World Gold Council หรือสภาทองคำโลก ประเมินความต้องการทองคำจะเพิ่มขึ้นในปี 2565 เนื่องจากนักลงทุนสถาบันจะใช้ทองคำเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ขณะที่นักลงทุนรายย่อยจะเข้าซื้อทองคำมากขึ้นเนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว
Andrew Naylor ผู้บริหารประจำภูมิภาค (APAC ไม่รวมประเทศจีน) และนโยบายสาธารณะ สภาทองคำโลก (World Gold Council) เปิดเผยถึงแนวโน้มความต้องการทองคำ (GDT) ในช่วงที่เหลือของปีนี้ว่า ภาพรวมความต้องการทองคำยังเป็นบวก และจะเป็นบวกมากขึ้นในปี 2565
สาเหตุหลักที่ขับเคลื่อนความต้องการทองคำให้สูงขึ้น มาจากฝั่งนักลงทุนสถาบันที่ใช้ทองคำเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งกำลังเกิดขึ้นทั่วโลกในตอนนี้ และมีความเป็นไปได้ที่จะต่อเนื่องในปีหน้า อีกทั้งทองคำยังเป็นสินทรัพย์ลงทุนปลอดภัยที่เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงอีกด้วย
ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกก็เพิ่มสำรองด้วยทองคำเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ผู้ที่ซื้อสุทธิทองคำมากที่สุดคือ บราซิล อินเดีย และประเทศไทยก็เป็นประเทศผู้ซื้อสุทธิเช่นกัน โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มกลับมาสำรองทองคำเพิ่มปีนี้เป็นปีแรกนับตั้งแต่ปี 2560
ขณะที่ฝั่งผู้ซื้อรายย่อย คาดว่าจะมีความต้องการทองคำเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากเริ่มเกิดความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้กำลังซื้อปรับเพิ่มขึ้น
“ปีนี้สถานการณ์โควิดทั่วโลกเริ่มดีขึ้น เศรษฐกิจจึงเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว นักลงทุนสถาบันจึงมีความสนใจในทองคำลดลง แต่ในภาพรวมแล้ว เชื่อว่าจะไม่ได้เห็นการเทขายทั้งหมด เนื่องจากลงทุนทองคำเป็นสินทรัพย์ที่เหมาะกับการลงทุนระยะยาว ส่วนฝั่งของผู้ซื้อรายย่อยจะเข้าซื้อทองคำเพิ่มขึ้นเมื่อเริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวกทางด้านเศรษฐกิจ เพราะเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว นั่นหมายความว่ากำลังซื้อต้องเพิ่มขึ้น และผู้คนจะจับจ่ายใช้สอยได้คล่องตัวขึ้น”
สำหรับความต้องการทองคำในประเทศไทยนั้น มียอดซื้อสุทธิเพิ่มขึ้นทั้งในรูปแบบของทองคำรูปพรรณ ทองคำแท่งและเหรียญ โดยในไตรมาส 3/64 มียอดซื้อสุทธิ 9 ตัน เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่ขายสุทธิ 44 ตัน ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก
Andrew กล่าวเพิ่มอีกว่า อีกปัจจัยที่จะเป็นบวกต่อความต้องการทองคำ คือกระแสการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก โดยทองคำสามารถเป็นสินทรัพย์ลงทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยงในพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนได้ดี
สำหรับมุมมองที่ระบุว่า Bitcoin คือทองคำดิจิทัลนั้น ส่วนตัว Andrew มองว่าทองคำ และ Bitcoin รวมถึงคริปโตฯ อื่นๆ มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยทองคำเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องได้ ส่วน Bitcoin นั้นไม่ใช่ อีกทั้งบทบาทในระบบการเงินและสภาพคล่องในการซื้อขายก็ต่างกัน อย่างไรก็ตาม ในมุมของการลงทุนนั้น เชื่อว่าทองคำจะสามารถเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยสร้างสมดุลให้กับพอร์ตได้ เมื่อนักลงทุนถือครองสินทรัพย์เสี่ยงสูงอย่างคริปโตฯ ก็ควรมีสัดส่วนลงทุนในทองคำเอาไว้เพื่อกระจายความเสี่ยงเช่นกัน
“ในตอนนี้มีความสนใจในคริปโตฯ เพิ่มขึ้น อยากให้นักลงทุนรู้ถึงความต่างว่าคริปโตฯ ไม่ใช่ Safe Haven และบางตัวก็ไม่ได้มีสภาพคล่องสูง ในขณะที่ทองคำมีความโดดเด่น คือมีความต้องการและความจำเป็นต่อหลายภาคส่วน ทั้งภาคเครื่องประดับ ภาคเทคโนโลยี และภาคการเงิน”
ขณะเดียวกัน WGC ได้เปิดเผยรายงานแนวโน้มความต้องการทองคำไตรมาส 3 ปี 2564 โดยระบุว่า ในไตรมาส 3/64 ความต้องการทองคำทั่วโลกลดลง 7% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลง 13% เมื่อเทียบไตรมาสที่แล้ว มาอยู่ที่ 831 ตัน สาเหตุหลักมาจากการขายสุทธิของกองทุน ETF ทองคำ
โดยกองทุน ETF ทองคำขายสุทธิในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ราว 27 ตัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับการซื้อสุทธิต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงการเกิดโควิด แต่ยอดขายเพียงเท่านี้ก็เพียงพอที่จะทำให้ภาพรวมความต้องการทองคำในปีนี้เป็นขาลง เนื่องจากปีที่แล้วมีการเช้าซื้อสุทธิที่ค่อนข้างสูง ทั้งนี้ กองทุน ETF ทองคำยังถือครองทองคำในระดับสูง อยู่ที่ 3,592 ตัน
ยอดซื้อทองคำรูปพรรณของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 33% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็น 443 ตัน ในขณะเดียวกัน ยอดซื้อทองคำแท่งและเหรียญเพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน โดยมียอดซื้อสุทธิ 262 ตันในไตรมาส 3 ปีนี้ ขณะที่ยอดซื้อทองคำสำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น 9% เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว นอกจากนี้ธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกยังเพิ่มสำรองเป็นทองคำอีก 69 ตัน
ราคาทองคำเฉลี่ยอยู่ที่ 1,790 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ตลอดทั้งไตรมาส ลดลงจากระดับสูงสุดตลอดกาลในไตรมาส 3/63 แต่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปี 5 ปี และ 10 ปี
Louise Street นักวิเคราะห์ตลาดอาวุโสของ World Gold Council กล่าวว่า ปีที่แล้วนักลงทุนแห่ซื้อทองคำเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากโรคระบาด และกองทุน ETF ทองคำก็ได้รับอานิสงส์จากกระแสนี้ และได้เข้าซื้อสุทธิมากกว่า 1,000 ตันในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2563 ดังนั้น แม้ว่าจะมีการขายโดยกองทุน ETF ทองคำในปีนี้ แต่สัดส่วนที่ขายออกไปก็ค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับการเข้าซื้อต่อเนื่องเมื่อปีที่แล้ว
Louise กล่าวเพิ่มว่า ตลาดทองคำโดยรวมกำลังจะมีข่าวดี ทั้งจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของความต้องการในตลาดเครื่องประดับและภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง อีกทั้งยังได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อรายย่อยมีกำลังซื้อในการจับจ่ายใช้สอย และเข้าซื้อทองคำมากขึ้น รวมถึงธนาคารกลางในหลายประเทศยังคงเป็นผู้ซื้อสุทธิ
“ภาพรวมทั้งปีนี้คาดว่าความต้องการทองคำในทุกตลาดจะเติบโตขึ้น โดยตลาดผู้ซื้อรายย่อย และผู้ซื้อสถาบันที่จะมีความต้องการเข้าซื้อสุทธิทองคำอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สำหรับตลาดการลงทุนคาดว่าความต้องการเข้าลงทุนในทองคำจะลดลงในปี 2564 สวนทางกับภาพเศรษฐกิจจริงที่มีความต้องการซื้อทองคำมากขึ้น”
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP