×

แกะรอย ‘ยอดจอง-ยอดขาย-ยอดจด’ สามมิติลับในวงการยานยนต์ไทย เบื้องหลังตัวเลขที่ใครๆ ก็สงสัย

30.12.2024
  • LOADING...
แกะรอย ‘ยอดจอง-ยอดขาย-ยอดจด’ สามมิติลับใน วงการยานยนต์ไทย เบื้องหลังตัวเลขที่ใครๆ ก็สงสัย

HIGHLIGHTS

  • งาน Motor Expo 2024 รายงานยอดจองรถยนต์ 54,513 คัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากเมื่อเทียบกับยอดขายทั้งเดือนตุลาคมที่ต่ำกว่า 40,000 คัน โดยยอดจองมาจากการรายงานของเจ้าหน้าที่แบรนด์และการส่งใบชิงโชค ซึ่งไม่ได้สะท้อนยอดขายจริง เนื่องจากมีลูกค้าเปลี่ยนใจ จองหลายแบรนด์ หรือไฟแนนซ์ไม่ผ่าน
  • การรายงานยอดขายรถยนต์ประจำเดือนในไทยเป็นการรวบรวมโดยโตโยต้า ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างแบรนด์ญี่ปุ่นในหอการค้าญี่ปุ่น โดยเป็น ‘ยอดขายส่ง’ ให้ดีลเลอร์ ไม่ใช่ยอดขายให้ลูกค้า จึงไม่สะท้อนภาพรวมตลาดที่แท้จริง ทำให้เกิดปัญหารถค้างสต็อกและส่วนลดที่แตกต่างกัน
  • ยอดจดทะเบียนรายงานโดยกรมการขนส่งทางบก นับเป็นตัวเลขที่น่าเชื่อถือที่สุด โดยเฉพาะสถิติรถยนต์ไฟฟ้า แต่มีช่องโหว่จากการใช้ป้ายแดงที่ทำให้ผู้ซื้อสามารถใช้รถโดยยังไม่จดทะเบียน ส่งผลให้ตัวเลขคลาดเคลื่อนจากยอดขายจริง
  • ในปี 2566 มีรถจดทะเบียนใหม่ 822,000 คัน ขณะที่ยอดขายรายงาน 775,000 คัน สะท้อนความไม่สอดคล้องของการรายงานตัวเลขทั้ง 3 ประเภท (จอง-ขาย-จด) เนื่องจากมีที่มาของข้อมูลและวิธีการจำแนกประเภทรถที่แตกต่างกัน จึงควรตรวจสอบที่มาของข้อมูลก่อนเชื่อ

กลายเป็นที่ถกเถียงกันมากขึ้นทุกปี หลังจากที่มีการรายงานยอดจองของงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 41 หรือ Motor Expo 2024 ที่เพิ่งจะจบลงไปด้วยตัวเลข ‘ยอดจองรถยนต์ 54,513 คัน’ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ถือว่าสูงมากในภาวะตลาดเช่นนี้ 

 

ขณะที่รายงาน ‘ยอดขายทั้งเดือน’ ในเดือนตุลาคมระบุตัวเลขต่ำกว่า 4 หมื่นคัน ทำให้ ‘ยอดจอง’ ตรงจุดนี้กลายเป็นประเด็นที่คนให้ความสนใจกันอย่างมาก 

 

จองจริงหรือไม่ ยอดมาจากไหน จองในงานหรือเปล่า ฯลฯ ล้วนเป็นคำถามคาใจใครหลายคน THE STANDARD WEALTH จึงอยากชวนมาหาคำตอบกัน!

 

 

ยอดจอง = ยอดขาย จริงหรือ?

 

ประเด็นแรก ที่มาของตัวเลขดังกล่าว จากการรายงานของผู้จัดงานเป็นผู้รวบรวมโดยเก็บข้อมูลตัวเลขรายวันจาก ‘เจ้าหน้าที่ของแบรนด์’ ที่ทำหน้าที่รายงานยอดจองให้กับผู้จัดงาน ซึ่งใช้ความเชื่อใจซึ่งกันและกันในการรวบรวมตัวเลข โดยบางแบรนด์ที่ไม่รายงานตัวเลข ทางผู้จัดงานใช้การรวบรวมยอดจองจากการส่งใบชิงโชคในแคมเปญซื้อรถชิงรถ 

 

ซึ่งต้องทำความเข้าใจให้ตรงกัน ณ จุดนี้ว่า ทั้งผู้จัดงานและแบรนด์ย่อมต้องการตัวเลขที่สวยงามเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จ ทั้งของผู้จัดงานและผู้ขาย ฉะนั้นตัวเลขยอดจองจึงมีความสำคัญในแง่ของการสื่อสารการตลาดที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและดึงดูดให้แสงมาจับที่แบรนด์ของตัวเอง 

 

ทั้งนี้ ยอดจอง การเรียกเช่นนี้ก็บ่งบอกอยู่แล้วว่า ‘เป็นเพียงการจองเท่านั้น’ ซึ่งยังคงมีกระบวนการอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย กว่าที่ยอดจองจะกลายเป็นยอดขาย และสุดท้ายกลายเป็นยอดจด (ยอดจดทะเบียน) 

 

โดยยอดจองที่หายไป ไม่มาเป็นยอดขายหรือยอดจด เนื่องจากสาเหตุหลายประการ เช่น การเปลี่ยนใจของลูกค้า, การที่ลูกค้าจองไว้หลายแบรนด์ในงานแต่เลือกเพียงคันเดียว และจัดไฟแนนซ์ไม่ผ่าน 

 

ฉะนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจที่เราจะเห็นยอดจองรถในงานแสดงรถยนต์มียอดที่สูงดูสวยงาม แต่เมื่อผ่านพ้นงานไปแล้ว ยอดขายกลับไม่สอดคล้องกับตัวเลขที่รายงานผ่านสื่อต่างๆ 

 

แน่นอน บางท่านถามว่า เหตุใดผู้จัดงานจึงไม่รายงานยอดจองด้วยการนับจำนวนผ่านการส่งใบชิงโชค คำถามนี้ยังไม่มีการแถลงอย่างเป็นทางการจากผู้จัดงาน แต่เป็นที่เข้าใจกันได้ว่า ลูกค้าที่จองรถบางคนอาจไม่ส่งใบชิงโชค ดังนั้นจึงยังคงยึดตัวเลขจากเจ้าหน้าที่ของแบรนด์ก่อนเป็นลำดับแรก 

 

 

ยอดขายรถ…จริงหรือมั่ว? เบื้องหลังตัวเลข ‘ขายส่ง’

 

ขณะที่ ‘ยอดขาย’ ซึ่งเราจะเห็นการรายงานผ่านสื่อต่างๆ นั้นเป็นการนำตัวเลขจากรายงานยอดขายโดยโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ที่โตโยต้าได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รวบรวมและรายงานประจำเดือน 

 

เนื่องจากแต่ละแบรนด์ของญี่ปุ่นจะแลกเปลี่ยนตัวเลขยอดขายผ่านหอการค้าญี่ปุ่นในประเทศไทย ส่วนแบรนด์อื่นๆ หากต้องการตัวเลขดังกล่าวก็จะอาศัยการแลกเปลี่ยนตัวเลขของตัวเองเช่นเดียวกัน  

 

โดยยอดขายที่รายงานนั้นเป็นยอดขายที่เป็นการขายส่งให้ ‘ดีลเลอร์’ มิใช่การขายให้ลูกค้า เนื่องจากระบบการขายรถยนต์ในประเทศไทย ทางแบรนด์จะเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายแล้วขายส่งให้แก่ดีลเลอร์นำไปจำหน่ายให้ลูกค้าอีกทอดหนึ่ง 

 

ฉะนั้นยอดดังกล่าวจึงยังไม่อาจสะท้อนภาพรวมของตลาดที่แท้จริงได้ ดังที่เราเคยเห็นข่าวคนที่ซื้อรถค้างสต็อกนานนับปีหรือการลดล้างสต็อก และการที่ส่วนลดราคาของแต่ละดีลเลอร์ไม่เท่ากันเป็นผลจากจำนวนรถในสต็อกที่ค้างอยู่ไม่เท่ากันนั่นเอง 

 

นอกจากนั้นในช่วงหลายปีก่อน เราจะเห็นการอ้างตำแหน่งยอดขายสูงสุดที่ต่างฝ่ายต่างอ้าง โดยเฉพาะในส่วนของการจำแนกประเภทรถ เช่น รถปิกอัพ รถเก๋ง รถอเนกประสงค์ ซึ่งมีความแปลกอยู่ 

 

กล่าวคือเคยรวมเอายอดรถ PPV หรือปิกอัพดัดแปลง มาอยู่ในยอดขายปิกอัพ แต่เมื่อเกิดข้อถกเถียงจึงแยกให้เห็นชัดเจนขึ้น หรือแยกรถฮอนด้า ซีอาร์-วี ที่เป็นรถอเนกประสงค์ไปรวมไว้อยู่กับรถเพื่อการพาณิชย์ เป็นต้น 

 

 

ยอดจดทะเบียน (ก็) หลอกตา?

 

ส่วนยอดจดทะเบียนหรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ‘ยอดจด’ เป็นการรายงานตัวเลขสถิติการจดทะเบียนของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นการจำแนกเฉพาะแต่ละแบรนด์ หรือแต่ละประเภทการจดทะเบียนตามกฎหมาย ซึ่งจะไม่ตรงกับการจำแนกประเภทของยอดขายข้างต้น 

 

โดยยอดจดเป็นการรายงานสถิติของภาครัฐ โดยตัวเลขที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดคือ สถิติการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งถือว่าเป็นการรายงานตัวเลขที่น่าเชื่อถือที่สุด เพราะรายงานตามเอกสารต่างๆ ที่ผู้ซื้อนำมาจดทะเบียนกับรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ 

 

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการจดทะเบียน แม้จะเป็นการรายงานโดยหน่วยงานของรัฐ แต่อย่างที่ทุกคนทราบกันดีอยู่แล้ว คือประเทศไทยมีการใช้ป้ายแดง ซึ่งกลายเป็นช่องโหว่ที่เปิดโอกาสให้ผู้ซื้อรถสามารถใช้งานรถโดยยังไม่ต้องจดทะเบียน ดังนั้นตัวเลขในแต่ละช่วงเวลาจึงมีความคลาดเคลื่อน ไม่สอดคล้องกับการขายที่แท้จริง 

 

ในปี 2566 มีรถยนต์ใหม่จดทะเบียนครั้งแรกประมาณ 822,000 กว่าคัน (รวม 3 ประเภท คือ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน, รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน และรถบรรทุกส่วนบุคคล) ขณะที่รายงานยอดขายสิ้นปี 2566 ระบุตัวเลขราว 775,000 คัน (ยอดรถยนต์จดทะเบียนมากกว่ายอดขาย)

 

ฉะนั้น จึงสรุปได้ว่า การรายงานยอดตัวเลข ไม่ว่าจะเป็นยอดจอง ยอดขาย หรือยอดจดทะเบียน ต่างมีที่มาของข้อมูลแตกต่างกัน การรายงานผลลัพธ์จึงไม่ตรงกัน แม้บนพื้นฐานความเข้าใจของประชาชนทั่วไป การรายงานตัวเลขในลักษณะเช่นนี้ควรจะมีความสอดคล้องและใกล้เคียงกันมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 

 

ยุคนี้เมื่อคุณรับรู้ข้อมูลอะไรมาควรตรวจสอบที่มาที่ไปก่อนจะเชื่อทุกครั้ง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X