×

ความเสี่ยง Provident Fund ที่ยังลงทุนกระจุก! บลจ.กสิกรไทย คาด หุ้นไทยให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ในอีก 10-15 ปีข้างหน้า

24.01.2025
  • LOADING...

บลจ.กสิกรไทย คาด ผลตอบแทนหุ้นไทยในอีก 10-15 ปีข้างหน้าจะลดลงเหลือเพียง 5% ต่อปี และผลตอบแทนส่วนใหญ่มาจากเงินปันผลแทนที่การเติบโต แนะนักลงทุนทั้งรายย่อยและสถาบันมุ่งลงทุนต่างประเทศ 

 

จากบทวิจัย KAsset Capital Market Assumptions (KCMA) ที่จัดทำโดย บลจ.กสิกรไทย ร่วมกับ J.P. Morgan Asset Management เพื่อนำเสนอมุมมองเชิงลึกที่ครอบคลุมแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ผลตอบแทน และความเสี่ยง ของสินทรัพย์กว่า 100 ประเภทในระยะเวลา 10-15 ปีข้างหน้า 

 

ปณตพล ตัณฑวิเชียร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน กล่าวว่า ผลตอบแทนรวม (Total Return) ของหุ้นไทยในอนาคตจะอยู่ที่ราว 5% ต่อปี โดยผลตอบแทนส่วนใหญ่ราว 3.9% จะมาจากเงินปันผล ขณะที่รายได้ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยน่าจะเติบโตเฉลี่ย 4.7% 

 

หากมองในแง่ดี หุ้นไทยจะกลายเป็นสวรรค์ของเงินปันผล เพราะหุ้นไทยส่วนใหญ่อยู่ในเศรษฐกิจยุคเก่า (Old Economy) และบริษัทขนาดใหญ่หลายรายเป็นธุรกิจที่สร้างกระแสเงินสดได้สม่ำเสมอ 

 

“แม้จะขาดปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตที่โดดเด่น แต่ยังมีข้อดีสำหรับการลงทุนในหุ้นไทยนั่นคือ อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล โดยบริษัทจดทะเบียนไทยมีแนวโน้มจะเพิ่มอัตราส่วนการจ่ายเงินปันผลจาก 60% เป็น 63% ของกำไรสุทธิ” บทวิจัยระบุว่า

 

ปณตพลกล่าวต่อว่า การให้มูลค่าหุ้นไทยสะท้อนผ่านค่า P/E จะลดลงสู่ระดับ 14.5 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา โดยหนึ่งในความท้าทายที่สำคัญคือผลิตภาพ (Productivity) โดยรวมของประเทศที่ค่อนข้างต่ำอยู่ที่ระดับ 0.49 ต่ำกว่าประเทศอย่างมาเลเซีย เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และไต้หวัน 

 

วจนะ วงศ์ศุภสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.กสิกรไทย เปิดเผยว่า GDP ของไทยจะเติบโตเฉลี่ย 2.4% ในอีก 10-15 ปีข้างหน้า เนื่องจากความท้าทายหลายด้าน เช่น สังคมสูงอายุ ธุรกิจส่วนใหญ่ที่อยู่ในเศรษฐกิจเก่า รวมทั้งการเข้ามาตีตลาดของสินค้าต่างประเทศ 

 

ความท้าทายเหล่านี้ทำให้ผลตอบแทนที่คาดหวังของหุ้นไทยอยู่ที่เพียง 5% ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะมาจากเงินปันผลมากกว่าการเติบโตของกำไร เพราะฉะนั้นการลงทุนในหุ้นไทยต้องเน้นหุ้นที่มีคุณภาพสูง แต่ก็ไม่ได้มีตัวเลือกมากนัก ทำให้การลงทุนจะกระจุกตัว

 

“ที่น่ากังวลมากกว่านั้นคือ นักลงทุนไม่ว่าจะสถาบันหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) ซึ่งจะเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของคนไทยในอีก 20-30 ปีข้างหน้า ยังกระจุกอยู่กับสินทรัพย์ไทย น่าจะให้ผลตอบแทนไม่เพียงพอ และทางเลือกในการลงทุนก็ค่อนข้างน้อย”

 

ด้าน ดร.แมน ชุติชูเดช รองเลขาธิการกลุ่มงานกลยุทธ์ลงทุนและบริหารผู้จัดการกองทุน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่า ปัจจุบันกองทุนลงทุนในหุ้นไทยเพียง 3-4% จากตราสารทุนทั้งหมด 40% เนื่องจากหุ้นไทยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม Old Economy ทำให้เราต้องกระจายการลงทุนไปยังหุ้นต่างประเทศมากขึ้น 

 

ปัจจุบันสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนของ กบข. อยู่ที่ราว 40% ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้สูงสุด ส่วนอีก 60% ยังอยู่ในตราสารหนี้ แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้เอกชนโลกเพิ่มขึ้นจากต่ำกว่า 3% มาเป็นกว่า 15% ขณะที่ตราสารหนี้เอกชนและรัฐบาลไทยปรับตัวลดลงต่อเนื่อง 

 

ทั้งนี้ กบข. ได้จัดให้มีแผนการลงทุนสำหรับสมาชิก เพื่อเพิ่มทางเลือกและตอบสนองความต้องการของสมาชิกที่ประสงค์จะลงทุนตามความต้องการของตัวเอง โดยสมาชิกต้องพิจารณาผลตอบแทนที่คาดหวังและความเสี่ยงของแต่ละแผนการลงทุนควบคู่กันด้วย ซึ่งมีให้เลือกลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์​ ไม่ว่าจะเป็นตราสารทุนไทยและต่างประเทศ ตราสารหนี้ไทยและต่างประเทศ หรือทองคำ เป็นต้น

 

ธนโชติ รุ่งสิทธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี กล่าวว่า ปัจจุบันการลงทุนต่างประเทศเป็นทางเลือกที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับนักลงทุนไทย รวมทั้งการลงทุนผ่าน Provident Fund 

 

“ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่า Provident Fund กระจายไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้นและเติบโตค่อนข้างสูง แต่ถ้าเทียบเป็นสัดส่วนทั้งหมดก็ถือว่ายังต่ำ เพราะไม่ใช่นายจ้างทุกรายจะเปิดทางเลือกนี้” 

 

สำหรับกองทุน Provident Fund ที่ต้องการเพิ่มทางเลือกการลงทุนต่างประเทศให้กับผู้ลงทุน ก็สามารถทำได้หากคณะกรรมการกองทุนมีมติอนุมัติเพิ่มทางเลือก โดยสามารถปรึกษากับ บลจ. ที่ให้บริการอยู่ 

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือการให้ความรู้กับผู้ลงทุน เพราะแน่นอนว่าตลาดที่ให้ผลตอบแทนสูงก็จะมาพร้อมกับความผันผวนที่สูงขึ้นด้วย 

 

“การเลือกแผนการลงทุนสำหรับแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับความเสี่ยง ถ้าอายุยังไม่มาก เพิ่งเริ่มทำงาน ก็รับความเสี่ยงได้มากกว่า อาจเลือกลงทุนตราสารทุนมากกว่า ทั้งหุ้นไทยและต่างประเทศ โดยกระจายเป็นการลงทุนตามสัดส่วนหุ้นทั่วโลกน่าจะดีกว่า แต่หากเป็นคนที่ใกล้เกษียณก็อาจเลือกลงทุนตราสารหนี้มากขึ้น” 

 

ภาพ: Alexander Spatari / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising