×

สรุปภาพรวม ‘ตลาดคาร์บอน’ ในปัจจุบัน จับตาเอเชียเร่งเครื่อง Carbon Pricing ในปี 2025

18.12.2024
  • LOADING...
wealth-in-depth-carbon-market-overview-asia-2025

HIGHLIGHTS

  • หลายประเทศในเอเชียมีแผนที่จะออกมาตรการกำหนดราคาคาร์บอนเพิ่มเติมในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
  • รวมถึงรัฐบาลไทยที่เตรียมเริ่มเก็บภาษีคาร์บอนอย่างเร็วที่สุดภายในปีงบประมาณ 2025 ในอัตรา 200 บาทต่อตันคาร์บอน โดยเริ่มจากน้ำมันเชื้อเพลิงก่อน ทำให้ไทยเตรียมเป็นประเทศที่ 2 ของอาเซียนต่อจากสิงคโปร์ที่มีภาษีคาร์บอน
  • สำหรับสถานการณ์การกำหนดราคาคาร์บอนทั่วโลกนับว่ามีพัฒนาการอย่างมาก โดยปัจจุบันครอบคลุมการปล่อยคาร์บอนทั่วโลกกว่า 24% แล้วเมื่อเทียบกับ 2 ทศวรรษก่อน ที่ครอบคลุมการปล่อยมลพิษทั่วโลกเพียง 7% เท่านั้น
  • ขณะที่ราคาคาร์บอนเครดิตของไทยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 125 บาทต่อตันคาร์บอน ‘ต่ำกว่า’ ราคาคาร์บอนเฉลี่ยทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ราว 6 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันคาร์บอน
  • ส่วนมูลค่าตลาดคาร์บอน (ภาคสมัครใจ) ของไทยสูงกว่า 85 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2024 นับว่าขยายตัวกว่า 25% จากปีงบประมาณ 2023 ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 68 ล้านบาท
  • ด้านผู้เชี่ยวชาญมองว่าตลาดคาร์บอนโลกยังเติบโตช้าเกินไปในการรับมือกับภาวะโลกร้อน พร้อมย้ำการเพิ่มความเชื่อมั่นและเพิ่มขีดความสามารถของตลาดคาร์บอนเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดดังกล่าว

ตามข้อมูลจากรายงาน State and Trends of Carbon Pricing 2024 ฉบับล่าสุดของธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่า ในปี 2023 รายได้จาก ‘กลไกการกำหนดราคาคาร์บอน’ (Carbon Pricing) ซึ่งรวมไปถึงการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดภาคสมัครใจ ภาคบังคับ และภาษีคาร์บอน แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.04 แสนล้านบาทแล้ว โดยรายได้ส่วนนี้มากกว่าครึ่งหนึ่งถูกนำไปใช้ในโครงการสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติด้วย

 

World Bank เปิดเผยอีกว่า ปัจจุบันกลไกภาคบังคับ (Compliance Mechanism) ได้แก่ การเก็บภาษีคาร์บอน และ ETS ครอบคลุมการปล่อยคาร์บอนทั่วโลกกว่า 24% แล้วเมื่อเทียบกับรายงานฉบับแรกเมื่อประมาณ 2 ทศวรรษก่อนที่ครอบคลุมการปล่อยมลพิษทั่วโลกเพียง 7% เท่านั้น

 

การกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) คืออะไร

 

กลไกการกำหนดราคาคาร์บอนหมายถึงการทำให้คาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ มีราคา โดยแบ่งเป็น 2 กลไกหลัก ได้แก่ การใช้กลไกตลาดผ่านตลาดคาร์บอน (Carbon Market) และกลไกการกำหนดภาษีคาร์บอน (Carbon Tax)

 

เปิดขนาด ‘ตลาดคาร์บอน’ ไทย vs. โลก

 

ตามรายงาน State and Trends of Carbon Pricing 2024 แสดงให้เห็นว่ามูลค่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนแบบสมัครใจ (Voluntary Markets) ในปี 2023 มีขนาดอยู่ที่ 723 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับว่าลดลงอย่างมากจาก 1.87 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การลดลงดังกล่าวมีสาเหตุหลักมาจากความกังวลต่อความสมบูรณ์ถูกต้องและความซื่อตรงด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Integrity Concerns) ที่เพิ่มขึ้น

 

ตามข้อมูลล่าสุดขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ระบุว่า ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของประเทศไทยมีมูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 85,794,604 บาท ในปีงบประมาณ 2024 นับว่าขยายตัวกว่า 25% จากปีงบประมาณ 2023 ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 68,321,090 บาท

 

‘ราคาคาร์บอน’ ไทยและโลกอยู่ที่เท่าไร?

 

ตามรายงาน State and Trends of Carbon Pricing 2024 ระบุว่า ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ราคาคาร์บอนเฉลี่ยทั่วโลกยังคงต่ำกว่า 6 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันคาร์บอน ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำเกินไปในการรับมือกับปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างมีประสิทธิภาพ ตามการประเมินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

 

โดย IMF ยังเสนอว่า เพื่อจะทำให้มั่นใจได้ว่าต้นทุนของการเปลี่ยนผ่านจะถูกจัดสรรตามความรับผิดชอบที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ จึงเสนอให้มีการกำหนดราคาคาร์บอนขั้นต่ำที่ 25 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันสำหรับประเทศรายได้ต่ำ (Low-Income Countries) 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันสำหรับประเทศรายได้ปานกลาง (Middle-Income Countries) และ 75 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันสำหรับประเทศรายได้สูง (High-Income Countries) เพื่อให้เกิดความยุติธรรมมากขึ้น

 

ตามข้อมูลล่าสุดของ อบก. ระบุว่า ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของประเทศไทยมีมูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 85,794,604 บาท ในปีงบประมาณ 2024 โดยมีการซื้อขายคาร์บอนอยู่ที่ 686,079 ตันคาร์บอน สะท้อนว่าราคาเฉลี่ยต่อตันอยู่ที่ 125 บาทต่อตันคาร์บอน

 

ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) คืออะไร?

 

ภาษีคาร์บอนหมายถึงการจัดเก็บภาษีที่เก็บจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงหรือกระบวนการผลิตที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก โดยสามารถจัดเก็บทางอ้อมจากการใช้เชื้อเพลิงหรือจัดเก็บทางตรงจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

ตลาดคาร์บอน (Carbon Market) คืออะไร?

 

ตลาดคาร์บอนเป็นการใช้กลไกตลาดมาเพื่อใช้คาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ผ่านการกำหนดเพดานและการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Cap and Trade) สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลักในปัจจุบัน ได้แก่

 

  1. ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Compliance Carbon Markets) เป็นตลาดคาร์บอนที่เกิดหลังจากภาครัฐกำหนดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่อนุญาตให้ปล่อยในแต่ละปี โดยหลังจากนั้นภาครัฐก็จะให้จัดสรรหรือจัดประมูลสิทธิหรือใบอนุญาตการปล่อยคาร์บอนให้แก่ผู้ประกอบการในแต่ละอุตสาหกรรม โดยผู้ประกอบการสามารถนำใบอนุญาตหรือคาร์บอนเครดิตมาซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ตามความต้องการ

 

สำหรับตัวอย่างของตลาดคาร์บอนภาคบังคับ ได้แก่ ระบบการซื้อขายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ (EU ETS) และระบบการซื้อขายการปล่อยก๊าซเรือนแห่งชาติจีน (Chinese National Carbon Trading Scheme)

 

  1. ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Markets) เป็นตลาดคาร์บอนที่เกิดจากความสมัครใจขององค์กรต่างๆ โดยผู้ที่เข้าร่วมอาจมีเป้าหมายในการลดหรือดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่ผ่านการรับรองมาตรฐานและสามารถนำไปขายให้แก่ผู้ที่ต้องการได้

 

โดยอาจทำการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มการซื้อขายหรือการเจรจาต่อรองระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายโดยตรง (Over-the-Counter: OTC)

 

ส่องความคืบหน้า Carbon Pricing ในเอเชีย

 

เอเชียนับเป็นอีกภูมิภาคที่ตื่นตัวเรื่องการกำหนดราคาคาร์บอนอย่างมาก เห็นได้จากประเทศจีนที่มีตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่เกาหลีใต้ก็มีระบบ ETS ตั้งแต่ปี 2015 ซึ่งครอบคลุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 89% ของประเทศ ส่วนญี่ปุ่นก็มีการเก็บภาษีคาร์บอนรวมกับโครงการ ETS แบบสมัครใจตั้งแต่ปี 2023 โดยมาตรการเหล่านี้ครอบคลุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนราว 50% ของการปล่อยทั้งประเทศแล้ว

 

โดยปีหน้าหลายประเทศในเอเชียก็มีแผนที่จะออกมาตรการกำหนดราคาคาร์บอนเพิ่มเติม ได้แก่ ไทยและมาเลเซีย ที่คาดว่าจะเริ่มเก็บภาษีคาร์บอนอย่างเร็วที่สุดภายในปีงบประมาณ 2025 ขณะที่จีนก็เตรียมขยาย ETS ไปในอุตสาหกรรมเหล็ก ซีเมนต์ และอะลูมิเนียม ในปี 2025

 

🇹🇭 ไทย

 

ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ: หลังจาก อบก. พัฒนามาตรฐานรับรองคาร์บอนเครดิตของไทย โดยใช้ชื่อว่า โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย (T-VER) ตั้งแต่ปี 2014 โดยมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่านโครงการ T-VER เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2016

 

โดยในปี 2022 อบก. พัฒนามาตรฐานรับรองคาร์บอนเครดิตของประเทศไทยขั้นสูงชื่อว่า Premium T-VER เพื่อยกระดับมาตรฐานการรับรองคาร์บอนเครดิตให้เทียบเท่าระดับสากล และสอดคล้องกับข้อกำหนดภายใต้ความตกลงปารีสข้อ 6 (Article 6)

 

ต่อมาในปี 2023 อบก. ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พัฒนาศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตชื่อว่า FTIX ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิตแห่งแรกของไทย เพื่อส่งเสริมให้เกิดตลาดกลางที่โปร่งใส ถูกต้อง เชื่อถือได้ สามารถรายงานระดับราคาที่ยุติธรรมและมุ่งพัฒนาไปสู่การซื้อขายในระดับสากล

 

ภาษีคาร์บอน: กระทรวงการคลังคาดว่าจะสามารถเริ่มเก็บภาษีคาร์บอนอย่างเร็วที่สุดภายในปีงบประมาณ 2025 ในอัตรา 200 บาทต่อตันคาร์บอน เพื่อให้ทันมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) ในปี 2026 โดยสินค้าเป้าหมายเบื้องต้นคือน้ำมัน ซึ่งกรมสรรพสามิตย้ำว่าในระยะแรกจะยังไม่มีผลกระทบต่อประชาชน

 

ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ: โดยในร่าง พ.ร.บ. Climate Change คาดว่าจะมีกฎหมายเพื่อกำหนดกลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับในรูปแบบระบบ Emission Trading Scheme (ETS) โดยคาดว่าจะบังคับใช้ได้ในปี 2029

 

ทั้งนี้ พ.ร.บ. Climate Change หรือ พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นกฎหมายที่จะผลักดันและสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CHG) สุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065

 

🇭🇰 ฮ่องกง

 

ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ: เมื่อเดือนตุลาคม 2022 ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (HKEX) เปิดตัว Core Climate ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายเครดิตคาร์บอนแบบสมัครใจ นอกจากนี้ HKEX ยังเปิดตัวเครดิตคาร์บอนมาตรฐานทองคำบน Core Climate ซึ่งเป็นตลาดคาร์บอนของ HKEX โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2024

 

ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ: ฮ่องกงกำลังสำรวจโอกาสในการสร้างตลาดคาร์บอนแบบบูรณาการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Greater Bay Area:GBA) โดยใช้ประโยชน์จากตลาด ETS ในกวางตุ้ง

 

โดยภายใต้เอกสารนโยบายอย่างเป็นทางการที่ได้รับการรับรองโดยรัฐบาลกลางจีนเกี่ยวกับการให้การสนับสนุนทางการเงินเพื่อการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า มีความเห็นที่ระบุว่ามีความจำเป็นต้องสร้างแพลตฟอร์ม ETS ใน GBA เพื่อดึงดูดการมีส่วนร่วมจากนักลงทุนต่างชาติ

 

ภาษีคาร์บอน: ปัจจุบันฮ่องกงยังไม่ได้จัดเก็บภาษีคาร์บอน เนื่องจากต้องพึ่งพาถ่านหินและก๊าซธรรมชาตินำเข้าเป็นหลักในการผลิตพลังงาน ท่ามกลางความกังวลว่าการจัดเก็บภาษีคาร์บอนอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและต้นทุนพลังงานในฮ่องกง

 

🇨🇳 จีน

 

ตามข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ระบุว่า กลไกกำหนดราคาคาร์บอนที่ชัดเจนในประเทศจีนประกอบด้วยราคาใบอนุญาตระบบการซื้อขายการปล่อยก๊าซ (ETS) ซึ่งครอบคลุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) 37.8%

 

นอกจากนี้จีนยังมีภาษีสรรพสามิตเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นรูปแบบโดยนัยของการกำหนดราคาคาร์บอน ครอบคลุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 7.1% ในปี 2023 อย่างไรก็ตาม จีนยังไม่มีการบังคับใช้ภาษีคาร์บอน

 

🇸🇬 สิงคโปร์

 

ภาษีคาร์บอน: สิงคโปร์เป็นประเทศแรกที่ประกาศเก็บภาษีคาร์บอนในภูมิภาคอาเซียน โดยปัจจุบันเรียกเก็บกับอุตสาหกรรมการผลิต พลังงาน และภาคการบำบัดน้ำเสีย ที่ปล่อยคาร์บอนเกิน 25,000 ตันคาร์บอนต่อปี แบ่งเป็นระยะ (Phases) ได้แก่

  • 2019: ในอัตรา 4 ดอลลาร์สหรัฐ
  • 2024: ในอัตรา 19 ดอลลาร์สหรัฐ
  • 2026: ในอัตรา 34 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการ)
  • 2030: ในอัตรา 38-60 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการ)

 

ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ: ปัจจุบันสิงคโปร์มีตลาดแลกเปลี่ยนและซื้อขายคาร์บอนที่ชื่อว่า Climate Impact X (CIX) ซึ่งก่อตั้งโดย Temasek, DBS, Singapore Exchange และ Standard Chartered Bank

 

นอกจากนี้สิงคโปร์ยังมีกลไกการชดเชย (Offset Mechanism) โดยจะเปิดให้บริษัทต่างๆ ขอชดเชยภาษีคาร์บอนสูงสุด 5% โดยใช้คาร์บอนเครดิตจากตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ

 

🇲🇾 มาเลเซีย

 

ภาษีคาร์บอน: ปัจจุบันมาเลเซียอยู่ระหว่างการเตรียมประกาศใช้ภาษีคาร์บอน โดยคาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ภายในปี 2026 เบื้องต้นจะมุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมเหล็ก เหล็กกล้า และพลังงาน เป็นอันดับแรก เพื่อเตรียมตัวรับมือกับมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ของสหภาพยุโรป

 

ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ: รัฐบาลมาเลเซียกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาระบบการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่

 

ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ: มาเลเซียมี Bursa Carbon Exchange (BCX) ซึ่งเป็นศูนย์ซื้อขายแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมหลายประเภทตามหลักชารีอะห์แห่งแรกของโลก โดยราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตอยู่ที่ราว 3.7 ดอลลาร์สหรัฐ

 

🇮🇩 อินโดนีเซีย

 

ภาษีคาร์บอน: อินโดนีเซียอยู่ในระหว่างการศึกษาภาษีคาร์บอน โดยเบื้องต้นภาษีคาร์บอนนี้จะมุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมพลังงานถ่านหิน

 

ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ: อินโดนีเซียเปิดตัวระบบ ETS เมื่อเดือนกันยายน 2023 โดยมุ่งเป้าไปที่โรงงานไฟฟ้าพลังงานถ่านหินที่มีกำลังการผลิตมากกว่า 100 MW ซึ่งครอบคลุมโรงงานไฟฟ้าราว 99 แห่ง โดยราคาการซื้อขายคาร์บอนเครดิตอยู่ที่ราว 0.6-4.4 ดอลลาร์สหรัฐ

 

ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ: อินโดนีเซียเปิดตัวหน่วยงาน The National Registry System ในเดือนกันยายน 2023 โดยปัจจุบันมี 3 โครงการด้านพลังงานหมุนเวียน โดยราคาคาร์บอนเครดิตอยู่ที่ราว 3.7 ดอลลาร์สหรัฐ

 

🇵🇭 ฟิลิปปินส์

 

ปัจจุบันรัฐบาลฟิลิปปินส์กำลังพิจารณาระหว่างภาษีคาร์บอนและระบบการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยรายงานข่าวล่าสุดระบุว่ารัฐบาลมีแนวโน้มจะเริ่มจาก ETS ก่อน เนื่องมาจากความกังวลด้านต้นทุน

 

🇻🇳 เวียดนาม

 

เวียดนามเตรียมเปิดตัวระบบการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปี 2025 โดยมุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมพลังงาน เหล็ก เหล็กกล้า และซีเมนต์ เพื่อเตรียมรับมือกับมาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป

 

โดยเบื้องต้นประเมินว่าจะมีบริษัทราว 1,900 แห่งที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์รวมกันราว 3,000 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และบริษัทต่างๆ คาดว่าจะได้รับโควตาภายในเดือนธันวาคม 2024

 

แนะสร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มขีดความสามารถ ดันตลาดคาร์บอนเติบโต

 

Grace Hui ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Net Zero Asia ซึ่งเป็นบริษัทที่มุ่งเน้นการพัฒนาสินทรัพย์คาร์บอนกล่าวว่า น่าเสียดายที่ในปัจจุบันกลไกภาคบังคับครอบคลุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 25% ของการปล่อยคาร์บอนทั่วโลกเท่านั้น ดังนั้นเราจึงต้องการสิ่งอื่นเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการปล่อยคาร์บอนเหล่านี้

 

Hui กล่าวอีกว่า เธอไม่คิดว่าตลาดจะเติบโตอย่างที่เราต้องการ แต่หากมีการสร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มขีดความสามารถของตลาดคาร์บอนก็จะสามารถทำให้ผู้คนจำนวนมากขึ้นเข้าใจว่าตลาดคาร์บอนทำงานอย่างไร โดยสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ตลาดคาร์บอนสมัครใจคึกคัก

 

info-carbon-market-overview-asia-2025

 

ภาพประกอบ: กริน วสุรัฐกร

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X