จากประเด็นที่ประเทศฝั่งตะวันตก ได้แก่ สหรัฐฯ แคนาดา สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป ได้ออกมาตรการคว่ำบาตรพลเมืองและหน่วยงานบางแห่งของจีน ด้วยเหตุผลว่าเป็นเพราะบุคคลและหน่วยงานเหล่านี้มีพฤติกรรมละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอุยกูร์ในซินเจียง
โดยสหภาพยุโรปเป็นรายแรกที่ออกมาตรการคว่ำบาตร โดยมีเป้าหมายที่พลเมืองจีน 4 ราย และหน่วยงานจีน 1 แห่ง ส่วนสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และแคนาดา ก็ได้ออกมาตรการคว่ำบาตรลักษณะดังกล่าวเช่นกัน
อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ แคนาดา และสหราชอาณาจักร มองว่ามาตรการคว่ำบาตรเหล่านี้เป็นการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์เป็นส่วนใหญ่ และคาดว่าไม่น่าจะกระทบเศรษฐกิจและพฤติกรรมของจีนมากนัก
ด้านรัฐบาลจีนก็ได้ออกมาตรการคว่ำบาตรตอบโต้ชาติตะวันตกทันที โดยได้ประกาศคว่ำบาตรบุคคล 10 ราย และหน่วยงาน 4 แห่งในยุโรป
ธีรดา ชาญยิ่งยงค์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ฟิลลิป (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นที่น่าจับตามากขึ้น หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายไปในระดับหนึ่ง ทำให้แต่ละประเทศเริ่มกลับมาให้ความสำคัญกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อย่างที่มีประเด็นระหว่างสหรัฐฯ กับจีนก่อนหน้านี้
“ประเด็นอุยกูร์ก็เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องภูมิศาสตร์การเมืองที่ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นระหว่างประเทศได้ง่าย ซึ่งในฝั่งของจีนก็คงจะมีการตอบโต้เช่นกัน ในส่วนนี้คงต้องติดตามดูต่อไปว่าจะกระทบมายังเศรษฐกิจหรือไม่ โดยเฉพาะการเจรจาทางการค้าในเวทีต่างๆ”
อย่างไรก็ตาม ในยุคของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาจใช้การเจรจามากขึ้น แต่ก็คงจะไม่ราบเรียบไปทั้งหมด
ส่วนประเด็นการอ่อนค่าของค่าเงินลีราของตุรกี 15% เมื่อวานนี้ (22 มีนาคม) หลังจากที่รัฐบาลสั่งปลดผู้ว่าการธนาคารกลางของตุรกี อาจทำให้เงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคผันผวน ขณะที่เงินสกุลหลักอย่างดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้น แต่โดยรวมยังเป็นเพียงเซนติเมนต์ ส่วนผลกระทบโดยตรงจะเกิดกับธุรกิจที่มีการค้าขายกับตุรกี ซึ่งในส่วนของไทยมีค่อนข้างน้อยมาก
ด้าน ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ปัญหาระหว่างสหภาพยุโรปและจีน ล่าสุดยังไม่ได้ลุกลามไปในส่วนของเศรษฐกิจ โดยยังเป็นเพียงการคว่ำบาตรทางการเมือง
“เบื้องต้นประเด็นดังกล่าวยังเกิดขึ้นในทางการเมืองเท่านั้น ตราบใดที่ยังไม่มีการกีดกันทางการค้า หรือมีมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ถือว่ายังมีน้ำหนักน้อยอยู่ แต่ส่วนนี้ก็ต้องติดตามต่อไปว่าจะมีมาตรการเพิ่มเติมระหว่างกันออกมาหรือไม่”
ส่วนประเด็นการอ่อนค่าของค่าเงินลีรา โดยส่วนตัวมองว่าคงไม่ได้กระทบกับเงินดอลลาร์เท่าใดนัก เพราะปัจจุบันเงินดอลลาร์ผูกอยู่กับเงินสกุลหลักอื่นๆ ซึ่งไม่ได้รวมถึงเงินตุรกี แต่สิ่งที่กังวลมากกว่าคือ การอ่อนค่าของเงินตุรกีจะทำให้เงินสกุลอื่นๆ ในกลุ่ม Emerging Market และ Frontier Market อ่อนค่ารุนแรงตามไปด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีสภาพเศรษฐกิจเปราะบางคล้ายกับตุรกี หรือยังมีความน่ากังวลในเรื่องของเงินเฟ้อ
“หากดูจากข้อมูลล่าสุด การอ่อนค่าของเงินตุรกียังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ มากนัก ในขณะที่เงินดอลลาร์ก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ในเบื้องต้นจึงคิดว่าน่าจะเบาใจได้สำหรับประเด็นนี้”
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า