×

เศรษฐกิจไทยปี 2567 รับมือกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ‘แบบก้าวกระโดด’ ได้หรือไม่? ถอดบทเรียนจากนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาทสมัยยิ่งลักษณ์

27.12.2023
  • LOADING...
เศรษฐกิจไทย 2023

HIGHLIGHTS

  • ครม. มีมติให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2567 วันละ 2-16 บาท เฉลี่ย 2.37% สู่ระดับ 330-370 บาทต่อวัน นับว่ายังห่างไกลจากนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่ 600 บาทต่อวัน ภายในปี 2570
  • จากการถอดบทเรียนนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาทสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบว่า เศรษฐกิจไทยสามารถรับมือได้ค่อนข้างดี แรงงานทุกกลุ่มได้รับประโยชน์ มีการเคลื่อนย้ายสู่ตลาดงานในระบบมากขึ้น แม้ว่าการจ้างงานในภาคบริการ ภาคการเกษตร และการจ้างงานในบริษัทขนาดเล็กจะได้รับผลกระทบมากที่สุด
  • อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าแรงอย่างก้าวกระโดดในยุคนี้อาจต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เช่น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การแบ่งขั้ว มาตรการกีดกันทางการค้า การพัฒนาอุตสาหกรรมของเวียดนาม เป็นต้น
  • ด้านนักเศรษฐศาสตร์แนะรัฐบาลมุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อให้แรงงานหลุดออกจากกลุ่มที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำมากขึ้น

วันที่ 26 ธันวาคม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือไตรภาคี ที่มีมติให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 2-16 บาท เฉลี่ย 2.37% โดยค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดอยู่จังหวัดภูเก็ตที่ 370 บาท ต่ำสุด 330 บาทที่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

 

ทั้งนี้ อัตราดังกล่าวนับว่ายังค่อนข้างห่างไกลจากเป้าหมายในนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ที่ตั้งเป้าปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน ภายในปี 2570

 

ซึ่งหมายความว่า ภายในเวลาราว 3 ปีนี้ รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยจะต้องปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างน้อย 62% ถึงจะบรรลุเป้าหมายที่หาเสียงไว้

 

เล็งขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกรอบในปีหน้า โดยแยกตามกลุ่มอาชีพ ไม่ใช่จังหวัด

 

วันที่ 26 ธันวาคม เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวอีกว่า คณะกรรมการค่าจ้างรอบใหม่จะมีการประชุมอีกครั้งในช่วงต้นปีหน้า ประมาณเดือนมกราคม 2567 เพื่อกำหนดขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบใหม่

 

โดยคาดว่าจะแยกตามกลุ่มอาชีพ และจะประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้อีกครั้งในเดือนมีนาคม 2567 เพื่อให้ระดับค่าแรงขั้นต่ำของพี่น้องแรงงานอยู่ในระดับที่เหมาะสม

 

“เรื่องค่าแรงขั้นต่ำจะพยายามปรับให้สูงขึ้น เพื่อประกาศใช้อีกครั้งในเดือนมีนาคม 2567 ใหม่อีกรอบ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องมีการปรับขึ้นค่าแรงครั้งเดียวในแต่ละปี โดยดูตัวเลขที่เหมาะสมกับรายอำเภอและรายอาชีพจริงๆ ที่ทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” เศรษฐาระบุ

 

ถอดบทเรียนการขึ้นค่าแรงแบบ ‘ก้าวกระโดด’ ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

 

ความพยายามในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลเศรษฐาอย่าง ‘ก้าวกระโดด’ ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก เนื่องจากเมื่อปี 2555 เศรษฐกิจไทยเคยรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่คล้ายคลึงกันมาแล้ว

 

ย้อนกลับไปในปี 2555 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำราว 60% สู่ระดับ 300 บาทในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ภายในระยะเวลา 8 เดือน โดยในขั้นแรกจะเริ่มนำร่องใน 7 จังหวัด ก่อนปรับขึ้นเป็น 77 จังหวัดในที่สุด

 

จากการศึกษาของ ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เรื่อง ‘ผลกระทบของนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท’ ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เกิดผลประโยชน์ด้านดี (Net Benefits) สำหรับแรงงานทุกกลุ่ม (The Entire Working Age Population) เนื่องจากทำให้ค่าจ้างต่อชั่วโมง (Hourly Wage) เพิ่มขึ้น ทำให้เวลาการทำงานต่อสัปดาห์ (Weekly Hours) ของแรงงานที่ได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแรงงานที่มีอายุ 15-24 ปี

 

นอกจากนี้ นโยบายดังกล่าวยังทำให้แรงงานนอกระบบ (Informality Employment) เข้าสู่ตลาดงานในระบบมากขึ้น (Formal Sector Employment)

 

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำส่งผลให้การจ้างงานโดยรวม (Aggregate Employment) ลดลง โดยเฉพาะการจ้างงานโดยบริษัทขนาดเล็ก (Micro Firm) และการจ้างงานในภาคการบริการ (Services) และภาคการเกษตร (Agriculture) ซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น 

 

แต่ในทางตรงกันข้าม การจ้างงานในบริษัทขนาดใหญ่ (Large Firm) และภาคอุตสาหกรรม (Industries) กลับ ‘เพิ่มขึ้น’ เป็นการตอกย้ำว่าคนงานที่ได้รับค่าจ้าง (Wage Employee) ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการปรับขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำ ขณะที่บริษัทต่างๆ ก็สามารถหาผู้สมัครที่พร้อมทำงานได้มากขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม บริษัทบางแห่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิสาหกิจขนาดย่อม (Micro Firm) อาจเผชิญกับความยากลำบาก เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันเพื่อแย่งชิงคนงานที่มีบริษัทที่ผูกขาดขนาดใหญ่กว่าได้ สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ไม่พบผลกระทบที่มีนัยสำคัญ

 

เศรษฐกิจไทย ‘ปัจจุบัน’ รับมือกับการขึ้นค่าแรงอย่างก้าวกระโดดได้หรือไม่?

 

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยดูเหมือนจะรับมือและปรับตัวต่อการขึ้นค่าแรงราว 60% ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญได้เตือนว่า การเปรียบเทียบกับยุคสมัยเมื่อ 10 กว่าปีก่อนคงเป็นไปไม่ได้แล้ว เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน

 

ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า สภาพเศรษฐกิจปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมากจากสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตัวอย่างเช่น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และการแบ่งขั้ว (Decoupling) ที่รุนแรงขึ้น มาตรการกีดกันทางการค้าที่มากขึ้น ภาพเศรษฐกิจโลกและการค้าซึ่งไม่ได้ขยายตัวได้ดีเท่าสมัยนั้น รวมไปถึงการก้าวขึ้นมาของเวียดนามที่ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนไปจากไทยอย่างรุนแรง

 

ส่องค่าแรงขั้นต่ำ ‘ไทย’ สูง-ต่ำแค่ไหน? เทียบกับที่อื่นๆ ในเอเชีย

 

จากการรวบรวมข้อมูล THE STANDARD WEALTH พบว่า เมื่อเทียบ 12 ประเทศ/ดินแดนในเอเชีย ค่าแรงขั้นต่ำต่อวันของ ‘ไทย’ อยู่ในอันดับ 8 เป็นรองเกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, ฮ่องกง, จีน, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ แต่ยังสูงกว่าเวียดนาม, กัมพูชา, เมียนมา และอินเดีย

 

 

เอกชนหนุนรัฐบาลยึดกลไกไตรภาคี เตือนอุตสาหกรรมไทยยังมีความเสี่ยงด้านต้นทุน

 

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ( ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า สนับสนุนการยึดหลักการใช้กลไกไตรภาคีในการพิจารณาปรับค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากเป็นกลไกที่ทุกฝ่ายรับได้ 

 

พร้อมทั้งเตือนว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงอยู่ ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีของภาคธุรกิจ ซึ่งต้องใช้ต้นทุนสูง

 

ทั้งนี้ ในปี 2566 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 5 ครั้งติดต่อกัน รวมทั้งหมด 125 bps จากระดับ 1.25% เมื่อช่วงปลายปี 2022 มาสู่ระดับ 2.5% ในการประชุมวันที่ 27 กันยายน และมีมติคงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวไว้ในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน

 

สภาองค์การนายจ้างฯ ฉะรัฐบาลแยกค่าแรงออกจากการเมือง

 

ขณะที่ ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) กล่าวว่า จากมติของคณะกรรมการไตรภาคี ที่คงอัตราการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2567 ไว้ที่ 2-16 บาทต่อวันนั้น มองว่ามติดังกล่าวเป็นการแสดงจุดยืนของไตรภาคีที่ไม่ต้องการให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง เนื่องจากการปรับอัตราค่าจ้างดังกล่าวเป็นสูตรที่รัฐบาล ไตรภาคี นายจ้าง ลูกจ้าง ตกลงกันไว้แล้ว และมีกฎหมายระบุไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่า การนำเสนอสูตรในการปรับอัตราค่าจ้างต่อรัฐ เป็นเพียงการเสนอเพื่อทราบเท่านั้น ไม่ต้องให้รัฐบาลเป็นผู้พิจารณา

 

“หลังจากนี้ไตรภาคีจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา เพื่อพิจารณาเรื่องการปรับสูตรค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ซึ่งต้องติดตามว่าจะมีมติอย่างไร อาจใช้มติเดิมของไตรภาคีก็ได้ แต่ที่สำคัญอยากให้เอาเรื่องค่าจ้างออกจากการเมืองก่อน เนื่องจากเป็นการทำลายกลไกเศรษฐกิจ จึงอยากให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ระบุให้ชัดว่าเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำห้ามใช้เป็นประเด็นในการหาเสียง เพราะเศรษฐกิจในปี 2567 ยังคงเปราะบาง หากมีการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำขึ้น หรือมีการปรับสูตรใหม่ จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ที่มีโอกาสปิดกิจการสูงเพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว” ธนิตกล่าวย้ำ

 

นักเศรษฐศาสตร์แนะรัฐก้าวข้าม ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ มุ่งพัฒนาทักษะแรงงาน

 

ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า แม้ค่าแรงขั้นต่ำจะเป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกรัฐบาลต้องทำให้มั่นใจว่า แรงงานทุกคนจะสามารถอยู่รอดได้ ตามค่าครองชีพที่ปรับตัวขึ้นทุกปี

 

กระนั้น รัฐบาลก็ควรหันมาให้ความสนใจกับการยกระดับอุตสาหกรรม และยกระดับทักษะแรงงาน เพื่อให้จำนวนผู้ที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำมีสัดส่วนลดลงเรื่อยๆ

 

ตามการประเมินจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch) ระบุว่า ประเทศไทยปัจจุบันมีแรงงานราว 6 ล้านคนที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำ จากจำนวนผู้ได้รับการจ้างงานทั้งหมด 40 ล้านคน ณ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 หรือคิดเป็นสัดส่วนถึงราว 15% ของผู้ได้รับการจ้างงานในประเทศไทย

 

“มองไประยะยาว เราควรทำอย่างไรให้แรงงานไทยมีทักษะมากขึ้น และไม่ตกลงมาอยู่ในกลุ่ม 6 ล้านคน และได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นตามทักษะ” ณัฐพรกล่าว

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร

 


WEALTH IN DEPTH

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X