บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI จัดงานแถลงข่าว ‘THAI READY TO TAKE OFF’ ประกาศแผนเตรียมนำหุ้นกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันที่ 4 สิงหาคมนี้ พร้อมประกาศแผน 5 ปีจะลงทุนอีก 1.7 แสนล้านบาท
เฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ได้เปิดเผยถึงแผนการลงทุนระยะ 5 ปีข้างหน้า ที่จะใช้เงินลงทุนสูงประมาณ 170,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนขยายธุรกิจและสร้างการเติบโตในอนาคต โดยแบ่งจัดสรรเงินลงทุน ดังนี้
- จัดหาเครื่องบินใหม่ ประมาณ 120,000 ล้านบาท โดยจะทยอยชำระค่าเครื่องบิน
- ปรับปรุงที่นั่งและภายในเครื่องบิน ประมาณ 20,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
- ลงทุนในระบบดิจิทัลต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน
- ศูนย์ซ่อมบำรุง (MRO) ลงทุนประมาณ 400 ล้านบาทสำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงที่สุวรรณภูมิและดอนเมือง และหากได้รับอนุมัติโครงการ MRO ที่อู่ตะเภา จะมีการลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมงบลงทุน 5 ปี ดังกล่าว
มีกระแสเงินสด 1.25 แสนล้านบาท พร้อมลงทุนอีก 3 ปี
เฉิดโฉม ยืนยันว่า การบินไทยมีกระแสเงินสด (Cash Flow) ในมือประมาณ 125,000 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอสำหรับการลงทุนในปี 2568 – 2570 โดยยังไม่มีแผนกู้เงินใหม่ในระยะใกล้ แต่จะมีการหารือกับธนาคารเพื่อบริหารความเสี่ยงด้านเงินทุนหมุนเวียน
อย่างไรก็ดี สำหรับการจัดหาเครื่องบินใหม่ตั้งแต่ปี 2570 เป็นต้นไป บริษัทจะพิจารณาต้นทุนทางการเงินและแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม รวมถึงการกู้เงินระยะยาว โดยมีการพูดคุยกับสถาบันการเงินและผู้ให้เช่าเครื่องบินแล้ว
ขณะที่ในปี 2570 จะมีการพิจารณาถึงต้นทุนทางการเงินและแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมเป็นอย่างไร หลังเริ่มทยอยรับเครื่องบินลอตแรกซึ่งคาดว่าจะมีการจัดหาเงินกู้ระยะยาวสำหรับรองรับการจัดหาเครื่องบินใหม่ในอนาคตตั้งแต่ในปี 2570 เป็นต้นไป
ภาพ: เฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI
ออกจากฟื้นฟูกิจการ เดินหน้าปั๊มกำไร
โดยการบินไทย ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างต่อเนื่อง จากมูลหนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นขอรับชำระ 41,000 ล้านบาท ก่อนเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ และมติที่ประชุมเจ้าหนี้ให้มีมูลหนี้ที่ต้องรับผิดชอบ 189,000 ล้านบาท บริษัทได้ดำเนินการเจรจาและจัดการหนี้สินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการแปลงหนี้เป็นทุน 53,000 ล้านบาท ชำระหนี้จริงไปแล้ว 21,000 ล้านบาท และลดหนี้ตามเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ของ BOI อีก 19,000 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาส 1/2568 การบินไทยมีมูลหนี้ตามแผนฟื้นฟูรวมถึงหนี้ที่ยังไม่มีคำสั่งถึงที่สุดอยู่ที่ 95,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ อัตราส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (IBD/Equity) ซึ่งเคยสูงถึง 12.5 เท่าก่อนเข้าแผนฟื้นฟู ได้ลดลงเหลือเพียง 2.2 เท่า ณ สิ้นไตรมาส 1/2568 สะท้อนถึงโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ด้านกระแสเงินสด การบินไทยมีกระแสเงินสดในมือเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จาก 22,000 กว่าล้านบาท ก่อนฟื้นฟูฯ เป็น 125,000 ล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 1 แสดงถึงสภาพคล่องที่เพียงพอต่อการดำเนินงานและลงทุนในอนาคต
รวมทั้งความสำเร็จที่สำคัญอีกประการคือ การลดพาร์จาก 10 บาท เหลือ 1.30 บาทต่อหุ้น ซึ่งส่งผลให้ผลขาดทุนสะสม 14,000 ล้านบาท ณ สิ้นปีที่แล้ว พลิกกลับมาเป็นกำไรสะสม 9,600 ล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 1/2568 โดยมีส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 55,000 ล้านบาท การมีกำไรสะสมนี้จะทำให้บริษัทสามารถพิจารณาจ่ายเงินปันผลได้ตามนโยบายในอนาคต
อีกทั้งตัวเลข Return on Equity (ROE) ที่เคยติดลบก่อนโควิด-19 ได้พุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 19.7% ในไตรมาส 1/2568 ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่โดดเด่นและดีกว่าสายการบินคู่แข่งหลายราย
ภาพ: ข้อมูลฐานะการเงินของการบินไทยที่ดีขึ้นจากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฯ
เปิดกลยุทธ์สร้างการเติบโต – มุ่งลดต้นทุน
ปัจจุบันการบินไทยมีรายได้หลักจากภูมิภาคเอเชียประมาณ 50% และยุโรป 30 – 35% โดยมีออสเตรเลียและเส้นทางในประเทศเป็นส่วนเสริม
สำหรับกลยุทธ์การบริหารจัดการค่าใช้จ่าย ซึ่งในปีที่ผ่านมามีค่าใช้จ่ายรวมราว 146,000 ล้านบาท โดยแบ่งสัดส่วน 34% เป็นค่าน้ำมัน 14% ค่าซ่อมบำรุง 12% ค่าบุคลากร และ 10% ค่าเช่าเครื่องบิน การบินไทยมุ่งเน้นการบริหารจัดการฝูงบินใหม่และเครือข่ายเส้นทาง เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายในระยะยาว อาทิ
- ด้านน้ำมัน เครื่องบินรุ่นใหม่ลดต้นทุนการใช้เชื้อเพลิงน้อยลง
- ด้านการซ่อมบำรุง ลดจำนวนแบบเครื่องบินที่ต้องซ่อมบำรุงเหลือเพียง 4 แบบ ช่วยลดความซับซ้อนในการจัดการอะไหล่และบุคลากร
- ด้านบุคลากร เน้นกลยุทธ์ Build by Buy สร้างทีมงานนักบินและลูกเรือขึ้นมาเอง พร้อมดึงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเข้ามาเสริม โดยตั้งเป้าควบคุมค่าใช้จ่ายบุคลากรไม่ให้เกิน 13% ของรายได้จากการขนส่งค่าเช่
- เครื่องบิน เจรจาอัตราค่าเช่าในยุคโควิด-19 และจัดหาเครื่องบินใหม่ในราคาที่แข่งขันได้
คลัง ยืนยันจะไม่ดึง ‘การบินไทย’ กลับเข้ามาเป็นรัฐวิสาหกิจ
ส่วน ลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลังในฐานะประธานกรรมการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI กล่าวว่า ธุรกิจการบินจำเป็นต้องมีความคล่องตัวและเป็นอิสระ รัฐบาลเล็งเห็นชัดเจนตั้งแต่ช่วงที่การบินไทยประสบปัญหา และเห็นถึงความสามารถในการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วเมื่อได้รับอิสระในการบริหารจัดการ
ทั้งนี้ สถานะของการบินไทยในวันนี้แข็งแกร่งแล้ว และไม่ควรกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจอีก รัฐบาลจะยังคงอยู่ในฐานะที่พร้อมให้การสนับสนุนในเรื่องความเข้มแข็งของทุน แต่จะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการ ซึ่งจะต้องดำเนินการโดยมืออาชีพอย่างแท้จริง
“การที่รัฐบาลเข้ามาช่วยประคับประคองด้านทุนในช่วงวิกฤต เป็นเพราะการบินไทยคือความภาคภูมิใจของคนไทยในฐานะสายการบินแห่งชาติ สัดส่วนการถือหุ้นของรัฐบาลที่ประมาณ 38% ถือเป็นระดับที่เหมาะสม และพร้อมให้ความช่วยเหลือหากมีความจำเป็น” ลวรณกล่าว
ภาพ: ลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลังในฐานะประธานกรรมการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI
นอกจากนี้ มั่นใจว่า วันนี้การบินไทยได้ผ่านจุดที่ยากที่สุดมาแล้ว มีความแข็งแกร่งและพร้อมที่จะกลับมาเป็นบริษัทจดทะเบียนที่น่าสนใจในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกครั้ง สิ่งที่จะนำเสนอแก่นักลงทุนคือ กลยุทธ์การเติบโต การเพิ่มรายได้ และการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้บริษัทน่าสนใจและแข็งแกร่งในระยะยาว
ขณะที่การควบคุมค่าใช้จ่ายของการบินไทย ไม่ใช่การรัดเข็มขัดจนละเลยการลงทุนที่สำคัญ บริษัทให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของพนักงาน การลงทุนเพื่อสร้างรายได้ในอนาคต เช่น การลงทุนในฝูงบินใหม่ ธุรกิจคาร์โก้ และธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ซึ่งแม้จะใช้เงินลงทุนสูง แต่จะสร้างรายได้ที่มากกว่ากลับคืนมา การบริหารจัดการจะเน้นความสมดุลระหว่างความ
‘การบินไทย’ เดินหน้าขยายฝูงบินเป็น 150 ลำ ภายในปี 2576
ขณะที่ ชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แม้จำนวนเครื่องบินและเส้นทางบินจะยังไม่กลับสู่ระดับปี 2562 แต่ในไตรมาส 1/2568 รายได้รวมอยู่ที่ประมาณ 183,000 ล้านบาท โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน (Operating Profit Margin) สูงถึง 22% คิดเป็น 41,000 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 21,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ กำไรต่อหุ้น (EPS) ย้อนหลัง 12 เดือน ณ ไตรมาส 1/2568 อยู่ที่ 1.08 บาท สะท้อนความสามารถในการทำกำไรอย่างต่อเนื่องที่น่าประทับใจ โดยบริษัทฯ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ หลังการบินไทยลดจำนวนพนักงานจาก 35,000 คนในปี 2562 เหลือเพียง 22,800 คนในปี 2568 แต่กลับเพิ่ม Productivity ของพนักงานขึ้น 18%
ภาพ: ข้อมูลผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2568 ของการบินไทยที่ดีขึ้นต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายพนักงานให้เหลือเพียง 10.7% ของรายได้ในปี 2567 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ 13% อย่างมีนัยสำคัญ แสดงถึงความมุ่งมั่นในการบริหารจัดการต้นทุน
อีกทั้งการบินไทยยังวางกลยุทธ์เพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาวไว้ ดังนี้
1. การปรับโครงสร้างและขนาดองค์กรให้มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนการเพิ่มความโปร่งใสในทุกกระบวนการดำเนินงาน สามารถตรวจสอบได้
2. การปรับโครงสร้างฝูงบินและจำนวนเครื่องบินให้มีประสิทธิภาพโดยตั้งเป้าหมายว่าจะมีเครื่องบินจำนวน 150 ลำในปี 2576 ซึ่งลดจำนวนแบบเครื่องบินจาก 8 แบบก่อนเข้าแผนฟื้นฟูกิจการเหลือเพียง 4 แบบ และลดจำนวนเครื่องยนต์จาก 9 แบบเหลือ 5 แบบ ส่งผลให้สามารถควบคุมต้นทุนในการดำเนินงานและซ่อมบำรุงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในสนามบินสุวรรณภูมิจากปัจจุบันที่ 26% เป็น 35% ภายในปี 2572 เหมือนที่เคยทำได้ในอดีตที่ผ่านมา
ภาพ: แผนขยายฝูงบินของการบินไทย
ภาพ: เป้าหมายเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ของการบินไทย
3. การขยายเส้นทางและความถี่ในการบินเพื่อมุ่งสู่การเป็น regional network airline เชื่อมต่อระดับภูมิภาคและระหว่างทวีป
4. การปรับปรุงบริการห้องโดยสารและช่องทางการขายเพื่อยกระดับความพึงพอใจของลูกค้า
5. การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในทุกกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพซึ่งรวมถึงอย่างเว็บไซต์และแอปพลิเคชันเพื่อให้ใช้งานสะดวกมากยิ่งขึ้น และสร้างโอกาสในการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากช่องทางการขายตรง เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้คือปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ทำให้การบินไทยพร้อมสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืนและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
จับตาหุ้น ‘การบินไทย’ คัมแบ็กตลาดหุ้นวันที่ 4 ส. ค. นี้
สำหรับหุ้นการบินไทยจะกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกครั้งในวันที่ 4 สิงหาคม 2568 โดยในวันแรกของการกลับมาซื้อขาย จะไม่มีการกำหนดราคา Ceiling & Floor, Dynamic Price Band และ Auto Pause ซึ่งจะเป็นไปตามกลไกตลาดและอุปสงค์อุปทาน
ชาย ได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ valuation ของหุ้น THAI โดยพิจารณาจาก กำไรต่อหุ้น (EPS) ย้อนหลัง 12 เดือน ณ ไตรมาส 1/2568 ที่ 1.08 บาท เมื่อเทียบกับราคาเพิ่มทุนที่ 4.48 บาท จะได้ค่า P/E (Price to Earnings Ratio) ประมาณ 4.1 – 4.2 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมการบินโลกที่ 6 – 7 เท่า ซึ่งชี้ให้เห็นถึงโอกาสในการเติบโตของราคาหุ้น
ปัจจัยความเสี่ยงที่การบินไทยมองในปีนี้คือราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญ แต่บริษัทฯ ได้มีการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านราคาน้ำมันไว้เป็นอย่างดี ทำให้ผลกระทบมีจำกัด นอกจากนี้ จากการขายตั๋วล่วงหน้า บริษัทฯ มองเห็นทิศทางที่ดีของผลประกอบการในช่วงที่เหลือของปี และมั่นใจในการควบคุมต้นทุนการดำเนินงาน
ภาพ: ชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
ชาย ยังกล่าวถึงสถานการณ์ความรุนแรงระหว่างไทยกับกัมพูชา ที่เริ่มมีเหตุปะทะในหลายจุดที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดนตั้งแต่ช่วงเช้าของวันนี้ (24 กรกฎาคม) ล่าสุด บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีการประเมินสถานการณ์ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา พร้อมได้มีการประสานงานไปยังสถานทูตไทยประจำกัมพูชาเพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้มีการเตรียมความพร้อมรองรับหากมีสถานการณ์ที่รุนแรงมากขึ้น
สำหรับประเทศกัมพูชา มีพนักงานของการบินไทยประจำอยู่ 3 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานชาวต่างชาติ โดยบริษัทฯ จะเกาะติดสถานการณ์ในวันนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินเตรียมหาแนวทางพร้อมรับมือ ซึ่งทางการบินไทย จะหารือกับทางสถานทูต รวมถึงหารือกับสายการบินอื่นๆ ของประเทศไทยที่มีเที่ยวบินไปกัมพูชาเช่นกัน
โดยบริษัทฯ มีความพร้อมให้การสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในการให้ช่วยเหลืออพยพคนไทยในกัมพูชา นำกลับมายังประเทศไทย ซึ่งบริษัทฯ พร้อมจะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ หากมีการประสานขอสนับสนุนเข้ามาจากภาครัฐ
ทั้งนี้ เที่ยวบินของการบินไทย เส้นทางไทยไปกัมพูชา ยังเปิดบินปกติ ขณะนี้มีผู้โดยสารจองเที่ยวบินล่วงหน้าเส้นทางไทย – กรุงพนมเปญ จำนวน 2 เที่ยวบิน ทั้งหมด 3,000 ที่นั่ง ซึ่งทางการบินไทยจะติดตามสถานการณ์ และพร้อมดูแลผู้โดยสารทุกคนหากมีการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์