ตามเงื่อนไขของแผนฟื้นฟูกิจการของ บมจ.การบินไทย มี 4 เงื่อนไขหลักที่จะพาบริษัทรอดพ้นออกจากแผนฟื้นฟูฯ ได้ตามแผนที่กำหนดไว้ในช่วงไตรมาส 2/68 ปัจจุบันบริษัททำสำเร็จไปแล้ว 3 เงื่อนไข เหลืออีกเพียง 1 เงื่อนไข คือ การแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่ ซึ่งในวันที่ 25 กุมภาพันธ์นี้ จะรู้ผลว่ามีรายชื่อใครบ้าง
ชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการและผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย หรือ THAI ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์นี้ คณะผู้บริหารแผนการบินไทยมีกำหนดนัดประชุมเพื่อพิจารณาคุณสมบัติรายชื่อคณะกรรมการ (บอร์ด) ชุดใหม่ของ บมจ.การบินไทย ซึ่งปัจจุบันผู้ถือหุ้นของบริษัทเสนอส่งรายชื่อตัวแทนบุคคล เพื่อให้พิจารณาเป็นบอร์ดแล้วจำนวนประมาณ 11-15 รายชื่อ รวมทั้งตัวแทนกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บมจ.การบินไทย ที่ส่งรายได้ตามโควตามาจำนวนประมาณ 4-5 รายชื่อ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- การบินไทยไม่กลับสู่ ‘รัฐวิสาหกิจ’ คือทางออกจากวิกฤต พร้อมคืนชีพ ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ…
- เบื้องลึกแผน ‘การบินไทย’ พร้อม Take Off ออกจากแผนฟื้นฟูฯ ปูทางกลับเข้าเทรดในตลาดหุ้นปีนี้
- ศาลสั่งไม่เห็นชอบ ‘คลัง’ ชงแก้แผนฟื้นฟูฯ ส่งตัวแทน 2 ชื่อนั่งเพิ่มในคณะผู้บริหารแผน ‘การบินไทย’
โดยบอร์ดชุดใหม่ดังกล่าวของ บมจ.การบินไทย จะมีรายชื่อของบอร์ดชุดปัจจุบันรวมอยู่ด้วยจำนวน 3 ราย ได้แก่
- พล.อ.อ. อำนาจ จีระมณีมัย
- ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์
- ชาญศิลป์ ตรีนุชกร
โดยบอร์ดชุดเดิมทั้ง 3 รายชื่อดังกล่าวจะร่วมกันทำงานกับบอร์ดชุดใหม่ที่จะมีจำนวนรวมกันทั้งสิ้นไม่เกินจำนวน 15 รายชื่อตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ
“โดยบอร์ดการบินไทยชุดเดิมปัจจุบันมีเหลือ 3 รายชื่อ คือ พล.อ.อ. อำนาจ จีระมณีมัย, ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และตัวผมเอง ก็จะรวมอยู่ในรายชื่อของบอร์ดชุดใหม่ด้วย ซึ่งก็จะมาทำหน้าที่ร่วมกันหลังบริษัทออกจากแผนฟื้นฟูฯ ได้สำเร็จ” ชาญศิลป์กล่าว
สำหรับลำดับขั้นตอนต่อไป หากบอร์ดชุดใหม่ที่ถูกเสนอรายชื่อเข้ามาได้รับพิจารณาแล้ว มีคุณสมบัติครบถ้วนและมีความเหมาะสม ก็เตรียมเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ บมจ.การบินไทย ซึ่งกำหนดนัดประชุมในวันที่ 18 เมษายนนี้ เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป
โดยการแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่ของ บมจ.การบินไทย ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญข้อสุดท้ายที่บริษัทจะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูฯ ได้สำเร็จ จากนั้นขั้นตอนต่อไปจะเตรียมยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอยกเลิกการฟื้นฟูกิจการและนำหุ้นของ THAI กลับเข้ามาซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/68 เป็นไปตามแผนงานที่บริษัทวางไว้
เปิด 4 เงื่อนไขพาการบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูฯ และกลับเข้าตลาดหุ้น
- จดทะเบียนเพิ่มทุนเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างทุน ซึ่ง บมจ.การบินไทย ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565
- ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฯ โดยไม่เกิดเหตุผิดนัดชำระหนี้ โดย บมจ.การบินไทย ยังไม่เกิดเหตุผิดนัดชำระหนี้นับตั้งแต่วันที่เข้าแผนฟื้นฟูฯ ถึงปัจจุบัน
- มี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบิน (EBITDA – Aircraft Lease Payment) ไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาทในรอบ 12 เดือนย้อนหลัง ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 บมจ.การบินไทย ทำได้แล้วประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท
- ส่วนของผู้ถือหุ้นในงบการเงินเฉพาะกิจการเป็นบวกโดยภายหลังการแปลงหนี้เป็นทุน ส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของ บมจ.การบินไทย จากเดิมที่เคยติดลบพลิกกลับมาเป็นบวก 1.8 หมื่นล้านบาท อีกทั้งการเพิ่มทุนทำให้บริษัทได้เงินกลับมาอีกราว 2.3 หมื่นล้านบาท
“ส่วนกรณีที่ ชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของการบินไทยคนปัจจุบัน จะได้ทำหน้าที่ต่อไปหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาความเหมาะสมของบอร์ดชุดใหม่ เพราะเดิมชายถูกแต่งตั้งจากผู้บริหารแผนให้มาทำหน้าที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของการบินไทย ซึ่งยังมีสัญญาจ้างเหลืออีกประมาณ 1-2 ปี” ชาญศิลป์กล่าว
ชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.การบินไทย