×

การบินไทยไม่กลับสู่ ‘รัฐวิสาหกิจ’ คือทางออกจากวิกฤต พร้อมคืนชีพ ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ นำหุ้นกลับเข้าเทรดในปี 68

30.07.2024
  • LOADING...
การบินไทย รัฐวิสาหกิจ

หากย้อนกลับไปดูผลประกอบการย้อนหลัง 10 ปี ระหว่างปี 2556-2565 ของสายการบินแห่งชาติของไทย หรือ บมจ.การบินไทย หรือ THAI ที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 พบว่ามีกำไรสุทธิเป็นบวกเพียง 1 ปีเท่านั้นคือในปี 2564 ที่มีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ การขายทรัพย์สิน และเงินลงทุน หลังการบินไทยได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการในปี 2564

 

เหตุผลที่การบินไทยต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ ก็เพราะมีผลการดำเนินงานที่ขาดทุนยาวนานติดต่อกัน 8 ปี โดยปี 2563 มีผลขาดทุนสุทธิหนักกว่า 141,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขขาดทุนที่สูงสุดในประวัติการณ์ ทั้งนี้ ปี 2563 เป็นช่วงที่โรคโควิดแพร่ระบาดและสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก

 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของการบินไทยไม่ได้เกิดจากผลกระทบของโรคโควิดเพียงอย่างเดียว แต่โรคโควิดเป็นตัวเร่งให้การบินไทยต้องยื่นฟื้นฟูกิจการในปี 2563 จึงเป็นทางออกเอาตัวรอดเพื่อแก้ปัญหาขาดทุนที่หมักหมมมายาวนาน สะท้อนจากตัวเลขผลขาดทุนที่ออกมา และมีหนี้ที่ต้องแบกรับมหาศาลมากกว่า 200,000 ล้านบาท

 

และอีกส่วนคือที่ผ่านมาการบินไทยเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ จึงขาดความคล่องตัวในการทำธุรกิจ ไม่สามารถปรับตัวได้ทันจากการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

 

ปมปัญหา ‘การบินไทย’

 

 

ในช่วงยื่นการทำแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ออกบทวิเคราะห์ในหัวข้อ ‘ฟื้นฟูการบินไทย: ทำอย่างไรถึงจะยั่งยืน?’

 

โดยบทวิเคราะห์ส่วนหนึ่งของ TDRI ระบุว่า ข้อมูลงบการเงินของการบินไทย พบว่า ผลการดำเนินงานในปี 2560-2562 ซึ่งเป็นช่วง 3 ปีก่อนที่จะเกิดปัญหาโรคโควิด มีผลประกอบการที่ขาดทุนมาโดยตลอด และมีแนวโน้มขาดทุนมากขึ้น โดยพบการขาดทุน 2,000 ล้านบาทในปี 2560, ขาดทุน 11,000 ล้านบาทในปี 2561 และ ขาดทุน 12,000 ล้านบาทในปี 2562 จึงสะท้อนว่าธุรกิจไม่มีความสามารถในการแข่งขันมาก่อนหน้านี้นานแล้ว

 

คลังลดถือหุ้น ส่งการบินไทยเป็นเอกชน

 

กระทรวงการคลังเคยถือหุ้นการบินไทยในระดับกว่า 51% แต่ปัจจุบันถือหุ้นการบินไทยในสัดส่วน 48% หลังจากในปี 2563 ยอมลดสัดส่วนขายหุ้นออกมาให้กับกองทุนรวมวายุภักษ์ ส่งผลให้การบินไทยหลุดจากสถานะของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ กลายเป็นเอกชน และเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการในช่วงประมาณกลางปี 2564 ตามที่ศาลล้มละลายกลางเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ

 

เปิดชื่อคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย

 

  • ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ, อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และมีประสบการณ์การทำงานในองค์กรเอกชนชั้นนำของไทยมาแล้วหลายแห่งทั้งภาคธุรกิจและการเงิน
  • ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ และอดีตซีอีโอ บมจ.ปตท. หรือ PTT
  • พรชัย ฐีระเวช ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะตัวแทนกระทรวงการคลัง

 

ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย

 

อีกทั้งในปี 2563 ยังได้ผู้บริหารลูกหม้อมือดี คือ ‘ชาย เอี่ยมศิริ’ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายธุรกิจปิโตรเลียม ประกันภัยและสิ่งแวดล้อมการบิน มานั่งแท่นเก้าอี้ซีเอฟโอ คุมงานการเงินของการบินไทย จนส่งผลฐานะการเงินทยอยดีขึ้น จากนั้นต้นปี 2566 ได้รับแต่งตั้งเป็นซีอีโอ หรือตำแหน่งดีดีการบินไทย ที่คุมการบินไทยมาถึงปัจจุบัน

 

ผลงานผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการและดีดีการบินไทยชุดนี้ถือว่าทำได้อย่างโดดเด่น เพราะสามารถพลิกฟื้นผลการดำเนินงานที่ในปี 2563 ขาดทุนหนักกว่า 141,000 ล้านบาท กลับมามีรายได้ที่เติบโต และทำให้บริษัทมีกำไรที่เติบโตได้ โดยเน้นการบริหารควบคุมต้นทุน ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น รวมทั้งเพิ่มความสามารถในการให้บริการของสายการบินในช่วงที่ภาคการเดินทางท่องเที่ยวกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากโรคโควิด

 

  • ปี 2564 มีกำไรสุทธิ 55,100 ล้านบาท แม้ไม่ได้มาจากการดำเนินงาน แต่ปัจจัยหลักมาจากการปรับโครงสร้างหนี้ การขายทรัพย์สิน และเงินลงทุน ซึ่งเป็นการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ
  • ปี 2565 การบินไทยและบริษัทย่อยมีรายได้รวม 105,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 342% จากปี 2564 แต่ขาดทุน 272 ล้านบาท เพราะรับรู้ผลขาดทุนจากบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ที่บริษัทถือหุ้น 100% ซึ่งในปี 2565 มีผลขาดทุน 4,248 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสะสมถึง 20,000 ล้านบาท การบินไทยจึงตัดสินใจยุบ ‘ไทยสมายล์’ รวมกับ ‘การบินไทย’ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการและลดต้นทุนในการทำธุรกิจ
  • ปี 2566 มีกำไรสุทธิ 28,100 ล้านบาท เติบโตมากกว่า 10,000% จากปี 2565 เนื่องจากมีปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว และความต้องการเดินทางของผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • ในรอบ 12 เดือน (เดือนกุมภาพันธ์ 2565 – มกราคม 2566) บริษัทสามารถทำกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ออกมาได้มากกว่า 20,000 ล้านบาทแล้ว ซึ่งเข้าหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่กำหนดไว้ในการยื่นขอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ โดยถือว่าบริษัทสามารถทำ EBITDA ได้ในระดับดังกล่าวเร็วกว่าแผนงาน และสร้างกระแสเงินสดได้ถึงระดับประมาณ 40,000 ล้านบาท

 

ขณะที่ในปี 2567 การบินไทยยังคงเป้าหมายรายได้รวมที่ประมาณ 180,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีรายได้ 165,000 ล้านบาท โดยอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 78% และมั่นใจ EBITDA ปีนี้มากกว่า 20,000 ล้านบาท ด้วยปัจจัยบวกจากภาพธุรกิจที่ปัจจุบันฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง

 

รวมกระแสเงินสดที่ขึ้นตามการทำธุรกิจ ณ สิ้นไตรมาส 1/67 การบินไทยมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดรวม 52,700 ล้านบาท

 

ก่อนหน้านี้การบินไทยประกาศว่าเตรียมทยอยใช้ชำระคืนหนี้รวมประมาณ 130,000 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มทยอยจ่ายหนี้ทั้งหนี้สถาบันการเงินและหุ้นกู้ตั้งแต่ปี 2567 โดยใน 3 ปีแรกจะเริ่มจ่ายหนี้ประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อปี จากนั้นจะเริ่มทยอยคืนหนี้ลดลง ซึ่งบริษัทจะทยอยชำระหนี้ครบทั้งหมดในปี 2574

 

ผลการดำเนินงานการบินไทย ปี 2566

 

 

‘การบินไทย’ เป็นเอกชน การบริหารงานมีประสิทธิภาพดีกว่า

 

โดยล่าสุดชาญศิลป์เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า เงื่อนไขหลักในการออกแผนฟื้นฟูกิจการประกอบไปด้วย 4 ข้อสำคัญ ได้แก่

 

  1. การเพิ่มทุน
  2. ทำส่วนผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวก
  3. มี EBITDA จากการดำเนินงานหลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบินเกิน 20,000 ล้านบาท ในรอบ 12 เดือน
  4. แต่งตั้งกรรมการบริษัทชุดใหม่

 

โดยปัจจุบันการบินไทยอยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการเตรียมเพิ่มทุนและแต่งตั้งกรรมการบริษัทชุดใหม่ ซึ่งตามแผนจะเสร็จสิ้นภายในปี 2567

 

ชาญศิลป์อธิบายต่อว่า การบินไทยจะดำเนินการแผนเพิ่มทุนให้เสร็จสิ้นภายในปี 2567 ส่วนรายละเอียดรูปแบบของการเพิ่มทุนจะขายหุ้นเพิ่มทุน ทั้งแบบขายหุ้นเพิ่มทุนให้บุคคลในวงจำกัด (Private Placement: PP), ขายหุ้นเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Right Offering: RO) และขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้บริหารและพนักงาน (ESOP)

 

“การเพิ่มทุนขึ้นอยู่ที่ฝั่งรัฐบาลว่าจะเข้ามาใส่เงินเพิ่มทุนมากหรือน้อยแค่ไหน แต่นโยบายเดิมในการทำธุรกิจการบิน ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง เพราะฉะนั้นธุรกิจจะต้องมีความสามารถในการดำเนินการได้คล่องตัวและมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องไปใช้ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างแบบหน่วยงานภาครัฐหรือรัฐวิสาหกิจ เพราะวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายในการทำธุรกิจของหน่วยงานภาครัฐจะแตกต่างจากเอกชน ดังนั้นการที่การบินไทยมีสถานะเป็นหน่วยงานเอกชนจะมีความคล่องตัวมากกว่าในการทำธุรกิจ เหมือนบริษัทเอกชนต่างๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่การบินไทยก็ยังมีรัฐบาลถือหุ้นอยู่ เพียงแต่ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ”

 

อย่างไรก็ดี ภายหลังการเพิ่มทุนดังกล่าว กระทรวงการคลังจะใช้สิทธิ์ซื้อหุ้นเพิ่มทุน จนส่งผลให้การบินไทยกลับมาเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถตอบในประเด็นนี้ได้ชัดเจน

 

แต่ด้วยธุรกิจการบินที่มีการแข่งขันสูงมาก อีกทั้งนโยบายของประเทศก็มีนโยบายให้แข่งขันอย่างเสรี ซึ่งการบินไทยจำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในการแข่งขัน และจำเป็นต้องมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการในการทำธุรกิจ ดังนั้นด้วยเจตนารมณ์แรกของเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นเดิมไม่ต้องการให้การบินไทยต้องกลับเข้าไปเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ แต่ต้องการให้คงสถานะเป็นเอกชนต่อไป โดยมีรัฐบาลร่วมถือหุ้นใหญ่ เพื่อให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพตามเป้าหมายและมีความโปร่งใส เพื่อดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุน รวมถึงมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนภาคธุรกิจในไทย ทั้งกลุ่มท่องเที่ยว อาหาร และเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ในการนำผู้โดยสารต่างชาติเข้ามาสู่ไทย

 

“ธุรกิจของการบินไทยถือว่ามีผลต่อการจ้างงานของไทย เพราะมีทั้งการจ้างงานพนักงานจำนวนมาก มีจำนวนผู้ถือหุ้นเกือบ 100,000 ราย อีกทั้งมีเจ้าหนี้อีก 13,000 ราย หากการบินไทยต้องเป็นอะไรไปอีก ก็จะมีผลกระทบเกิดขึ้นในวงกว้างด้วย”

 

ซีอีโอการบินไทยมั่นใจนำหุ้นกลับมาเทรดในปี 2568

 

ชายเปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ความคืบหน้าของแผนเพิ่มทุนกับการทำส่วนผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวกจะเสร็จสิ้นตามแผนในปี 2567 ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญหลักที่จะทำให้บริษัทออกจากแผนฟื้นฟูกิจการตามแผนที่บริษัทตั้งไว้ และเป็นตามกรอบเงื่อนไขของแผนฟื้นฟูกิจการ

 

ชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.การบินไทย

 

ดังนั้นคาดว่าจะสามารถนำบริษัทออกแผนฟื้นฟูกิจการ และนำหุ้นกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2568 ตามแผนที่วางไว้ และยังเป็นไปตามกรอบของแผนฟื้นฟูกิจการ และจะยังคงสถานะของการบินไทยเป็นเอกชนต่อไป โดยไม่กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ

 

TDRI ชี้ ภาครัฐต้องลดบทบาทความเป็นเจ้าของ

 

ขณะที่บทวิเคราะห์ของ TDRI หัวข้อ ‘ฟื้นฟูการบินไทย: ทำอย่างไรถึงจะยั่งยืน?’ ยังให้ข้อเสนอแนะว่า การฟื้นฟูการบินไทยต้องอาศัยประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจของเอกชน โดยภาครัฐควรจะลดบทบาทในการเข้าไปแทรกแซงการฟื้นฟูกิจการโดยตรง และให้ภาคเอกชนเป็นตัวหลักในการทำแผนฟื้นฟูกิจการ

 

นอกจากนี้ การดำเนินธุรกิจในอนาคตของภาครัฐควรจะต้องลดบทบาทลง ไม่แต่งตั้งบอร์ดผู้บริหารเข้าไปจำนวนมาก โดยภาครัฐควรจะวางแผนลดบทบาทความเป็นเจ้าของบริษัทลงอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อให้บริษัทดำเนินธุรกิจในรูปแบบของเอกชนมากกว่าในรูปแบบของรัฐวิสาหกิจที่ภาครัฐมีบทบาทในการกำหนดมากจนเกินไป

 

หากภาครัฐไม่สามารถที่จะดำเนินงานในลักษณะดังกล่าวได้ จุดเหมาะสมที่ทำให้เกิดความยั่งยืนทางการคลังอาจจะเป็นการปล่อยให้ธุรกิจเลิกกิจการ และให้บริษัทเอกชนอื่นเข้ามาดำเนินการให้บริการแทน อย่าลืมว่าธุรกิจสายการบินในปัจจุบันมีการแข่งขันสูง และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการเดินทางเข้ามาไทยหรือนักท่องเที่ยวไทยที่ต้องการเดินทางไปต่างประเทศมีทางเลือกในการเดินทางจำนวนมาก ไม่ใช่เหตุผลความจำเป็นที่ต้องมีการบินไทย

 

งบการเงินการบินไทย ย้อนหลัง 5 ปี

 

ขณะที่ ประภาศ คงเอียด อดีตผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เคยเป็นหนึ่งในซูเปอร์บอร์ด หรือคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานการแก้ไขปัญหา บมจ.การบินไทย ในยุคของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งแต่งตั้งซูเปอร์บอร์ดเพื่อมาเริ่มแก้วิกฤตการบินไทยในปี 2563 ได้กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า มองว่าแนวทางการแก้ปัญหาของการบินไทยปัจจุบันดำเนินการมาได้ถูกทางแล้ว

 

อีกทั้งมีความเห็นว่าการบินไทยไม่ควรกลับไปเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอีก เพื่อให้การทำธุรกิจเกิดความคล่องตัว รองรับการแข่งขันกับสายการบินต่างประเทศได้ เพราะการเป็นเอกชนจะช่วยให้การบริหารงานสะดวกมากกว่า เพราะหากเป็นรัฐวิสาหกิจต้องอยู่ภายใต้ระเบียบของราชการ ซึ่งจะมีข้อจำกัดค่อนข้างมากในการทำธุรกิจ

 

นักวิชาการชี้ การบินไทยต้องเพิ่มคุณภาพบริการ

 

นักวิชาการที่มีความเห็นสอดคล้องกับ TDRI คือ ผศ. ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า มองว่าแผนการลดต้นทุนควบคุมค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ ของการบินไทยที่ผ่านมามีผลกระทบต่อคุณภาพของอาหารและบริการของลูกเรือบนเครื่องบินให้ลดลง เพราะการบินไทยลดจำนวนลูกเรือลงในช่วงที่ผ่านมา โดยที่ผ่านมามักเห็นการร้องเรียนคุณภาพการให้บริการเป็นข่าวออกมาเป็นระยะตามช่องทางสื่อต่างๆ หลังเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ ขณะที่ราคาตั๋วโดยสารยังคงเดิม สะท้อนว่ารายได้ของการบินไทยจะเพิ่มขึ้นทันที

 

อย่างไรก็ดี มองว่าหากการบินไทยยังไม่มีการปรับปรุงยกระดับคุณภาพการให้บริการต่างๆ ให้กลับมาดีขึ้นและมีคุณภาพเทียบเคียงกับคู่แข่ง จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของการบินไทยให้ลดลงได้ในระยะยาวอย่างมาก เพราะหากเปรียบเทียบกลุ่มสายการบินของตะวันออกกลางที่ปัจจุบันตั๋ว Economy สามารถให้บริการที่มีคุณภาพดีใกล้เคียงกับตั๋ว Business แล้ว หากการบินไทยไม่ปรับคุณภาพการให้บริการ แม้จะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ แต่ในระยะยาวก็มีความเสี่ยงจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันจากปัญหาคุณภาพการให้บริการที่ด้อยกว่า

 

นอกจากนี้ ไม่เห็นด้วยหากการบินไทยจะกลับเข้าไปเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจอีกครั้ง ควรที่จะบริหารเป็นเอกชนแบบเต็มตัว เนื่องจากการเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจจะมีข้อเสียอย่างมาก เพราะมีรัฐบาลหรือฝ่ายการเมืองสามารถเข้ามาแทรกแซงการทำธุรกิจได้ในการกำหนดสเปกจัดซื้อจัดจ้าง โดยอาศัยช่องทางกฎระเบียบของราชการ ซึ่งในอดีตก็มีกระทรวงคมนาคมเข้ามาล้วงลูกโดยตลอดในประเด็นดังกล่าว อีกทั้งมีการปูนบำเหน็จ ส่งคนจากฝ่ายการเมืองมานั่งเป็นบอร์ดของการบินไทย จนสร้างปัญหาให้กับธุรกิจของการบินไทยมาถึงปัจจุบัน ดังนั้นควรส่งบุคคลที่มีความสามารถเหมาะสม มีวิสัยทัศน์ เป็นมืออาชีพ มานั่งเป็นบอร์ดเพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้ในระยะยาว

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X