มาตรการคว่ำบาตรรัฐบาลรัสเซียระลอกล่าสุดของเหล่าพันธมิตรชาติตะวันตก นำโดยสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (EU) ถือเป็น ‘ลูกซัลโว’ ที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าจะเป็นหมัดเด็ดที่สามารถฝ่าปราการป้องกันทางการเงินที่แข็งแกร่งของรัสเซีย และทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของรัสเซียถดถอยลงอย่างรุนแรง
โดยทางสถานีโทรทัศน์ CNN รายงานอ้างอิงนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งที่ออกมาแสดงความเห็นว่า ระดับของการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของรัสเซียในเวลานี้ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งเมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขของมาตรการที่มีอยู่ มีความเป็นไปได้สูงว่ารัสเซียจะต้องเผชิญกับวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ที่ทำให้ธนาคารรายใหญ่ในรัสเซียเสี่ยงพังทลาย
ทั้งนี้ บรรดาพันธมิตรชาติตะวันตกได้ให้นิยามความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ว่า เป็นสงครามเศรษฐกิจที่มีขึ้นเพื่อลงโทษประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ที่จุดชนวนสงคราม และตอกย้ำว่า ปูตินเป็นผู้ที่นำพารัสเซียไปสู่ความโดดเดี่ยวบนเวทีโลก เป็นรัฐบาลที่ถูกนานาชาติคว่ำบาตร
ขณะเดียวกัน ก็นับเป็นครั้งแรกที่นานาชาติพร้อมใจงดทำธุรกรรมกับทางธนาคารรายใหญ่หลักๆ ของรัสเซีย รวมถึงการถอนธนาคารรัสเซียออกจากระบบ SWIFT ควบคู่ไปกับการอายัดทรัพย์สินของบุคคลสำคัญหรือมีความใกล้ชิดกับรัฐบาลรัสเซีย
โอลิเวอร์ อัลเลน นักเศรษฐศาสตร์ตลาดของ Capital Economics กล่าวว่า การตัดสินใจครั้งล่าสุดของพันธมิตรชาติตะวันตกถือเป็นเซอร์ไพรส์สำหรับนักวิเคราะห์และนักลงทุนในตลาด เพราะถือเป็นครั้งแรกที่มีการเดินหน้ากดดันรัสเซียด้วยมาตรการที่เห็นผลในทันทีอย่างการพยายามตัดรัสเซียออกจากระบบการเงินโลก
ทั้งนี้ ทางด้าน Oxford Economics ประเมินว่า มาตรการคว่ำบาตรเหล่านี้จะทำให้ GDP ปี 2022 ของรัสเซียหายไปมากถึง 6 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ทางเจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ รายหนึ่งระบุว่า เป้าหมายมาตรการคว่ำบาตรค่อนข้างมีความชัดเจนอยู่แล้ว กล่าวคือ หากรัสเซียเดินหน้าบุกยูเครน รัสเซียก็ต้องเตรียมใจยอมรับกับการถดถอยหรือภาวะล่มสลายทางเศรษฐกิจ
แม้จะไม่ใช่ครั้งแรกที่รัสเซียต้องเผชิญกับสารพัดมาตรการคว่ำบาตร จนแทบจะเรียกได้ว่าชินชา แถมประสบการณ์ที่ผ่านมายังทำให้รัสเซียมีแนวทางป้องกันรับมือมาตรการคว่ำบาตร แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า การคว่ำบาตรในครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อน เพราะพุ่งเป้าไปที่ระบบการเงินการธนาคารของรัสเซียโดยตรง ท่ามกลางบริบทแวดล้อมและสภาพสังคมที่เพิ่งฟื้นตัวจากวิกฤตการระบาดครั้งใหญ่
ดังนั้นในเวลานี้หลายฝ่ายต่างจับตามองท่าทีของรัฐบาลรัสเซีย โดยเฉพาะทางธนาคารกลางรัสเซีย ว่าจะมีการตอบสนองอย่างไรต่อไป หลังจากที่ต้องออกมาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขนานใหญ่มาอยู่ที่ 20 เปอร์เซ็นต์ เพื่อสกัดไม่ให้ค่าเงินรูเบิลดิ่งหนัก โดยรวมถึงการหาระบบการเงินที่จะยังคงทำให้การค้าขายส่งออกของรัสเซียยังคงเดินหน้าต่อไปได้ ตลอดจนหาแนวทางรับมือในกรณีที่ชาติตะวันตกยอมแบกรับราคาพลังงานแพงด้วยการแบนน้ำมันและก๊าซของรัสเซีย
อ้างอิง:
- https://edition.cnn.com/2022/03/01/business/russia-economy-sanctions/index.html
- https://edition.cnn.com/2022/03/01/business/oil-ukraine-russia-putin/index.html
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP