สถานการณ์เศรษฐกิจจีนที่กำลังชะลอตัวกับปัญหา Oversupply ตลาดรถ EV ในขณะนี้สะเทือนมายังผู้ประกอบการพลังงานรายใหญ่ของไทยแล้ว ส่งผลให้ บมจ.ปตท. (PTT) อาจจำเป็นต้องตัดสินใจถอนการลงทุนในโครงการร่วมทุนมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท กับกลุ่มฟ็อกซ์คอนน์เพื่อตั้งโรงงานผลิตรถ EV ในไทย เบื้องลึกของเหตุผลคืออะไร
แหล่งข่าวระดับสูงในอุตสาหกรรมยานยนต์เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า คาดว่า ปตท. ตัดสินใจยุติการลงทุนโครงการร่วมทุน (JV) ก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทยมาสักระยะแล้ว โดยเป็นโครงการที่ ปตท. เซ็นสัญญาร่วมทุนในปี 2022 กับบริษัท หลินยิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล อินเวสเมนท์ จำกัด (Lin Yin International Investment) ในกลุ่มของบริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (Hon Hai Precision Industry) หรือฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี กรุ๊ป (Foxconn Technology Group) ร่วมกันจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด (Horizon Plus)
โดยที่ ARUN PLUS ถือหุ้น 60% และหลินยิ่งถือหุ้นอีก 40% ตามแผนความร่วมมือด้านการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย โดยมีมูลค่าการร่วมทุนประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 3 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ตามแผนดำเนินงานเดิมกลุ่ม ปตท. ตั้งใจวางโพสิชันของ ARUN PLUS เป็น EV Flagship ซึ่ง Horizon Plus มีเป้าหมายที่จะก่อตั้งโรงงานผลิตรถ EV บนพื้นที่กว่า 350 ไร่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย ซึ่งเดิมมีกำหนดแล้วเสร็จและสามารถผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 4 ล้อ หรือรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ออกสู่ตลาดได้ภายในปี 2024 มีกำลังการผลิตที่ 50,000 คันต่อปีในเฟสแรก และจะขยายกำลังการผลิตไปถึง 150,000 คันต่อปีภายในปี 2030 เพื่อให้สอดรับกับความต้องการใช้รถ EV ทั้งภายในประเทศและภูมิภาคอาเซียนที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการตัดใจลงทุน JV ของ ปตท. ในการสร้างโรงงานที่เกิดขึ้นในปี 2022 ซึ่งมี อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. ที่เพิ่งครบวาระในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จากนั้น ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง เข้ารับไม้ต่อเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่
อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าสถานการณ์อุตสาหกรรมรถ EV ของโลกกับไทยในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจาก ช่วงปี 2022 ซึ่งไทยยังไม่มีโรงงานผลิตรถ EV ในประเทศ ส่งผลให้รัฐบาลในยุคนั้นที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี มีนโยบายสนับสนุนให้ ปตท. ดำเนินการลงทุนในโรงงานผลิตรถ EV ในประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการให้ไทยมีสัดส่วนการผลิตรถ EV เพิ่มเป็น 30% หรือประมาณ 700,000 คันต่อปีภายในปี 2030 จากกำลังผลิตรถยนต์รวมของทั้งประเทศอยู่ที่ราว 2,000,000 คันต่อปี เพิ่มจากปัจจุบันที่มีการผลิตรถ EV ในไทยที่น้อยมากอยู่ที่ราว 10,000 คันต่อปี จากยอดรถยนต์รวมที่ 1,600,000-1,700,000 คันต่อปี
เปิดปมเหตุกลุ่ม ปตท. ถอนลงทุนโรงงานผลิตรถ EV
แหล่งข่าวกล่าวถึงสาเหตุสำคัญที่ ปตท. จะถอนการลงทุนร่วมทุนในโรงงานผลิตรถ EV ว่ามาจาก 2 ประเด็นหลัก ได้แก่
- ผลกระทบจากการผลิตรถ EV ในประเทศของจีนมีปัญหา Oversupply ประกอบกับปัจจัยเศรษฐกิจภายในของจีนที่ยังชะลอตัว ส่งผลให้ผู้ผลิตรถ EV จีนต้องเร่งส่งออกระบายรถออกมายังตลาดต่างประเทศในลักษณะทุ่มตลาด ส่งผลให้รถ EV ที่ส่งออกจากจีนมีราคาถูก ซึ่งผลกระทบไปยังอุตสาหกรรมรถ EV ทั่วโลก
- ต้องยอมรับว่าจุดเริ่มต้นของดีลร่วมทุนของโรงงานผลิตรถ EV นั้นเพื่อเป็นผู้รับจ้างผลิต (OEM) ให้กับผู้ผลิตค่ายรถยนต์ต่างๆ ที่ต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถ EV
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันค่ายผลิตรถยนต์จำนวนมากประกาศแผนลงทุนและเริ่มทยอยลงทุนในไทยแล้ว ทั้งกลุ่ม Great Wall Motor, NETA, MG, BYD, GAC AION และ CHANGAN ซึ่งโรงงานจะทยอยเสร็จและเริ่มผลิตรถ EV ตั้งแต่ปีนี้และต่อเนื่องถึงปี 2025 ส่งผลให้ค่ายรถยนต์ต่างๆ ไม่มีความจำเป็นต้องใช้โรงงาน OEM อีกต่อไป
“โรงงานร่วมทุนผลิตรถ EV ระหว่าง ปตท. กับฟ็อกซ์คอนน์แห่งนี้ ตอนนี้หยุดการก่อสร้างไว้ชั่วคราว เพราะอยู่ระหว่างการเจรจาของทั้ง 2 ฝ่าย เพราะฝั่ง ปตท. คงถอนการลงทุนจากโครงการนี้ รวมทั้งคงต้องปิดบริษัท อรุณ พลัส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้น 100% ที่ร่วมทุนในโครงการนี้ เดิมตั้งใจให้อรุณ พลัส เป็น EV Flagship ของกลุ่ม ปตท. จากนั้นคาดว่า ปตท. จะโอนย้ายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสถานีชาร์จรถ EV ทั้งหมดที่เคยอยู่กับอรุณ พลัส ไปรวมไว้ภายใต้ บมจ.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ส่วนโรงงานผลิตรถ EV แห่งนี้จะเดินหน้าต่อหรือไม่นั้นก็ขึ้นกับการตัดสินใจของกลุ่มฟ็อกซ์คอนน์”
โมเดลรถ EV ของโรงงาน Horizon Plus
ซีอีโอ ปตท. ยอมรับหยุดก่อสร้างโรงงานรถ EV ชั่วคราว
ขณะที่เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ดร.คงกระพัน กล่าวในงานแถลงข่าวผลการดำเนินงานของ ปตท. ในไตรมาส 3 และ 9 เดือนแรกประจำปี 2024 ว่า ความคืบหน้าในโครงการโรงงานผลิตรถยนต์ที่บริษัทร่วมมือกับฟ็อกซ์คอนน์จากไต้หวัน เพื่อผลิตรถ EV ในไทย ปัจจุบันหยุดการก่อสร้างไว้ชั่วคราว โดยอยู่ระหว่างการเจรจากับพาร์ตเนอร์คือฟ็อกซ์คอนน์ เนื่องจากต้องการให้ฟ็อกซ์คอนน์เป็นผู้ดำเนินการหลักของโครงการนี้ เพราะมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจรถ EV มากกว่ากลุ่ม ปตท. โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนออกมาในปีหน้า
ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.
สำหรับการพิจารณาดำเนินการธุรกิจรถ EV ต้องพิจารณาให้ดี เพราะที่ผ่านมาอุตสาหกรรมดังกล่าวเผชิญกับภาวะการแข่งขันสูงของราคารถ EV จากจีน รวมทั้งยังมีผลต่อราคาขายรถ EV ที่ลดลง แม้กระทั่ง Tesla ก็ได้รับผลกระทบ ส่งผลให้ลดราคาลง ดังนั้นต้องพิจารณาโครงการที่สามารถดำเนินการต่อไปได้ อย่างเช่นการลงทุนจุดชาร์จรถ EV มองว่าเป็นโอกาสมากกว่า หรือแม้แต่ไฮโดรเจนที่มีความสำคัญสำหรับการใช้ในอุตสาหกรรม
ปตท. ลงทุน OCA หากรัฐบาลเจรจากับกัมพูชาได้สำเร็จ
ขณะที่กรณีพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (Overlapping Claims Area: OCA) ที่ดำเนินการโดยรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา หากสามารถดำเนินการและบรรลุข้อตกลงได้สำเร็จ กลุ่ม ปตท. มีความพร้อมในการเข้าไปการแข่งขันและมีส่วนร่วมในการลงทุนพัฒนาในพื้นที่ OCA เพราะมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจขุดเจาะสำรวจ รวมทั้งกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นธุรกิจหลักของบริษัทที่ดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบัน และจะช่วยให้ไทยมีแหล่งก๊าซธรรมชาติใช้ในราคาที่ถูกลง
“ปตท.สผ. มีความพร้อม เพราะทำธุรกิจก๊าซธรรมชาติมาต่ออย่างต่อเนื่อง โดยมีธุรกิจที่ทำอยู่ทั่วโลก รวมทั้ง ปตท. ก็มีความเชี่ยวชาญ เป็นบริษัทของคนไทย ซึ่งแหล่ง OCA อยู่ใกล้กับเรา ดังนั้นต้องมีความพร้อม ขณะที่ ปตท.สผ. ก็มีแท่นขุดเจาะอยู่ใกล้กับพื้นที่ OCA มีระยะห่างเพียง 50-60 กิโลเมตร หากรัฐบาลสามารถตกลงกันได้สำเร็จก็จะทำเราได้ก๊าซธรรมชาติมาใช้ได้เร็วขึ้น จากเดิมที่ใช้เวลาถึง 10 ปีอาจลดลงเหลือ 5-6 ปี ซึ่งมีข้อดีคือทำให้ไทยมีก๊าซทำธรรมชาติใช้ในราคาที่ถูกลง ทำให้ค่าไฟฟ้าของไทยถูกลงด้วย” ดร.คงกระพัน กล่าว
แผนที่พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (Overlapping Claims Area: OCA)
ชูแผนกลยุทธ์ธุรกิจ เน้นธุรกิจก๊าซธรรมชาติ-ไฮโดรเจน
ขณะที่แผนกลยุทธ์ธุรกิจปี 2025 และแผนธุรกิจระยะ 5 ปี (ปี 2025-2029) บริษัทจะมีการประชุม STS (Strategic Thinking Session) ช่วงกลางปีนี้ และคาดว่าจะเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาได้ช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้
สำหรับกลยุทธ์หลักจะมุ่งเน้นการเติบโตของกำไรและรายได้ โดยกลยุทธ์ระยะสั้นจะเร่งผลักดันธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) และธุรกิจไฮโดรเจน โดยจะเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการกักเก็บคาร์บอนจากกระบวนการผลิตของ ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ปตท.
อีกทั้งจะมองหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจไฮโดรเจนต่างประเทศ เพื่อรองรับการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มเติม และมีเป้าหมายนำไฮโดรเจนเข้ามาผสมกับเชื้อเพลิงหลัก เพื่อลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในอนาคต รวมถึงธุรกิจก๊าซธรรมชาติ (LNG) โดยจะมุ่งเน้นการนำเข้า LNG เพื่อนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก
สำหรับมุมมองภาพรวมธุรกิจปิโตรเคมีในปี 2025 คาดว่าจะดีขึ้นกว่าปีนี้ เนื่องจากประเมินว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกมีทิศทางเติบโตขึ้น และคาดว่าในปีหน้ามีการตั้งด้อยค่าน้อยลง ส่วนธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเคมีภายใต้ ปตท.สผ. คาดว่าปริมาณการผลิตและขายจะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศ
ขณะที่ ปตท.จะยังมุ่งเน้นการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (Operational Expenditures) อย่างต่อเนื่อง หลังจากปีนี้สามารถลดลงได้ราว 8% สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้
สำหรับการปรับพอร์ตการลงทุนของกลุ่ม ปตท. โดยเฉพาะธุรกิจหลักเดิมคือปิโตรเคมีและโรงกลั่น ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการหาพันธมิตรเข้ามาเสริมความแข็งแกร่ง โดยแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ให้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวด้วย คาดว่าจะมีความคืบหน้าในปี 2025 อีกทั้งยังหาพันธมิตรในธุรกิจ Life Science ซึ่งดำเนินธุรกิจผ่านบริษัทย่อยคือบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในปี 2025 เช่นกัน
ส่วนปัญหาของ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) เกี่ยวกับผู้รับเหมาช่วงโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ที่ชุมนุมบริเวณหน้าโรงกลั่นไทยออยล์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เนื่องจากไม่ได้รับเงินค่าจ้างจากผู้รับเหมาหลัก บริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจ มีทีมเข้าไปให้คำแนะนำ เพราะถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ โดย TOP เป็นธุรกิจที่มีกำไรและเม็ดเงินลงทุนในโครงการเพียงพอ ดังนั้นการก่อสร้างโรงงานจะต้องเดินหน้าต่อไป