“ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่รายการไมค์เปลี่ยนชีวิต!”
รายการประกวดร้องเพลงสุดฮิต ที่เรื่อง ‘เศร้า’ มีผลต่อ ‘เสียง’ ของผู้เข้าแข่งขัน ยิ่งเรื่องราวเบื้องหลังเต็มไปด้วยความลำบาก ยิ่งมีโอกาสคว้าเงินรางวัล!
คอนเซปต์ดังกล่าวเป็นเพียงการ ‘สมมติ’ ที่เราเดาว่า สะอาด (นักวาดการ์ตูนเจ้าของผลงาน ชายผู้ออกเดินทางตามเสียงของตัวเอง, การศึกษาของกระป๋องมีฝัน ฯลฯ) คงจินตนาการขึ้นมาจากความฝัน แล้วนำเสนอออกมาใน ‘เด็กหญิงป๋วย กับไมค์เปลี่ยนชีวิต’ การ์ตูนความยาว 26 หน้า ที่ทำให้หลายคนอ่านแล้วหน้าชาอยู่เหมือนกัน
ป๋วย คือเด็กหญิงอายุ 13 ปี ที่ครอบครัวโดนพิษโควิดเล่นงาน จนกลายเป็นความหวังหนึ่งเดียวของที่บ้าน เข้ามาชิงเงินล้านจากรายการไมค์เปลี่ยนชีวิต
“หนูอยากเป็นนักร้อง ที่ใช้เสียงของตัวเองเปลี่ยนชีวิตครอบครัวให้ได้ค่ะ”
บาร์คะแนนความเห็นใจพุ่งขึ้นเพียงแค่ช่วงแนะนำตัว ไมค์เปลี่ยนชีวิตถูกกำแน่นอยู่ในมือคู่เล็กๆ ป๋วยหลับตา รวบรวมความกล้า ตะโกนเนื้อเพลงที่เธอแต่งขึ้นมา ซึ่งเราต้องยืนยันอีกครั้งว่า นี่เป็นเพียงเรื่องราวสมมติในการ์ตูนเท่านั้น!
“ร้าบานเฮงซวย สุดห่วยเกิ๊นจะบรรยาย คุณจ๊ะปล่อยให้คนตายอีกกี่โค้น
“ภาษีเราคุณเอาไปใช้เพื้อใคร พ่วกเราไม่ใช้คนรึไง้ ก็เกิดเป็นคน ตายเป็นคน เหมือนคุณแหละว้า”
ถ้ามองจากการผันวรรณยุกต์ เดาได้ไม่ยากว่าเสียงที่ป๋วยร้องออกมาคงเพี้ยนจนกู่ไม่กลับ แต่นั่นไม่เคยเป็นเรื่องสำคัญสำหรับรายการร้องเพลงประเภทนี้ มีเพียงคอมเมนต์เรื่องเสียงร้องสั้นๆ เป็นพิธี นอกจากนั้นก็ไม่มีกรรมการคนไหนสนใจ นอกจากการพุ่งเป้า ‘สั่งสอน’ ปรับทัศนคติให้หลาบจำ
“การเอาแต่โทษคนอื่น ไม่มีทางทำให้หนูประสบความสำเร็จ”
“ป๋วยอาจจะยังไม่รู้ ว่าตัวหนูเองถือว่าโชคดีแล้วนะลูก”
“หนูอย่าออกมาเรียกร้องเย้วๆ เลยลูก มีแต่จะเสียแฟนคลับเปล่าๆ”
กรรมการพูดด้วยรอยยิ้มหวังดี แต่ทันทีที่เริ่มอธิบาย ทุกคนก็ยกป้ายกากบาทให้ไม่ผ่านมาตรฐานการตัดสิน
ความหวังที่จะใช้ ‘ไมค์เปลี่ยนชีวิต’ แทบสลาย ป๋วยกลายเป็นเด็กวายร้ายในสายตากรรมการ (ที่กุมคะแนนตัดสิน 90% เอาไว้) ผิดกับเสียงโหวตจากทางบ้านที่ลงคะแนนให้ ‘เนื้อเพลง’ ของเธออย่างท้วมท้น ช่วยให้ป๋วยคว้าเงินล้านได้ในที่สุด
เมื่อแบ่งเงินใช้หนี้และเก็บสำรองให้ครอบครัวเรียบร้อย ป๋วยเตรียมเก็บเงินส่วนหนึ่งไว้เป็นทุนสำหรับทำเพลงเพื่อประท้วงรัฐบาลต่อไป เพราะรู้ดีว่าปัญหาที่ทำให้เธอและคนอื่นๆ ลำบากฝังรากลึกมากกว่านั้น
“หนูอยากจะใช้ไมค์นี้ เปลี่ยนชีวิตครอบครัวของหนูและทุกๆ คน ด้วยการสู้ให้เกิดรัฐสวัสดิการให้ได้ค่ะ”
เพราะการประกวดร้องเพลงไม่อาจเปลี่ยนชีวิตได้ทุกคน และการรอรับเศษเงินเยียวยาก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ผ่านไปเพียงชั่วคราว ‘รัฐสวัสดิการ’ คือหนึ่งในหนทางสู่การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนอย่างยั่งยืน
สุดท้ายเราได้แต่หวังว่า ลายเส้นและเรื่องราวของสะอาด ที่ว่าด้วยการใช้เสียงเพื่อ ‘Call out’ บอกเล่าประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างตรงไปตรงมา แล้วได้รับเสียงปรบมือและการสนับสนุนจากประชาชน มีผู้คนให้ความร่วมมือช่วยกันผลักดันให้เกิดรัฐสวัสดิการ จะไม่ได้มีความหวังเป็นแค่เรื่องสมมติบนหน้ากระดาษ
แต่สามารถเกิดขึ้นบนโลกแห่งความจริงได้ในอนาคตอันใกล้นี้
สามารถอ่านการ์ตูนเรื่อง เด็กหญิงป๋วย กับไมค์เปลี่ยนชีวิต แบบเต็มๆ ได้ที่:
https://www.facebook.com/media/set?vanity=saartanis&set=a.366909124801811
และติดตามรายการ #โลกคือการ์ตูน ที่ THE STANDARD POP ชวนสะอาดมาพูดคุยถึงประเด็นต่างๆ ในเรื่อง One Piece ได้ที่นี่: