×

การบริหารความมั่งคั่งในภาวะวิกฤตสำหรับผู้ประกอบการ

13.11.2020
  • LOADING...

ธุรกิจประกอบการ SMEs ของไทยในปัจจุบันกำลังเผชิญกับความยากลำบาก แม้แต่ก่อนที่เราจะเจอโรคระบาดโควิด-19 ธุรกิจ SMEs ไทยในยุคดิจิทัลต้องพบกับเหตุการณ์ Technology Disruption ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว จากรูปแบบการผลิตค้าส่งค้าปลีกแบบเดิม ก้าวเข้าสู่ยุคการค้าขายแบบออนไลน์ เกิด Business Platform ต่างๆ ธุรกิจทุกขนาดต้องมีการปรับตัวกันขนานใหญ่ บางแห่งก็ปรับตัวได้ดี แต่หลายแห่งก็ต้องโรยราและปิดตัวลงไป เหตุการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปี 2563 นี้ถือว่าเป็น ‘วิกฤตในวิกฤต’ ที่เข้ามาซ้ำเติมเศรษฐกิจและธุรกิจให้ย่ำแย่เข้าไปอีก เราพบกับเหตุการณ์ปิดเมือง การเดินทางระหว่างประเทศหยุดชะงัก คนอยู่แต่ในบ้านเกิดการกักตุนสินค้าจำเป็น ธุรกิจโรงแรม ท่องเที่ยว และภาคบริการได้รับผลกระทบก่อน เริ่มมีคนตกงานมากขึ้น ผู้มีรายได้น้อยขอรับเงินช่วยเหลือเยียวยา และธุรกิจต่างๆ เริ่มได้รับผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่

 

จนถึงขณะที่เขียนบทความนี้ ผลกระทบทางลบต่อธุรกิจยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าการเปิดเศรษฐกิจภายในประเทศจะกลับมาแล้ว ผู้ประกอบการไทยยังคงฝันร้ายกับสถานการณ์ ยอดขายตกมากแบบไม่เคยเป็นมาก่อน ออเดอร์การขายทั้งในและต่างประเทศถูกเลื่อนหรือยกเลิก สต๊อกสินค้าและสต๊อกวัตถุดิบเหลือมากมาย รายจ่ายเริ่มสูงกว่ารายได้ เริ่มเก็บเงินจากลูกหนี้ไม่ค่อยได้ ผู้คนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น  การจ่ายคืนหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยของธุรกิจแก่ธนาคารเริ่มหยุดชะงัก สภาพคล่องเริ่มขาดแบบรุนแรงในธุรกิจต่างๆ

 

  1. อยู่ดีๆ ก็จนลง สถานการณ์ดังกล่าวข้างต้นกระทบต่อสถานะความมั่งคั่งของผู้ประกอบการ ที่อุตส่าห์พากเพียรสะสมความมั่งคั่งมาเกือบตลอดชีวิต สถานการณ์ที่รายรับน้อยกว่ารายจ่ายทำให้เกิดสภาพ ‘เลือดไหลออกจากตัว’ วิธีหยุดเลือดที่ไหลในเวลานี้ทำได้ไม่กี่อย่าง เช่น ลดรายจ่าย ก่อหนี้เพิ่ม และเอาสินทรัพย์ออกขายเพื่อมาช่วยเพิ่มกระแสเงินสด ไม่ว่าวิธีอะไรก็ทำให้ความมั่นคงลดลง เพราะอย่าลืมว่า 

 

ความมั่งคั่ง = สินทรัพย์-หนี้สิน

 

เหตุการณ์ตอนนี้เหมือนยิ่งซ้ำเติมต่อความมั่งคั่ง เพราะหนี้สินก็ไม่มีท่าทีว่าจะลดกระแสเงินจากกำไรดำเนินงานที่เคยเอามาคืนหนี้ทั้งต้นทั้งดอกตอนนี้ฝืดเคือง ส่วนสินทรัพย์ที่มีอยู่ มูลค่าตลาดก็ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำ แล้วจะทำอย่างไรดี

 

สำหรับผู้ประกอบการแล้ว โปรดจำไว้ว่าความมั่งคั่งของท่านนั้นมี 2 ส่วน ได้แก่ ความมั่งคั่งจากธุรกิจ (Corporate Wealth) และความมั่งคั่งส่วนบุคคล (Personal Wealth) ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้มีความสัมพันธ์กัน การดำเนินธุรกิจที่ได้ผลรุ่งเรืองมาจากอดีตเกิด Corporate Wealth ที่จ่ายเงินเดือน เงินปันผลให้แก่นักธุรกิจส่งผ่านต่อไปยัง Personal Wealth ได้สะสมต่อเรื่อยๆ แถมธุรกิจที่เติบโตนั้นยังมีมูลค่าเพิ่มส่งกลับมายัง Personal Wealth ด้วย

 

แต่ในช่วงภาวะวิกฤตนี้ อยู่ดีๆ ความมั่งคั่งของผู้ประกอบการก็ลดลง ส่วนสำคัญก็คือ มูลค่าสินทรัพย์ทั้งของธุรกิจและของส่วนตัวจะลดลงตามภาวะตลาดในช่วงวิกฤต ใครที่มีหนี้เยอะ เจอมูลค่าสินทรัพย์ลดอีก อาการก็หนักกว่าคนที่มีหนี้น้อย

 

  1. วิชาตัวเบา กลยุทธ์สำคัญในการบริหารความมั่นคงในภาวะวิกฤตนี้ สำหรับผู้ประกอบการก็คือ ‘วิชาตัวเบา’

 

ลองมาทบทวนกันว่า อะไรบ้างที่ทำให้เกิด ‘ความหนัก’ และถ้าลดลงได้จะทำให้ตัวเบาขึ้น

  • เกิดกระแสเงินสดตึงตัวหรือติดลบจากการขาดสภาพคล่อง แม้ว่าจะมีการลดค่าใช้จ่าย แต่ยอดขายยังต่ำกว่าเดิม เงินสดจึงมีน้อยเกินไป
  • หนี้ไม่ลด ดอกเบี้ยวิ่งตลอด
  • สินทรัพย์ถาวร เช่น ที่ดิน โรงงาน ที่เป็น Core Assets ของธุรกิจและสินทรัพย์ลงทุนเริ่มเสื่อมมูลค่า
  • สินทรัพย์หมุนเวียน เช่น สินค้าสำเร็จรูปคงเหลือ วัตถุดิบของเหลือก็เริ่มค้างสต๊อก มูลค่าลดลง

 

2.1 วิชาตัวเบาสำหรับ Corporate Wwealth ในช่วงวิกฤต เก็บ ‘เงินสดของธุรกิจ’ ไว้ให้มากที่สุด

 

ในภาวะแบบนี้ให้จำว่า ‘Cash is king’ กอดเงินสดไว้อุ่นใจที่สุด อาจเริ่มโดยการสำรวจเงินฝากธนาคารที่ปลอดภาระ จะได้รู้ว่ามีเงินสดในหน้าตักตอนเริ่มต้นเท่าใด สิ่งที่ควรทำเป็นลำดับต่อไปคือ ตามเก็บเงินลูกหนี้ อาจให้ส่วนลดจูงใจให้รีบชำระเงิน ขายลดเลหลัง ลดราคาสินค้าคงเหลือ และรีบจ่ายเงินคืนเจ้าหนี้การค้าเพื่อลดภาระ จะทำให้มีเงินสดมาเก็บไว้ในหน้าตักเพิ่มขึ้น

 

  • หยุด ‘เลือดไหล (Cash Flow ติดลบ)’ จากธุรกิจ

ถ้ารายรับน้อยกว่ารายจ่าย จะทำให้สถานการณ์กระแสเงินสดติดลบ เกิดขึ้นเหมือนเลือดไหลออกจากตัว จุดที่เลือดไหลออกใหญ่ๆ ของธุรกิจมี 2 จุดคือ 

 

  1. เงินสดรับจากการขายเมื่อหักเงินสดจ่ายจากการดำเนินงาน ต้องหาทางให้เป็นบวก เช่น ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้
  2. เงินสดจ่ายภาระหนี้ เงินต้น และดอกเบี้ยจ่าย ซึ่งถ้าจากจุดแรกมียอดบวกก็มาดูว่าช่วยจุดที่ 2 นี้ได้หรือไม่ ถ้าสภาพจุดแรกย่ำแย่ก็ต้องเตรียมปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารเพื่อลดภาระการผ่อนชำระ คำแนะนำคือ ทำทุกวิถีทางเพื่อให้พ้นสภาพติดลบ

 

  • ตัดสินใจขายสินทรัพย์บางอย่างของธุรกิจ เพื่อหยุดเลือดไหลหรือเพื่อเก็บเงินสด

 

ถ้าสถานการณ์ยังย่ำแย่ ยังติดลบอีกมาก คราวนี้ต้องอาศัยหลัก ‘ยินยอมสละอวัยวะ เพื่อรักษาชีวิต’ อาจต้องเรียงลำดับมาดูว่า ‘สินทรัพย์ของธุรกิจ’ อะไรบ้างตามความจำเป็นต่อธุรกิจ เช่น จากน้อยไปหามาก แล้วเอาสินทรัพย์ที่จำเป็นน้อยออกขาย โดยต้องทำใจกับราคาสินทรัพย์ที่กำลังตกลงในช่วงวิกฤตเช่นนี้ ต้องกัดฟันแล้วท่องว่า ‘หยุดเลือดไหลสำคัญกว่า’ เมื่อนำออกขายแล้ว นำมาลดภาระหนี้ แล้วถ้าเหลือเงินสดเก็บไว้เพิ่มก็ถือว่าเป็นโชคดีมากๆ

 

  • ทบทวน ‘Core Business Asset’ 

 

ผู้ประกอบการต้องอาศัยจังหวะนี้กลับมาทบทวน Business Model ของตนเองว่า ‘เวทีเดิม’ ยังเล่นอยู่ได้มั้ย คุ้มไหมที่จะอยู่ในตลาดนั้นต่อ หรือต้องเตรียมตัวย้ายหาเวทีใหม่หรือไม่ เวลาย้อนกลับมามองสินทรัพย์ถาวรที่เป็น Core Business มักมองด้วยความภาคภูมิใจในความสำเร็จในอดีตของธุรกิจบนเวทีเดิมที่ผ่านมา ถ้าจะเลิกไปมักจะมีอาการทำใจไม่ได้ หรือของข้าใครอย่าแตะ 

– ถ้ามองว่าเวทีเดิมยังเล่นได้ แต่ภาวะตอนนี้ทำได้แค่หยุดขยาย รักษา และลดขนาด

– ถ้ามองว่าเวทีใหม่เร้าใจกว่า ก็ต้องเตรียมออกจากเวทีเดิม โดยการแบ่งขายสินทรัพย์หรือหาผู้ร่วมทุนใหม่ หรือขายกิจการเป็นต้น

 

2.2 วิชาตัวเบาสำหรับ Personal Wealth ในช่วงวิกฤต

  • สำรวจความมั่งคั่งที่แท้จริงในช่วงวิกฤต

อาจเริ่มต้นสำรวจความมั่งคั่งของส่วนตัวครอบครัวโดย

– สำรวจสินทรัพย์ทั้งหมดที่มีอยู่ มูลค่าลดลงไปเท่าใด และคงเหลือเท่าใด

– สำรวจหนี้สินมีอยู่เท่าใด ภาระผ่อนจ่ายเงินต้นดอกเบี้ยแต่ละหมวดเป็นเท่าใด

– ถ้าสมมติเคลียร์หนี้หมดเลย ความมั่งคั่งที่แท้จริงของครอบครัวเหลือเท่าใดกันแน่ 

– พิจารณาว่าความมั่งคั่งที่เหลืออยู่สามารถนำมาใช้จ่ายเลี้ยงดูครอบครัวได้เดือนละเท่าใด นานกี่ปี และยังคงรับกับยอดเงินนี้ได้หรือไม่

 

  • หยุดอาการเลือดไหลออก

– สำรวจและยอมรับว่ารายได้เงินปันผล และค่าตอบแทนจากธุรกิจอาจไม่ใช่รายรับเท่าเดิม

– ควบคุมค่าใช้จ่าย ถ้าไม่พอต้องดึง Wealth เดิมมาใช้

– ดูค่าใช้จ่ายคงที่ เช่น การคืนเงินต้นและดอกเบี้ยจ่าย ถ้าสูงไปต้องเจรจาเพื่อลดภาระที่ต้องจ่าย

– อย่าปล่อยให้กระแสเงินสดติดลบ

 

  • ตัดใจขายสินทรัพย์บางอย่างเพื่อหยุดเลือดไหล หรือเพื่อเก็บเงินสด

– หากภาระหนี้สูงเกินไป แบกไม่ไหว อาจลดน้ำหนักโดยขายสินทรัพย์ที่จำเป็นน้อยออกไปก่อน การเอาชีวิตรอดไปก่อนสำคัญกว่า ต้องทำใจให้ได้อย่าเสียดาย คิดเสียว่าไม่ตายหาใหม่ได้

– ปรับสัดส่วนพอร์ตการลงทุน โดยลดสินทรัพย์เสี่ยงลงมาอยู่กลุ่มใกล้เคียงเงินสดมากขึ้น ขายขาดทุนบางทีก็ต้องยอม

 

ก่อนจบขอทิ้งท้ายให้กำลังใจแก่ผู้ประกอบการ SMEs ทุกท่านว่า สินทรัพย์ที่สำคัญที่สุดก็คือตัวท่าน (ซึ่งประเมินมูลค่าไม่ได้) การที่ท่านก้าวขึ้นมาเป็นนักธุรกิจได้ แสดงว่าผ่านร้อนผ่านหนาว ความยากลำบากมาไม่น้อย วิกฤตครั้งนี้แค่มาบั่นทอนให้ความมั่งคั่งท่านลดลงก็จริง ถ้าท่านไม่ปล่อยดูดายให้ธุรกิจและตัวท่านกลายเป็นหนี้ NPL ที่คนอื่นมายึดไป ท่านยังมีโอกาสกลับมาใหม่ได้ สู้ๆ นะครับ

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising