×

เตือนหากรัฐบาลต้องการออกสเตเบิลคอยน์ ต้องศึกษารอบด้าน ป้องกันการฟอกเงิน-ภาวะเงินกลายเป็นกระดาษ

18.12.2024
  • LOADING...

ผู้เชี่ยวชาญวงการสินทรัพย์ดิจิทัลยินดีหากรัฐบาลเดินหน้าออกสเตเบิลคอยน์ เห็นด้วยที่เริ่มทำจากพื้นที่นำร่องหรือแซนด์บ็อกซ์ก่อน แนะควรออกตามกรอบวินัยการเงินการคลัง ท่ามกลางความกังวลของหลายฝ่ายเกี่ยวกับการพิมพ์เงินเองของรัฐบาลจนอาจทำให้เงินบาทสูญเสียมูลค่ากลายเป็นแค่กระดาษ ขณะที่นักวิชาการแนะรัฐศึกษาผลกระทบให้รอบด้าน หวั่นเกิดการฟอกเงิน

 

ไม่นานมานี้ ในงานสัมมนาพรรคเพื่อไทย ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นำเสนอแนวคิดการอนุญาตใช้บิทคอยน์ โดยใช้ภูเก็ตเป็นพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ รวมทั้งการออกสเตเบิลคอยน์ที่ค้ำประกันด้วยพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond)

 

พร้อมเปิดเผยว่า แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงการคลังศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการดังกล่าวแล้ว โดยหวังจะใช้การออกสเตเบิลคอยน์เพิ่มเม็ดเงินไหลเวียนในเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจเติบโต

 

โดยทักษิณกล่าวว่า GDP ปี 2568 คาดว่าจะโตได้ 3.5% ส่วนปี 2569 จะโตได้ 4% ซึ่งวันนี้เราไม่พอใจ เพราะหาก GDP ไม่ถึง 5% ประเทศไทยจะด้อยกว่าประเทศอื่นในอาเซียน เม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจเราถูกดูดออกหมด เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไม่อยากปล่อยกู้ธุรกิจที่ยังไม่มั่นคง จึงต้องหาเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยที่ไม่เป็นภาระกับประเทศ เพราะขณะนี้หนี้สาธารณะของไทยอยู่ในระดับสูงถึง 68% จากเพดานหนี้สาธารณะ 70%

 

“วันนี้มีวิธีลดหนี้สาธารณะอยู่ 2 อย่างคือ ทำ GDP ให้โต และลดการขาดดุล หรือจัดเก็บภาษีให้เพียงพอ ซึ่งทั้ง 2 เรื่องเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยากทั้งคู่ แต่ก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรง เพราะพรรคเพื่อไทยเกิดมาด้วยความสามารถทางเศรษฐกิจ” อดีตนายกฯ กล่าวในงาน

 

ทั้งนี้ สเตเบิลคอยน์เป็นคริปโตเคอร์เรนซีประเภทหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเด่นตรงที่มีการตรึงมูลค่า (Peg) ไว้กับสินทรัพย์ที่มีความมั่นคง เช่น ทองคำ พันธบัตร สกุลเงินต่างๆ ตัวอย่างเช่น กำหนดให้ 1 เหรียญสเตเบิลคอยน์มีมูลค่าเท่ากับ 1 บาท

 

ปัจจุบันมีบริษัทเอกชนในต่างประเทศเคยออกสเตเบิลคอยน์ลักษณะเดียวกันนี้ โดยตรึงมูลค่าไว้กับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในโปรเจกต์ M^0 (M Zero) เป็นสเตเบิลคอยน์ที่ใช้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นหลักประกัน เน้นความโปร่งใส เหมาะสมสำหรับสถาบันการเงิน และสามารถใช้งานระบบการเงินแบบกระจายศูนย์ได้ (DeFi)

 

กูรูมองทำได้ แต่ควรทำภายใต้กรอบนโยบายการเงินการคลัง

 

ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ Managing Director Trustender, Founder Thai Bitcast และกรรมการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH เห็นด้วยที่รัฐบาลจะลองดำเนินโครงการดังกล่าวนำร่องในพื้นที่เล็กๆ ก่อน โดยระบุว่า “กรอบคิดที่ว่าเป็นหมุดหมายที่ดี อีกอย่างพอทำเป็นแซนด์บ็อกซ์หมายความว่าเราจะเห็นผลก่อนว่ามันดีหรือไม่ดี มีผลด้านบวกด้านลบในแง่มุมไหนบ้าง”

 

พร้อมกล่าวอีกว่า “หากทดลองเป็นแซนด์บ็อกซ์ก็สามารถสำรวจในท้องที่ก่อนได้ แล้วค่อยมาดูว่าต้องพิมพ์เท่าไร”

 

ท่ามกลางความกังวลที่ว่า การที่รัฐบาลสามารถออกสเตเบิลคอยน์ได้เอง อาจจะเป็นการพิมพ์เงิน และอาจทำให้เงินบาทสูญเสียมูลค่า ศุภกฤษฎ์แสดงความคิดเห็นว่า “โดยปกติรัฐบาลจะพิมพ์ (Mint) เงินขึ้นมาอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ารูปแบบที่ออกมาจะเป็นรูปแบบกระดาษ ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการออกสเตเบิลคอยน์ก็ขอให้อยู่ในกรอบของนโยบายทางการเงินการคลัง หมายความว่า ในกรอบทำได้เท่านี้ ก็ไม่ควรเกิน มันอาจจะไปลดส่วนอื่นและไปเพิ่มส่วนนี้แทน” 

 

แนะรัฐศึกษาผลกระทบ หวั่นเกิดการใช้สเตเบิลคอยน์ฟอกเงิน

 

ด้าน ผศ. ดร.ณพล หงสกุลวสุ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เน้นย้ำว่า ปัจจุบันการใช้งานสเตเบิลคอยน์มีความเป็นส่วนตัวสูงมาก เนื่องจากบนบล็อกเชนไม่มีการ KYC แต่กลับกันก็ทำให้การตรวจสอบที่มาของเงินเป็นเรื่องยากมากขึ้น

 

ดังนั้นจึงห่วงว่าการใช้สเตเบิลคอยน์อาจทำให้เกิดผลกระทบคือ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะตรวจสอบที่มาของเงินได้ยากขึ้น ไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นเจ้าของเงินที่ใช้จ่าย และไม่ทราบที่มาของเงินว่าถูกกฎหมายหรือไม่ จำเป็นต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามากำกับเรื่องนี้ จึงจะสามารถออกนโยบายได้จริง

 

ทั้งนี้ KYC คือกระบวนการตรวจสอบและยืนยันตัวตนของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ เพื่อยืนยันว่าลูกค้าเป็นบุคคลที่เขาบอกว่าเขาเป็นจริงๆ โดย KYC มักถูกใช้ในธุรกิจทางการเงิน เช่น ธนาคาร สถาบันการเงิน และบริษัทที่ให้บริการทางดิจิทัล เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่น การฟอกเงิน การทุจริต

 

ภาพ: Funtap / Shutterstock

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising