022 พบ ‘ธนาคารกลางทั่วโลก’ ซื้อทองคำมากที่สุดในรอบ 55 ปี ดันดีมานด์ทั้งปีเพิ่ม 18%
- ‘สภาทองคำโลก’ เผย ดีมานด์ทองคำใน ‘ไทย’ Q3 เพิ่มขึ้น 40% เหตุท่องเที่ยวฟื้น-ราคาลง มอง Q4 คึกคักต่อ รับเทศกาลสิ้นปี
- ราคาทองคำทะลุ 1,920 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลัง เจเน็ต เยลเลน เตือนหนี้สหรัฐฯ จ่อทะลุเพดาน ด้านกูรูลุ้นแตะ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เร็วๆ นี้
โดย แอนดรูว์ เนย์เลอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารประจำภูมิภาค APAC (ไม่รวมประเทศจีน) ของสภาทองคำโลก เปิดเผยว่า ปัจจัยที่สนับสนุนความต้องการทองคำที่เป็นเครื่องประดับ (Jewellery) ในประเทศไทย มาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว รวมถึงราคาทองคำในประเทศที่ลดลงในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคมก็นำไปสู่การซื้อทองคำที่เป็นเครื่องประดับ (Jewellery) ที่เพิ่มขึ้น
สำหรับในไตรมาสที่ 4 ของปี 2022 เพียงไตรมาสเดียว พบว่า ความต้องการทองคำในไทยเพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2021 เนื่องจากได้แรงหนุนมาจากความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำเพิ่มขึ้น 8% แตะระดับ 10.8 ตันในไตรมาสที่ 4 ของปี 2022 จากระดับ 10.0 ตันในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2021
ขณะที่ความต้องการทองคำที่เป็นเครื่องประดับ (Jewellery) เพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อน อยู่ที่ 2.8 ตันในไตรมาสสุดท้ายของปี 2022 จากระดับ 2.4 ตันในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบเป็นรายปี ความต้องการทองคำที่เป็นเครื่องประดับ (Jewellery) ในไทยยังคงซบเซาเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด
ปัจจัยที่ต้องจับตาในปีนี้
เนย์เลอร์กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ต้องจับตาสำหรับปี 2023 คือ ‘ความต้องการลงทุนของนักลงทุนสถาบัน’ เนื่องจากเมื่อเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวจะทำให้ความต้องการผู้บริโภคมีแนวโน้มชะลอตัวตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ และแนวโน้มการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) น่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อทองคำในปีนี้
โดยเขายังคาดว่า จะได้เห็นดีมานด์สำหรับ ETF เพิ่มขึ้นในปีนี้ แม้ว่าอุปสงค์ของผู้บริโภคมีแนวโน้มจะลดลงเล็กน้อยก็ตาม
ธนาคารกลางทั่วโลกจ่อ ‘ตุนทองคำ’ ต่อไปในปี 2023
ในปี 2022 ที่ผ่านมา ธนาคารกลางทั่วโลกซื้อทองคำมากที่สุดในรอบ 55 ปี คิดเป็น 17% ของความต้องการทองคำทั้งหมด โดยในปีนี้ เนย์เลอร์ก็มองว่าธนาคารกลางน่าจะเป็นผู้ซื้อสุทธิ (Net Buyer) อีกปี
“ธนาคารกลางหลายประเทศน่าจะซื้อทองคำต่อไปในปีนี้ เนื่องจากความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ และผลตอบแทนของทองคำที่ค่อนข้างแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ โดยเฉพาะธนาคารกลางในประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่โดดเด่น” เนย์เลอร์กล่าว
Fed ชะลอ-หยุดขึ้นดอกเบี้ย ผลดีต่อทองคำ
โดยธรรมชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed กับราคาทองคำจะผกผันกัน หมายความว่า เมื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ราคาทองจะลดลง
เนย์เลอร์กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ของเราพบว่าในช่วงเริ่มต้นของวัฏจักรนโยบายการเงินแบบตึงตัวส่งผลกระทบมากที่สุดต่อตลาดทองคำ เมื่อวัฏจักรดำเนินต่อไปผลกระทบจะน้อยลงแต่ก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งไม่ใช่ระดับเดียวกับปีที่แล้ว
เนย์เลอร์ยังกล่าวอีกว่า อีกประเด็นที่น่าจับตาในปีนี้คือ ‘จีน’ ที่เพิ่งผ่อนคลายมาตรการ Zero-COVID และเปิดประเทศ เนื่องจากจีนเป็นหนึ่งในตลาดที่บริโภคทองคำมากที่สุด น่าจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่ออุปสงค์ในจีน
‘ทองคำ’ ยังเป็นเกราะป้องกันเงินเฟ้ออยู่ไหม?
เนย์เลอร์กล่าวอีกว่า หนึ่งในข้อกังวลหลักที่นักลงทุนควรให้ความสำคัญ คือเรายังคงอยู่ภาวะเงินเฟ้อ ที่แม้ในหลายประเทศเริ่มชะลอตัวแล้วแต่ยังคงสูงอยู่
พร้อมทั้งมองว่า ทองคำยังเป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงต่ออัตราเงินเฟ้อ (Inflation Hedge) ที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะสำหรับบุคคลทั่วไป เนื่องจากสำหรับนักลงทุนสถาบันแล้ว นอกจากทองคำก็ยังมีเครื่องมืออื่นๆ ในการป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้ออื่น ขณะที่บุคคลทั่วไปยังไม่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประเภทเหล่านั้นได้ ดังนั้น ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อ ทองคำถือเป็นหนึ่งในไม่กี่สินทรัพย์ที่สามารถป้องกันความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อได้
ทองคำยังเป็น Safe Haven อยู่ไหม?
ตามความคิดเห็นของเนย์เลอร์ ระบุว่า ผู้คนยังคงมองว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกที่กำลังจะเกิดขึ้น
“เราได้ทำการวิจัยผู้บริโภคจำนวนมาก รวมถึงในประเทศไทย โดยหนึ่งในมุมมองที่ใหญ่ที่สุด คือมุมมองที่ว่า ทองคำถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยอยู่ เพราะเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องได้ (Physical Asset) และมีแนวโน้มที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีในช่วงวิกฤตมากกว่าสินทรัพย์อื่นๆ” เนย์เลอร์กล่าว