×

วีระ ธีรภัทร กับปัจฉิมกถา ถอดรหัสประวัติศาสตร์เสียกรุงศรีอยุธยา-สถาปนากรุงธนบุรี

25.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • ไม่บ่อยครั้งนักที่จะได้ฟัง ‘วีระ ธีรภัทร’ ขึ้นกล่าวบนเวที ส่วนใหญ่แล้วจะได้ฟังจากรายการวิทยุที่เขาเป็นผู้จัดรายการ ซึ่งช่วงที่พีกมากที่สุดในชีวิตเขา ว่ากันว่ารายการในช่วงบ่ายยามนั้นทุบเรตติ้งคลื่นวิทยุอื่นทั้งหมด
  • นอกจากความสนใจเรื่องเศรษฐกิจ เขายังสนใจด้านประวัติศาสตร์ และนี่คือการถอดบทเรียน ถอดรหัสประวัติศาสตร์จากการศึกษาของเขาสู่ห้วงเวลาปัจจุบัน ผ่านเหตุการณ์ 250 ปี เสียกรุงศรีอยุธยา-สถาปนากรุงธนบุรี
  • แม้ว่าจะเป็นปัจฉิมกถาซึ่งเป็นการกล่าวแต่เพียงในงานนี้ แต่เชื่อว่าน่าจะเป็น ปฐมบทให้ทุกคนได้ขบคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามยุคสมัยเพื่อย้อนมองกลับมาที่ปัจจุบัน

     เป็นเวลา 51 ปี หรือ 5 ทศวรรษแล้ว ที่มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ได้ถือกำเนิดขึ้นในวงวิชาการของประเทศไทย หากนับตั้งแต่ปี 2509 ซึ่งขณะนั้นยังมีสถานะเป็นเพียงโครงการ ก่อนที่ในต้น พ.ศ. 2521 จะได้จดทะเบียนก่อตั้งฐานะเป็นมูลนิธิตามกฎหมาย ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญในการผลิตและส่งเสริมให้มีตำราภาษาไทยที่มีคุณภาพ จากวันนั้นจวบวันนี้ ภารกิจสำคัญนั้นยังคงทำอย่างต่อเนื่องและจะยาวนานตลอดไป

     ปีนี้ พุทธศักราช 2560 มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จับมือทำงานร่วมกับมูลนิธิโตโยต้า ประเทศไทย จัดสัมมนาวิชาการประจำปีในหัวข้อ ‘250 ปี เสียกรุงศรีอยุธยา-สถาปนากรุงธนบุรี 2310-2560’ ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กรุงเทพฯ มีการจัดเวทีเสวนาที่เกี่ยวข้องในอีกหลายหัวข้อย่อย ส่วนผู้ร่วมเสวนาเป็นนักวิชาการและบุคคลจากหลายแวดวง โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับภูมิภาคอุษาคเนย์ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำโดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะเลขานุการมูลนิธิ

     การจัดงานเมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา มีไฮไลต์สำคัญหนึ่งที่น่าสนใจ ในช่วงท้ายสุดของการจัดเสวนาครั้งนี้ได้เชิญ วีระ ธีระภัทรานนท์ หรือวีระ ธีรภัทร นักจัดรายการวิทยุ นักเขียน คอลัมนิสต์ และพิธีกรที่มีลีลาและการพูดในการจัดรายการที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองมากล่าวปัจฉิมกถาในงานนี้ด้วย

 

 

เปิดฉาก 30 นาทีแห่งปัจฉิมกถาจาก ‘วีระ ธีรภัทร’

     บรรทัดต่อจากนี้ไปคือ 30 นาทีที่น่าสนใจจากการเก็บความและเรียบเรียง ปัจฉิมกถาดังกล่าวเพื่อชวนสังคมขบคิดในห้วงเวลาที่บรรจบครบรอบ 250 ปีแห่งการเสียกรุงศรีอยุธยาและเริ่มต้นสถาปนากรุงธนบุรี หากแต่ปัจจุบันเราอยู่ในยุคสมัยที่เรียกว่ากรุงรัตนโกสินทร์ และกำลังคาดหวังว่าจะเป็นไทยแลนด์ 4.0

     วีระ ธีรภัทร เป็นใคร หลายคนอาจแค่เคยได้ยินชื่อ หรือได้ยินเรื่องเล่าตามๆ กันมาว่าเป็นนักจัดรายวิทยุที่ฝีปากจัดจ้าน มีลูกล่อลูกชน กับต้นสายที่มักโทรเข้ามาร่วมพูดคุยในรายการ นอกจากจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องเศรษฐกิจ เพราะเป็นอดีตนักข่าวเศรษฐกิจระดับบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์ค่ายสีบานเย็น แต่ก็ยังสนใจปัญหาบ้านเมืองอื่นๆ แม้กระทั่งเรื่องประวัติศาสตร์และการท่องเที่ยว จบการศึกษาด้านรัฐศาสตร์จากรั้วแม่โดม เรียกว่าคร่ำหวอดในแวดวงสื่อและติดตามเหตุบ้านการเมืองของประเทศนี้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าใคร

 

 

พ.ศ. 2310-2325 ช่วงเวลาที่น่าสนใจของอยุธยา

     ผมอ่านหนังสือที่มูลนิธิที่ได้แปลเป็นภาษาไทย จากหนังสือที่ชื่อว่า ‘Thailand: A Short History’ ของ เดวิด เค. วัยอาจ (David K. Wyatt) ที่ชื่อว่า ‘ประวัติศาสตร์ไทยฉบับสังเขป’ ในหน้า 176 มีข้อความที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นบทสรุป

     กล่าวคือในปี 2324 ความคิดส่วนใหญ่ในกลุ่มคนชั้นนำได้เริ่มปรากฏออกมาว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีจะต้องถูกปลดจากบัลลังก์เพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม

     ผมหยิบคำพูดในหน้า 176 มา ณ ที่นี้เพื่อจะบอกว่า ช่วงสมัยที่เรากำลังพูด ถ้าเรามองเฉพาะการเสียกรุงศรีอยุธยาในปี 2310 แล้วมองการเปลี่ยนแปลงในช่วงก่อนหน้าหลังอาจจะต่อภาพได้ไม่ชัด

     ผมว่าบทสรุปการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีการวางแผนล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ปี ถ้ามีฉันทามติมาตั้งแต่ปี 2324 ตามบทสรุปที่เป็นข้อสังเกตของ เดวิด เค. วัยอาจ ซึ่งหนังสือเล่มนี้น่าอ่านมาก เชื่อมโยงได้น่าสนใจ และผมคิดว่ายังไม่เห็นตำราของนักประวัติศาสตร์ไทยที่เขียนเรื่องเกี่ยวกับอยุธยาทั้งผืนได้อย่างสนุกสนาน ต่อร้อยลำดับเรื่อง และวิเคราะห์ได้สนุกขนาดนี้

     สิ่งที่ผมอยากจะตั้งเป็นข้อสังเกตถือว่าเป็นการสรุปรายการ เพราะท่านก็ฟังมา 4-5 หัวข้อ รวมทั้งการถกวงใหญ่เมื่อเช้านี้

     ผมอยากให้มองแบบนี้ ผมถือว่าช่วงเวลาที่เราพูดกันอยู่นี้ ในความคิดเห็นของผม เวลาติดตามเรื่องของอยุธยา ผมคิดว่าช่วงเวลาประมาณ 24-25 ปี เป็นช่วงเวลาที่สำคัญ คำถามคือช่วงเวลาไหน คำตอบก็คือตั้งแต่ พ.ศ. 2301 มาจบที่ พ.ศ. 2325 และถามว่าช่วงนี้เป็นช่วงเหตุการณ์อะไรนั้นจะได้อธิบายต่อ

     เริ่มต้นด้วยเหตุการณ์เสด็จสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ตามด้วย 2 รัชกาลคือ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร และสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ แล้วต่อด้วยช่วงของ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

     24 ปีนี้มีช่วงคั่นที่น่าสนใจที่เป็นเหมือนช่วงคั่นที่จะมีการเล่นโอเปรา

     ทำไมถึงบอกว่าน่าสนใจ

     อาจจะตั้งข้อสังเกตอย่างนี้ ในช่วง 24 ปีนี้ ถ้าเราดูจะเห็นว่าในช่วงสำคัญก็คือปี 2310 คือ 10 ปีแรก เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 คำอธิบายที่ว่าเสียกรุงศรีอยุธยาเพราะอะไร เพราะเกิดความแตกแยกภายในหมู่ผู้นำไทย หรือพม่าแข็งแรงก็สุดแท้แต่

     แต่ถึงกระนั้นก็น่าประหลาดสำหรับคนไทยที่ติดในขวดเวลาของประวัติศาสตร์นิยาย ยังมีการมาถามว่าใครเปิดประตูให้พม่าเข้ามา ผมว่ามันน่าตลกมาก ไม่ต้องเปิดครับประตู เพราะว่าเข้าออกได้หลายทาง ถึงวันนี้ยังมีการถามหาว่าใครเป็นไส้ศึก ผมมองว่าขณะนั้นทุกคนคงไม่คิดว่าใครเป็นไส้ศึก แต่ทุกคนต้องหาทางเอาตัวรอดเป็นสำคัญ รอดแบบไหน อย่างไร ทุกคนก็มีชะตากรรมต่างกัน

     ด้วยเหตุนี้ หลังจากเสียกรุงแล้วทำไมถึงมีการตั้งก๊กกันถึง 4-5 ก๊ก เพราะทุกคนต้องคิดล่วงหน้าว่าจะเอาอย่างนั้น แต่ละคนต้องมีคำตอบว่าจะทำแบบไหน ใครอยู่ในพื้นที่ที่พม่าไม่ได้เข้าไปอยู่ก็จะมีความยืดหยุ่นหน่อย

 

 

จุดพลิกผันประวัติศาสตร์เสียกรุงศรีอยุธยา-สถาปนากรุงธนบุรี

     การสิ้นรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นจุดพลิกผันของประวัติศาสตร์ต่อเนื่องของประวัติศาสตร์กรุงธนบุรี และต่อเนื่องประวัติศาสตร์ช่วงต้นของรัตนโกสินทร์

     ทำไมผมพูดอย่างนั้น คำตอบก็คือว่ามีบุคคลที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ที่สำคัญ 3 บุคคลคือ พระองค์แรก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) และกรมพระราชวังบวรฯ

     เมื่อไปดูว่าแต่ละพระองค์มีพระชนมายุประมาณเท่าไร ในช่วงเวลานั้น รัชกาลที่ 1 พระชนมายุ 22 พรรษา ตอนที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระบรมโกศเสด็จสวรรคต เท่ากับตอนเสียกรุงครั้งที่ 2 พระองค์ท่านจะมีพระชนมายุ 31 พรรษา สมเด็จพระเจ้าตากสิน ซึ่งมีพระชนมายุมากกว่าประมาณ 1-2 พรรษา ถ้าผมจำไม่ผิดก็จะประมาณ 33-34 พรรษา ส่วนกรมพระราชวังบวรฯ เกิดปี 2286 มีพระชนมายุ 15 พรรษาตอนที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคต ท่านพระชนมายุ 24 ปี ตอนเสียกรุงครั้งที่ 2

     เราจะเห็นว่ากลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการยึดกรุงธนบุรี ยึดอยุธยามาจากจันทบุรี เป็นคนที่เกิดในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งอาจจะยังไม่ได้รับราชการสูง เพราะอายุประมาณ 15 ปี สำหรับกรมพระราชวังบวรฯ ก็อาจเป็นแค่มหาดเล็ก รัชกาลที่ 1 พระชนมายุ 22 พรรษา ก็คงรับราชการไปสักระยะหนึ่ง พระเจ้ากรุงธนบุรีก็คงรับราชการไปสักระยะหนึ่งเช่นเดียวกัน

     ส่วนชนชั้นนำในอยุธยาในช่วงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ต่อเนื่องมาสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ และต่อเนื่องมาสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร หรืออาจจะย้อนไปถึงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระด้วย มีเป็นกลุ่มๆ กลุ่มนี้ทั้งหมด ถ้าไม่ตายก็ต้องถูกกวาดต้อนไปพม่า อันนี้เป็นการตัดตอน ตัดสไลด์ข้างบน ผมคิดว่าไม่เช่นนั้นบรรดากลุ่มต่างๆ ข้างล่างนี้ขึ้นมาไม่ได้

     ราชวงศ์บ้านพลูหลวง มีอายุประมาณ 80 ปี แต่มีเพียง 2 รัชกาลเท่านั้นที่ยืนยาว มีรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ถ้าผมบวกลบเลขไม่ผิด ประมาณ 24 ปี รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ 25 ปี นับรวมสองรัชกาลนี้ก็ประมาณ 50 ปี

     ตอนที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคต พระองค์มีพระชนมายุ 73 พรรษา แสดงว่าพระองค์ท่านรอขึ้นครองราชย์นานพอสมควร เพราะหากพระองค์ท่านเสด็จสวรรคตอายุ 73 ปี พระองค์ท่านก็ต้องลบพระชนมายุไปอีก 25 พรรษา ก็ประมาณ 48 พรรษาตอนท่านขึ้นเสด็จครองราชย์

 

 

รัชสมัยต่อเนื่องของราชวงศ์บ้านพลูหลวงที่น่าสนใจ

     ผมคิดว่าช่วงเปลี่ยนผ่านสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระมาเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากๆ ในแง่ของการมองประวัติศาสตร์อยุธยาในแง่ของการเปลี่ยนผ่าน

     เมื่อสมเด็จพระเพทราชาครองราชย์ อังกฤษเกิดการปฏิวัติรุ่งโรจน์ ปี 1688 อันนี้คือการเปลี่ยนแปลงที่กษัตริย์จะเก็บภาษีต้องมาผ่านกฎหมายในรัฐสภาอังกฤษ เป็นครั้งแรกที่รัฐสภาอังกฤษขึ้นมาเคียงข้างกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในอังกฤษ ในสมัยรัชกาลที่ 1 เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส โลกข้างนอกเป็นอย่างนี้ แต่อยุธยา ธนบุรี และต้นรัตนโกสินทร์เป็นรัฐแบบโบราณ หรือเป็นรัฐราชสมบัติ

     ผ่านเหตุการณ์มา 250 ปี วันนี้นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงข้างบน ข้างนอก ผมอยากให้ท่านดู มันมีการปฏิวัติรุ่งโรจน์ในอังกฤษ ปฏิวัติอเมริกา ปฏิวัติฝรั่งเศส นั่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในโลก และตรงนั้นทำให้เกิดรัฐล่าอาณานิคมใน 100 ปีถัดมา

     หากดูการเปลี่ยนผ่านของจักรวรรดิโรมันที่ใช้เวลาประมาณ 40 ปี เปลี่ยนผ่านจากระบบสาธารณรัฐเป็นระบอบเอกาธิปไตย หรือระบอบจักรพรรดิ ประมาณ 40-50 ปี หลังจากแก๊ง 3 นายพลซึ่งจบชีวิตไม่ดีทั้งหมด เนื่องจากแย่งชิงอำนาจกันจึงได้เกิดช่องว่างขึ้น ทำให้มีอีกพวกหนึ่งขึ้นมาเปลี่ยนระบบ ผมคิดว่ามันมีอะไรบางอย่างในประวัติศาสตร์ที่คล้ายๆ กับเมื่อ 250 ปีที่แล้วกับปัจจุบัน นั่นคือเป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่าน

     เมื่อการล่มสลายของอยุธยาตัดตอนคนกลุ่มหนึ่งออกไป แล้วทำให้คนกลุ่มหนึ่งสามารถขึ้นมาได้ ด้วยเพราะอาจจะมีความสามารถทางการทหารเพิ่มเติม

     ผมคิดว่ารัชสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นรัชสมัยที่ทหารเหนื่อยยากมาก เพราะ 4 ปีแรกไม่ต้องทำอะไร ต้องทุ่มเวลาไปกับการจัดการกลุ่มที่เหลือให้หมดก่อน ส่วนอีก 12 ปีที่เหลือก็ต้องเสด็จไปหลายที่ ไปเชียงใหม่ ไปเวียงจันทน์ เขมร ต้องไปกวาดต้อนเอาคนมา และสงครามคือการวางแผนทางเศรษฐกิจ เป็นการลงทุนของสมัยก่อน กรุงอยุธยาที่ล่มไปก็กลับมาเป็นกรุงธนบุรีที่ใหญ่โตขึ้น

     แต่พอถึงจุดหนึ่งก็คิดว่าระบบแบบนี้ไม่น่าจะไปได้ มันน่าจะเป็นระบบที่ต้องเป็นสถาบันมากกว่า และต้องลงตัวมากกว่า

     ผมนั่งอ่านประวัติศาสตร์กรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ได้ทำอะไรที่เป็นเรื่องของการวางแผนสำหรับสืบทอด หรือพูดอีกอย่างก็คือสมเด็จพระเจ้าธนบุรีไม่ได้ให้ทางออกของยุคสมัย เพราะหลังจากสิ้นอยุธยาแล้ว ท่านรวบรวมผู้คน เปิดพื้นที่แล้ว จัดระบบแล้ว แต่ไม่ได้วางระบบการสืบทอดอำนาจ อาจจะเป็นเพราะว่าไม่มีเวลา หรืออาจเพราะว่าคนที่เป็นญาติโตไม่พอหรือโตไม่ทัน เพราะท่านเสด็จสวรรคตเมื่อพระชนมายุประมาณ 46-48 พรรษา

     อีกส่วนหนึ่งผมคิดว่ากลุ่มคนที่สนับสนุนท่านตั้งหลักได้ และมีเวลาพอที่จะตั้งรับ เกาะกลุ่ม เกิดเป็นเน็ตเวิร์ก ซึ่งเป็นลักษณะของสังคมไทยในเชิงของการต่อสู้เรื่องอำนาจ

     สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสร็จศึกสุดท้ายปี 2322 ก็เท่ากับว่าท่านมีเวลาวางแผนเพียง 2 ปีว่าจะทำอะไรต่อ แต่ก็มีกลุ่มคนคิดไว้ก่อนแล้วว่าต้องมีการจัดระบบใหม่ให้เรียบร้อย

 

 

บทสรุปจากการมองประวัติศาสตร์สู่ปัจจุบัน

     คำถามคือว่าเมื่อเราย้อนดูประวัติศาสตร์ 250 ปีตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยาและสถาปนากรุงธนบุรี เราน่าจะสรุปหรือใช้ประสบการณ์จากประวัติศาสตร์มามองปัจจุบัน

     และผมไม่ได้สรุปอะไรเป็นอะไรใหญ่โต เพียงแต่อยากจะตั้งเป็นข้อสังเกตว่าเวลามีการเปลี่ยนผ่านในสังคม สิ่งสำคัญในสังคมไทยจะมีอยู่ 2 ประเด็น ซึ่งผมคิดว่าอาจจะสรุปเป็นข้อคิด

      อันที่หนึ่ง ด้วยลักษณะของการไม่ยอมแชร์อำนาจ การต่อสู้เพื่อชิงอำนาจมักจะจบลงด้วยความรุนแรงและการนองเลือด ผสมกับอะไรบางอย่างที่ไม่ชัดเจนตลอด

     อีกอันหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นสาระสำคัญของการเปลี่ยนผ่าน หัวใจของการเปลี่ยนผ่านอยู่ที่ความจงรักภักดี อันนี้เป็นหัวใจสำคัญ ถ้าสร้างตรงนี้ได้ก็ประสบความสำเร็จ

 

     ผมใช้เวลาพอดี 30 นาที

     ขอบคุณครับ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X