ย้อนไปในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2563 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจและธุรกิจทั่วโลก ไม่เว้นอุตสาหกรรมการบิน
โดยถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เพราะวิกฤตโควิดทำให้การเดินทางทั่วโลกหยุดชะงักลง ธุรกิจสายการบินมีความจำเป็นต้องลดจำนวนเที่ยวบินอย่างมีนัยสำคัญ หรือจำเป็นต้องหยุดการให้บริการชั่วคราว อีกทั้งทำให้ความสามารถในการขนส่งผู้โดยสาร รวมถึงพัสดุภัณฑ์และไปรษณียภัณฑ์ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ
วิกฤตที่เกิดขึ้นเข้ามาซ้ำเติมของธุรกิจของ บมจ.การบินไทย ที่กำลังอ่อนแอ สะท้อนจากผลการดำเนินงานที่ขาดทุนมา 8 ปีติดต่อกันในช่วงปี 2556-2563 จนในปี 2563 มีผลขาดทุนสุทธิหนักราว 141,000 ล้านบาท เป็นตัวเลขขาดทุนที่สูงสุดในประวัติการณ์ของบริษัท และมีหนี้ที่ต้องแบกรับมหาศาลราว 200,000 ล้านบาท
เข้าสู่แผนฟื้นฟูฯ ทางรอดการบินไทย
การบินไทยตัดสินใจยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 เพื่อใช้เป็นทางรอดแก้ปัญหาที่หมักหมมมาอย่างยาวนานจากหลายปัจจัย ดังนี้
- สภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินที่ปรับเปลี่ยนและทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว
- การแพร่ระบาดของโควิดที่มีผลกระทบให้ธุรกิจสายการบินต้องหยุดการให้บริการ
- ส่วนปัจจัยภายในของ บมจ.การบินไทย ยังเผชิญปัญหาความไม่คล่องตัวในการทำธุรกิจ เพราะเดิมมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ทำให้การบริหารจัดการธุรกิจต้องอยู่ภายใต้ระเบียบกฎเกณฑ์รัฐวิสาหกิจ ส่งผลให้แข่งขันกับสายการบินคู่แข่งที่มีการบริหารจัดการแบบเอกชนเต็มรูปแบบได้ยาก
ขณะที่หุ้นของ บมจ.การบินไทย หรือ THAI หยุดการซื้อขายตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2564 โดยในวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ราคาปิดของหุ้นของบริษัทฯ เท่ากับ 3.32 บาทต่อหุ้น
ภาพรวมการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย
การบินไทยหลุดสถานะรัฐวิสาหกิจ ช่วยเพิ่มความคล่องตัว
ต่อมากระทรวงการคลังเคยถือหุ้นการบินไทยในระดับกว่า 51% แต่ปัจจุบันถือในสัดส่วน 48% หลังจากในปี 2563 ยอมลดสัดส่วนขายหุ้นออกมาให้กับกองทุนรวมวายุภักษ์ ส่งผลให้การบินไทยหลุดจากสถานะของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจกลายเป็นเอกชน และเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการในช่วงกลางปี 2564 ตามที่ศาลล้มละลายกลางเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ
ในระยะเวลา 3 ปีเต็มที่ บมจ.การบินไทย เข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ ภายใต้คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย ประกอบด้วย
ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีประสบการณ์การทำงานในองค์กรเอกชนชั้นนำของไทยมาแล้วหลายแห่ง ทั้งภาคธุรกิจและการเงิน, ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ และอดีตซีอีโอ บมจ.ปตท. หรือ PTT, พรชัย ฐีระเวช ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะตัวแทนกระทรวงการคลัง
ประกอบกับ บมจ.การบินไทย เปลี่ยนสถานะเป็นองค์กรเอกชนแบบเต็มตัว ทำให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างคล่องตัวขึ้น สามารถดำเนินตามแผนฟื้นฟูฯ จนทำให้มีพัฒนาการของธุรกิจในเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง
การบินไทย Take Off ธุรกิจ พลิกฟื้นกำไรต่อเนื่อง
โดยดำเนินงานภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการนับตั้งแต่ปี 2563 โดยบริษัทฯ ดำเนินการปฏิรูปธุรกิจ การดำเนินงาน และโครงสร้างองค์กร พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินงานเพื่อเพิ่มรายได้และลดต้นทุนการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบการสถานการณ์โควิดที่คลี่คลายลง ส่งผลให้ในปี 2566 และงวด 9 เดือนแรกของปี 2567 ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ปี 2564 มีกำไรสุทธิ 55,100 ล้านบาท แม้ไม่ได้มาจากการดำเนินงาน แต่ปัจจัยหลักมาจากการปรับโครงสร้างหนี้ การขายทรัพย์สิน และเงินลงทุน ซึ่งเป็นการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ
ปี 2565 การบินไทยและบริษัทย่อยมีรายได้รวม 105,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 342% จากปี 2564 แต่ขาดทุน 272 ล้านบาท เพราะรับรู้ผลขาดทุนจากบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ที่บริษัทถือหุ้น 100% ซึ่งในปี 2565 มีผลขาดทุน 4,248 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสะสมถึง 20,000 ล้านบาท การบินไทยจึงตัดสินใจยุบไทยสมายล์รวมกับการบินไทย เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการและลดต้นทุนในการทำธุรกิจ
ปี 2566 มีกำไรสุทธิ 28,100 ล้านบาท เติบโตมากกว่า 10,000% จากปี 2565 เนื่องจากมีปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว และความต้องการเดินทางของผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
9 เดือนแรกปี 2567 มีกำไรสุทธิ 12,480 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 711% เปรียบเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากแรงหนุนของการท่องเที่ยวและจำนวนผู้โดยสารที่เติบโตขึ้นต่อเนื่อง
ผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรกปี 2567 ของการบินไทย
ด้าน ชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.การบินไทย กล่าวว่า ภาพรวมผลประกอบธุรกิจของการบินไทยในงวด 9 เดือนของปี 2567 แสดงให้เห็นถึงการเติบโตที่แข็งแกร่งและความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในการฟื้นฟูกิจการ จากจำนวนผู้โดยสารกว่า 11.62 ล้านคน เพิ่มขึ้น 14.7% เมื่อเทียบกับงวด 9 เดือนของปี 2566
นอกจากนี้ยังมีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) 47,778 ล้าน ASK เพิ่มขึ้น 19.2% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน สะท้อนถึงศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นจากการดำเนินธุรกิจตามแผนฟื้นฟูกิจการที่เรียกความเชื่อใจจากลูกค้ากลับมาได้
“การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น เช่น ค่าซ่อมแซมและบำรุงอากาศยานที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนเครื่องบินที่เข้ามาใหม่สำหรับการรองรับผู้โดยสารที่มากกว่าเดิม และค่าบริการการบินจากจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งอัตราค่าบริการการบินต่อเที่ยวปรับตัวสูง ตลอดจนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขายและการโฆษณาที่เพิ่มขึ้น จากความจำเป็นในการจ่ายค่าธรรมเนียมสำรองที่นั่งที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณการจองเที่ยวบิน มั่นใจว่าการลงทุนเหล่านี้จะสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว” ชายกล่าว
ขณะที่คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของ บมจ.การบินไทย ประกาศตั้งเป้าหมาย และมีความมั่นใจในการเตรียมยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ และกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/68
เปิด 4 เงื่อนไข พาการบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูฯ-กลับเข้าตลาดหุ้น
- จดทะเบียนเพิ่มทุนเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างทุน ซึ่ง บมจ.การบินไทย ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565
- ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฯ โดยไม่เกิดเหตุผิดนัดชำระหนี้ โดย บมจ.การบินไทย ยังไม่เกิดเหตุผิดนัดชำระหนี้ นับตั้งแต่วันที่เข้าแผนฟื้นฟูฯ ถึงปัจจุบัน
- มี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบิน
(EBITDA – Aircraft Lease Payment) ไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาทในรอบ 12 เดือนย้อนหลัง ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2567 บมจ.การบินไทย ทำได้แล้วประมาณ 27,000 ล้านบาท
- ส่วนของผู้ถือหุ้นในงบการเงินเฉพาะกิจการเป็นบวก โดยภายหลังการแปลงหนี้เป็นทุน ส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของ บมจ.การบินไทย จากเดิมที่เคยติดลบพลิกกลับมาเป็นบวก 18,000 ล้านบาท อีกทั้งการเพิ่มทุนทำให้บริษัทได้เงินกลับมาอีกราว 23,000 ล้านบาท
โดย 4 เงื่อนไขข้างต้นเป็นเงื่อนไขหลักสำคัญที่ บมจ.การบินไทย ทำได้ครบแล้วทุกข้อตามแผนฟื้นฟูฯ เหลือเพียงรอการปิดงบการเงินปี 2567 และจัดประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี (AGM) ของการบินไทย เพื่อพิจารณาอนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่ตามเงื่อนไขในแผนฟื้นฟูฯ ได้ภายในช่วงเดือนเมษายนนี้
ความคืบหน้าการดำเนินการตามผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูฯ ของการบินไทย
อีกประเด็นร้อนที่หลายฝ่ายจับตาคือการต่อสู้ระหว่างกลุ่มเจ้าหนี้การบินไทยกับกระทรวงการคลังที่เริ่มมีประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด หลังมีกลุ่มเจ้าหนี้สหกรณ์กับเจ้าหนี้หุ้นกู้รายย่อยยื่นเรื่องร้องให้ศาลไต่สวนว่ากระทรวงการคลังมีสิทธิโหวตแก้แผนฟื้นฟูกิจการในการประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมาหรือไม่ หลังจากแจ้งความจำนงแปลงหนี้เป็นทุนแบบ 100% ส่งผลให้หมดสถานะความเป็นเจ้าหนี้
โดยผลการประชุมเจ้าหนี้การบินไทยเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 มีมติเห็นชอบการแก้ไขแผนทั้ง 3 ข้อ ดังนี้
- แก้ไขแผนฟื้นฟูฯ เพื่อกำหนดให้ผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ มีอำนาจลดทุนจดทะเบียนด้วยการลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value) เพื่อล้างผลขาดทุนสะสม
- แก้ไขแผนฟื้นฟูฯ เพื่อเพิ่มข้อกำหนดให้ชัดเจนว่าเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูฯ จะได้รับชำระหนี้ก่อนกำหนดเป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่าจำนวนเงินปันผลที่จะเสนอจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นในครั้งนั้นๆ
- เพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ โดยกระทรวงการคลังเสนอให้พิจารณาแต่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ เพิ่มอีกจำนวน 2 คน ได้แก่ ปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม และ พลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง
โดยศาลล้มละลายกลางนัดฟังคำสั่งการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย ในวันที่ 21 มกราคมนี้ หลังจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นรายงานเกี่ยวกับผลการประชุมเจ้าหนี้การบินไทย
โดยประเด็นสำคัญที่เจ้าหนี้ของการบินไทยกังวลคือ การแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ ในข้อที่ 3 เนื่องจากเป็นห่วงว่าการเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ เพิ่มอีกจำนวน 2 คน ที่เป็นตัวแทนจากกระทรวงการคลัง จะส่งผลให้กระทรวงการคลังครองเสียงข้างมากในคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ เป็น 3 ใน 5 เสียง จากเดิม 1 ใน 3 เสียง จึงกังวลว่าฝั่งการเมืองอาจเข้ามาครอบงำหรือแทรกแซงการบินอีก จนอาจกลับไปเป็นปัญหาอีกครั้งดังเช่นที่เกิดขึ้นในอดีต รวมทั้งยังต้องติดตามการตั้งแต่งคณะกรรมการ (บอร์ด) ชุดใหม่ของการบินไทยที่จะมีส่วนสำคัญในการกำหนดชะตาของการบินไทยในอนาคต
คาดอุตสาหกรรมการบินโลกโต 2.1 เท่าในปี 2586
สำหรับสถานการณ์อุตสาหกรรมการบินในอนาคต สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดการณ์จำนวนผู้โดยสารทางอากาศทั่วโลกเติบโตถึง 2.1 เท่าภายในปี 2586 มาอยู่ที่ 8,600 ล้านคน หรือมีอัตราการเติบโตระหว่างปี 2566-2586 เฉลี่ย 3.8% ต่อปี โดยภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกคิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของการเติบโตนี้
ขณะที่รายได้รวมของสายการบินในปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 119% ของรายได้รวมก่อนโควิด
สถานการณ์อุตสาหกรรมการบินโลกปี 2566-2586
ส่วนจุดเด่นและข้อได้เปรียบสำคัญของ บมจ.การบินไทย ที่เตรียมนำมาใช้รองรับการแข่งขันทางธุรกิจหลังจากออกแผนฟื้นฟูฯ ตามที่ผู้บริหารประกาศไว้ เช่น
- ความพร้อมด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยที่อยู่ในจุดศูนย์กลางของภูมิภาค ช่วยสนับสนุนธุรกิจของบริษัทฯ
- แนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินโลกและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยที่ฟื้นตัวและเติบโตอย่างต่อเนื่อง
- เครือข่ายที่ครอบคลุมทั่วโลกและฝูงบินที่มีประสิทธิภาพ ช่วยเสริมสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันและความสามารถในการสร้างรายได้ของบริษัทฯ
- แบรนด์ที่แข็งแกร่งของการบินไทยที่เป็นที่รู้จักในระดับสากล มุ่งเน้นการให้บริการคุณภาพสูง
- การปฏิรูปธุรกิจช่วยให้สามารถบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เพิ่มอัตรากำไรอย่างต่อเนื่องในระยะยาว
- มีธุรกิจสนับสนุนที่ครบวงจร สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
- ผู้บริหารมีประสบการณ์สูงและมีวิสัยทัศน์ในการฟื้นฟูบริษัทฯ ร่วมผลักดันให้บริษัทฯ เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน
เปิดแผนระยะยาว ขยายฝูงบินเป็น 150 ลำ ทวงคืนมาร์เก็ตแชร์
โดยจากโอกาสของธุรกิจในอนาคต บมจ.การบินไทย ประกาศแผนธุรกิจระยะยาวของบริษัท ในปี 2576 ตั้งเป้าหมายจะขยายฝูงบินเพิ่มเป็นจำนวน 150 ลำ จากปัจจุบันที่มีจำนวน 77 ลำ โดยสิ้นปีนี้จะทยอยเพิ่มขึ้นเป็น 79 ลำ เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว
โดยในอนาคตบริษัทตั้งเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด หรือมาร์เก็ตแชร์ ในอนาคตสำหรับผู้โดยสารที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกลับไปที่ระดับ 42% ใกล้เคียงกับที่เคยทำได้ในปี 2556 ซึ่งในขณะนั้นบริษัทฯ มีฝูงบิน 100 ลำ ต่อมาในปี 2562 ส่วนแบ่งลดลงเหลือ 37% แม้มีฝูงบินอยู่ที่ 103 ลำ และในช่วงเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ ส่งผลให้ในปี 2566 บริษัทฯ ปรับโครงสร้างฝูงบินโดยการลดจำนวนลงเหลือ 70 ลำ ส่งผลกระทบต่อมาร์เก็ตแชร์ ทำให้ส่วนแบ่งลดลงมาที่ 27% เพื่อสร้างความคล่องตัวและเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมต้นทุนให้กับธุรกิจ
เป้าหมายเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ของการบินไทย
นอกจากนี้ การบินไทยมีแผนลงทุนสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยานที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา เพิ่มจากปัจจุบันซึ่งบริษัทฯ มีศูนย์ซ่อมอากาศยาน 2 แห่ง คือ ท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อรองรับฝูงบินของบริษัทฯ ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น รวมทั้งขยายโอกาสทางธุรกิจและหารายได้เพิ่มเติมจากการรับซ่อมอากาศยานให้กับสายการบินอื่นๆ รวมทั้งรองรับการเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานของภูมิภาค
หวังหุ้นการบินไทยเป็น Value Stock โตตามอุตสาหกรรมการบินโลก
ชาย เอี่ยมศิริ ยังให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า หุ้นของ บมจ.การบินไทย หรือ THAI ที่กำลังจะ Resume Trading ในตลาดหุ้นได้ในช่วงราวกลางปีนี้ ในมุมมองผู้บริหารต้องการให้ THAI เป็นหุ้น Value Stock ที่อิงตามปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจจริง เพราะมองว่ามีความยั่งยืนมากกว่า โดยต้องการให้ธุรกิจของบริษัทฯ เติบโตได้ตามทิศทางของอุตสาหกรรมการบินของโลก
ชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.การบินไทย
“มุมมองส่วนตัวผมไม่ค่อยเชื่อเรื่อง Speculative หุ้น เพราะมองว่าเป็นการลงทุนที่หวือหวา จะไม่ยั่งยืน” ชายกล่าว
ขณะที่ภาพรวมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในปี 2568 ยังไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง ยังมีโอกาสในการเติบโตที่ดี โดยประเมินประเทศไทยยังคงเป็น Top Destination ของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่ต้องการเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย
‘ศุภวุฒิ’ ชี้ การบินไทยไม่ควรกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ
ส่วน ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร และประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า มีมุมมองว่าการดำเนินธุรกิจสายการบินของ บมจ.การบินไทย ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันถือว่าได้รับประโยชน์จากภาครัฐ เพราะมีการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยบนสิทธิพิเศษ (Privilege) จากภาครัฐ ซึ่งสายการบินอื่นๆ ไม่ได้รับ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร และประธานสภาพัฒน์
อย่างไรก็ดี มีความเห็นว่าการบินไทยไม่ควรกลับไปเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอีก เพื่อให้ดำเนินธุรกิจในฐานะเอกชนที่มีความคล่องตัวมากกว่า ซึ่งกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บมจ.การบินไทย ก็เห็นด้วยในประเด็นนี้
นอกจากนี้ มีความเห็นว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการของ บมจ.การบินไทย ชุดใหม่ตามเงื่อนไขของแผนฟื้นฟูฯ ควรใช้บุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ และมีความเข้าใจในการบริหารจัดการธุรกิจสายการบินที่กำลังเผชิญความท้าทาย เช่น การแข่งขันที่สูง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)