×

ถอดบทเรียน WeWork ที่ไม่เวิร์ก จากสตาร์ทอัพยูนิคอร์นสู่คำถามเรื่องล้มละลาย

โดย THE STANDARD TEAM
02.10.2019
  • LOADING...
WeWork

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • จากสตาร์ทอัพยูนิคอร์นที่กำลังมาแรง และมีมูลค่าสูงกว่า 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์ กลับกลายเป็นบริษัทที่ถูกมองว่าจะอยู่รอดได้ไม่ถึงครึ่งปีหน้า เกิดอะไรขึ้นกับ WeWork
  • ปกติแล้วบริษัทที่สามารถเติบโตหรือสเกลไปได้จนถึงระดับหนึ่ง อัตราการขาดทุนจะเริ่มลดลง แต่ทว่าตรงกันข้ามกับ WeWork ที่ยิ่งเติบโตกลับยิ่งขาดทุน เท่ากับว่าโมเดลธุรกิจหลักของ WeWork ไม่มีแนวโน้มจะสามารถทำกำไรได้เลย
  • นอกจากปัญหาโมเดลธุรกิจ เอกสารไฟลิ่ง S-1 ก่อน IPO ยังเปิดเผยให้เห็นถึงปัญหาธรรมาภิบาลของ WeWork ด้วยที่หลักๆ มาจากตัวซีอีโอ Adam Neumann เองหลายต่อหลายเรื่อง

ท่ามกลางกระแสโคเวิร์กกิ้งสเปซที่กำลังเป็นที่แพร่หลายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา WeWork เป็นหนึ่งในบริษัทที่เป็นที่พูดถึงอย่างมาก จากกระแสสตาร์ทอัพและเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากขยายการให้บริการไปแล้วทั่วโลก

 

ทว่าสิ่งที่หลายคนไม่คาดคิดคือ มูลค่าของ WeWork ที่เคยสูงกว่า 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์เมื่อต้นปี และกำลังเตรียมจะ IPO กลับไม่เวิร์กอย่างที่คิด และลดลงอย่างฮวบฮาบกว่า 80% ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน เหลือเพียงราว 1 หมื่นล้านดอลลาร์ และเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาก็ยื่นหนังสือไปยัง ก.ล.ต. สหรัฐฯ เพื่อขอยกเลิกการ IPO แล้ว 

 

เกิดอะไรขึ้นกับ WeWork ทำไมถึงถอยหลังเข้าคลองเช่นนี้ แล้วเราเรียนรู้อะไรจากกรณีนี้บ้าง

 

จุดเริ่มต้น WeWork และเงินก้อนใหญ่จาก SoftBank

WeWork ก่อตั้งเมื่อปี 2010 โดย Adam Neumann, Rebekah Neumann และ Miguel McKelvey ทำธุรกิจให้เช่าออฟฟิศ โดยอาศัยการเช่าพื้นที่จากเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ตกแต่งและปล่อยเช่าอีกต่อหนึ่ง 

 

WeWork

 

WeWork อาศัยกระแส Tech Startup กำลังมาแรง เรียกตัวเองว่าเป็น Tech Startup ที่ให้บริการโคเวิร์กกิ้งสเปซ โดยในช่วงแรกๆ มีบริษัทใหญ่อย่าง JP Morgan และ Goldman Sachs มาลงทุน ก่อนที่จะได้เงินทุนก้อนใหญ่จาก SoftBank และ SoftBank Vision Fund ที่มีหัวเรือใหญ่คือ Masayoshi Son ที่ค่อนข้างคร่ำหวอดในวงการ Venture Capital มาลงทุนรวมๆ กันแล้วก่อนหน้านี้ 3 ครั้ง เป็นเงินราว 7.5 พันล้านดอลลาร์ 

 

เมื่อได้เงินก้อนใหญ่มา WeWork ก็เติบโตอย่างก้าวกระโดด ปัจจุบัน WeWork ให้บริการไปแล้ว รวมที่กำลังจะเปิดอีกทั้งหมด 122 เมือง กว่า 38 ประเทศ มีสมาชิกกว่า 268,000 คนทั่วโลก 

 

ด้วยอัตราการเติบโตข้างต้น ทำให้ WeWork ถูกมองว่าเป็นสตาร์ทอัพยูนิคอร์นที่กำลังมาแรง เมื่อต้นปีที่ผ่านมาถูกประเมินมูลค่าสูงถึงกว่า 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์ ในช่วงที่มีข่าวว่าบริษัทเตรียมกำลังจะ IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์

 

ซึ่งก็ด้วยการเตรียมจะ IPO นี้เอง ที่ทำให้สารพัดปัญหาที่หมักหมมอยู่ภายใต้หน้ากากอันสวยหรูที่เรียกว่าสตาร์ทอัพยูนิคอร์นถูกเปิดเผยออกมา จากเอกสารไฟลิ่ง S-1 ที่ยื่นให้ SEC หรือ ก.ล.ต. สหรัฐฯ

 

น้ำไม่ได้ลดแต่ตอต้องผุด เพราะจะเข้าตลาด

เป็นธรรมดาของสตาร์ทอัพที่ในช่วงแรกๆ จะต้องเผาเงิน ยอมขาดทุนเพื่อเน้นการเติบโต 

 

ปี 2016 ขาดทุน 429 ล้านดอลลาร์ จากรายได้ 436 ล้านดอลลาร์ 

 

ปี 2017 ขาดทุน 890 ล้านดอลลาร์ จากรายได้ 886 ล้านดอลลาร์ 

 

ปี 2018 ที่ผ่านมาขาดทุน 1.6 พันล้านดอลลาร์ จากรายได้ 1.8 พันล้านดอลลาร์

 

ขณะที่ครึ่งปีแรกของ 2019 ขาดทุนไปแล้ว 904 ล้านดอลลาร์ จากรายได้ 1.54 พันล้านดอลลาร์

 

WeWork

 

ตามปกติแล้วบริษัทที่สามารถเติบโตหรือสเกลไปได้จนถึงระดับหนึ่ง อัตราการขาดทุนจะเริ่มลดลง แต่ทว่าตรงกันข้ามกับ WeWork ที่ยิ่งเติบโต สมาชิกยิ่งเพิ่มกลับยิ่งขาดทุน เท่ากับว่าโมเดลธุรกิจหลักของ WeWork ไม่มีแนวโน้มจะสามารถทำกำไรได้เลย

 

อีกส่วนหนึ่งคือ WeWork ไปเช่าตึกเอาไว้เป็นระยะยาวประมาณ 15 ปี คิดเป็นค่าใช้จ่ายที่รออยู่ประมาณ 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์ ทว่ารายได้ที่คาดว่าจะได้แน่ๆ มีเพียง 4 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น ไม่รวมว่าลูกค้าของ WeWork ส่วนใหญ่เป็นสตาร์ทอัพหรือฟรีแลนซ์ ที่อาจเช่าพื้นที่หรือเป็นสมาชิกแค่เพียงระยะเวลาไม่นาน ดังนั้น WeWork ไม่มีอะไรการันตีเรื่องรายได้ในอนาคตเลย ขณะที่มีรายจ่ายตายตัวล่วงหน้าไปแล้วถึง 15 ปี

 

WeWork

 

นอกจากปัญหาโมเดลธุรกิจ เอกสารไฟลิ่ง S-1 ยังเปิดเผยให้เห็นถึงปัญหาธรรมาภิบาลของ WeWork ด้วยที่หลักๆ มาจากตัวซีอีโอ Adam Neumann เอง อาทิ เช่น Neumann เป็นเจ้าของตึก 4 แห่งที่ WeWork ไปเช่า, นำเงินบริษัทไปซื้อเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว, กู้เงินบริษัทในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตลาด เพื่อเอาไปใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายส่วนตัว หรือที่หนักที่สุดคือ Neumann จดทะเบียนชื่อบริษัท WE ผ่านบริษัทโฮลดิ้งของตัวเอง เท่ากับว่า WeWork ต้องจ่ายเงินให้ Neuman 5.9 ล้านดอลลาร์เพื่อนำเครื่องหมายการค้า WE มาใช้งาน

 

ปัญหาคือ ไฉนบอร์ดผู้ถือหุ้นถึงยอมให้ Neumann ทำอะไรตามใจอย่างนี้ 

 

ก็เพราะหุ้น WeWork ถูกแบ่งเป็น 3 คลาส โดยคลาสที่ Neumann ถืออยู่มีสิทธิ์โหวตสูงสุด (สิทธิ์โหวตของ Neumann สูงกว่า SoftBank ที่ถือหุ้นเยอะสุดด้วยซ้ำ) ขณะเดียวกันหากตัวเขาตาย Rebekka ภรรยาเขาก็มีสิทธิ์ตั้งซีอีโอคนใหม่ขึ้นมาได้โดยไม่ต้องผ่านบอร์ดเลยด้วยซ้ำ ไม่รวมพฤติกรรมส่วนตัวของ Neumann ที่น่าปวดหัวอย่างการติดกัญชาและแอลกอฮอล์ ไปจนถึงการที่อยู่ๆ ก็ขายหุ้นตัวเองออกไปทั้งที่อยู่ในขั้นตอน IPO 

 

ยัง… ยังไม่หมด

 

อีกหนึ่งปัญหาที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนมาพบเจอจากเอกสาร S-1 คือ โครงสร้างองค์กรของ WeWork มีความแปลกประหลาดและซับซ้อน หลัง Neumann ได้ตั้งบริษัท We Co. ขึ้นมาเป็นบริษัทโฮลดิ้ง ซึ่งนักวิเคราะห์บอกว่าจุดประสงค์ก็เพื่อลดการเสียภาษีของกลุ่มผู้บริหารเดิม 

 

ปัญหาทั้งหมดที่ถูกเปิดเผยออกมาส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้มูลค่าของ WeWork ดิ่งฮวบฮาบหลังวันที่ 14 สิงหาคมที่บริษัทยื่นเอกสารไฟลิ่ง S-1 

 

คิดอะไรไม่ออกบอก SoftBank 

เมื่อความไม่เวิร์กของ WeWork ถูกเปิดเผยออกมาจนส่งผลต่อความสนใจของนักลงทุน WeWork เลยถูกทาง SoftBank ที่ถือหุ้นอยู่ 29% กดดันให้เลื่อนการ IPO ออกไป โดยก่อนหน้านี้กำหนดเบื้องต้นคือภายในสิ้นปี ก่อนที่วันจันทร์ที่ผ่านมา (1 ตุลาคม) บริษัทจะยื่นหนังสือไปยัง ก.ล.ต. สหรัฐฯ เพื่อขอยกเลิกการ IPO แล้ว โดยให้เหตุผลว่าจะกลับไปโฟกัสกับธุรกิจหลักก่อน ซึ่งรวมถึงการแก้ปัญหาต่างๆ อย่างการปรับโครงสร้างบริษัทและลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นทั้งหมดออกไป

 

แน่นอน Adam Neumann ถูกบีบให้ออกเนื่องด้วยเป็นหนึ่งในต้นตอของปัญหาทั้งหมด ก่อนที่ Artie Minson ซีเอฟโอ และ Sebastian Gunningham รองประธานของบริษัท จะถูกตั้งขึ้นมาเป็นซีอีโอร่วมทำงานแทน ขณะเดียวกันก็มีข่าวว่า SoftBank จะส่งซีโอโอของบริษัทเข้ามากู้สถานการณ์ด้วย

 

การที่ WeWork ไม่สามารถ IPO ได้ ทำให้บริษัทพลาดเงินจากการระดมทุน ที่ตอนแรกตั้งไว้ว่าจะได้ราว 4 พันล้านดอลลาร์ ไม่รวมเงินกู้อีกราว 6 พันล้านดอลลาร์ จาก JP Mogan และ Goldman Sachs และด้วยอัตราการเผาเงินและภาระหนี้สินที่ WeWork มี ทำให้ประเด็นเรื่องการล้มละลายถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง โดยนักวิเคราะห์คาดว่าด้วยเงินสดที่เหลืออยู่ WeWork จะอยู่รอดได้ไม่เกินครึ่งปีหน้า อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ SoftBank ลงทุนใน WeWork ไปแล้วค่อนข้างเยอะ คงไม่ใช่เรื่องที่จะปล่อยให้ล้มไปง่ายๆ บริษัทเลยให้เงิน WeWork เพิ่มไปอีก 1.5 พันล้านดอลลาร์ ทำให้ตอนนี้ SoftBank ลงทุนใน WeWork ไปแล้ว (ทั้งลงทุนตรงและผ่าน Vision Fund) ราว 1 หมื่นล้านดอลลาร์

 

แน่นอน ปัญหาของ WeWork ยังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยัง SoftBank ด้วย เพราะทำให้ SoftBank Vision Fund ต้องรายงานการขาดทุนจากมูลค่าที่ลดลง ไปจนถึงอาจทำให้กองทุนใหม่อย่าง Vision Fund 2 ได้รับเงินสนับสนุนน้อยลงไปด้วย 

 

ถอดบทเรียนระดมทุนได้ก็เจ๊งได้

จากปัญหาทั้งหมดทั้งมวลที่นำไปสู่คำถามว่า หรือ WeWork อาจจะล้มละลาย ถูกหยิบยกขึ้นมาเทียบกับ Theranos สตาร์ทอัพด้านสุขภาพที่ Elizabeth Holmes ผู้ก่อตั้งที่หว่านล้อมนักลงทุนว่าสามารถพัฒนานวัตกรรมด้านการตรวจเลือดแบบใหม่ พลิกโฉมวงการแพทย์ด้วยการใช้เลือดไม่กี่หยด ก็สามารถได้ผลอย่างรวดเร็ว จนสามารถระดมทุนได้หลายหมื่นล้าน กลายเป็นสตาร์ทอัพยูนิคอร์นแห่งยุคอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนจะถูกแฉว่าทั้งหมดเป็นเพียงเรื่องลวงโลกและไม่สามารถทำได้จริง

 

WeWork

 

โอเคว่า WeWork อาจไม่ได้ลวงโลกขนาด Theranos เพราะอย่างน้อยก็มีธุรกิจ มีบริการที่จับต้องได้จริง แต่ที่เหมือนน่าจะเป็นการหว่านล้อมนักลงทุนของ Neumann ที่ขายความเป็น Tech Startup ขายโมเดลการเอาข้อมูล (Data) พฤติกรรมการใช้งานในออฟฟิศของสมาชิก WeWork ไปต่อยอด แต่เนื้อในของ WeWork จริงๆ แล้วไม่มีความใกล้เคียง Tech Startup เลยด้วยซ้ำ เพราะเป็นแค่บริการออฟฟิศให้เช่า (Serviced Office) ไม่แตกต่างจากรายอื่นที่มีมาก่อนแล้วอย่าง Regus (ที่เคยเกือบล้มละลายมาแล้วช่วงฟองสบู่ดอตคอม) ด้วยซ้ำไป แถมโมเดลธุรกิจก็ดูไม่น่าจะเวิร์กเหมือนชื่อ แต่กลับสามารถดึงเงินจากนักลงทุนรายใหญ่ที่ขึ้นชื่ออย่าง Masayoshi Son แห่ง SoftBank ให้มาลงทุนได้มากขนาดนี้ 

 

ในมุมของสตาร์ทอัพและนักลงทุน การยอมขาดทุนในช่วงแรกเพื่อเติบโตถือเป็นเรื่องเข้าใจได้และจำเป็น แต่สิ่งที่สำคัญคือโมเดลธุรกิจที่จะต้องแข็งแกร่งในระยะยาว ที่จะช่วยให้บริษัทสามารถกลับมาทำกำไรได้ในภายหลังเมื่อเติบโตไปถึงจุดหนึ่ง 

 

เช่นเดียวกับมูลค่าทางธุรกิจ (Valuation) ของสตาร์ทอัพจะไร้ค่าไปในทันที หากไม่สามารถเปลี่ยนมูลค่าดังกล่าวที่ส่วนใหญ่มาจากการระดมทุนและเติบโตอย่างรวดเร็วให้กลายเป็นมูลค่าที่สะท้อนธุรกิจของบริษัทได้อย่างแท้จริง

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X