×

เปิดเหตุผลทำไมเงินบาทผันผวนสูง เหวี่ยงหนักกว่าสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค

09.10.2024
  • LOADING...

หลังจากเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ตอนนี้เงินบาทก็เริ่มพลิกกลับมาอยู่ในทิศอ่อนค่าอีกครั้ง สวิงมากกว่าหลายสกุลเงินในภูมิภาค ด้านนักวิเคราะห์ระบุว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนขึ้นเป็นเท่าตัว โดยเฉพาะหลังยุคโควิดที่ทำให้เศรษฐกิจโลกและการดำเนินนโยบายการเงินมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

 

วันนี้ (9 ตุลาคม) พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่าในช่วงปีที่ผ่านมาบรรดาสกุลเงินเอเชียประสบกับความผันผวนมากขึ้นเหมือนกันหมด เนื่องจากการปรับเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อย่างไรก็ตาม เงินบาทไทยถือว่าผันผวนมากกว่าเพื่อน เนื่องจากมีความสัมพันธ์ (Correlation) กับราคาทองคำ ‘ค่อนข้างสูง’

 

“ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูงด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว เมื่อเกิดความตึงเครียดในตะวันออกกลางขึ้นมา เงินบาทจึงดูผันผวนมากผิดปกติเมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา และผันผวนสูงกว่าเพื่อนบ้านเล็กน้อย” พูนกล่าว

 

สำหรับบางสกุลเงินเอเชียก็มีปัจจัยความผันผวนเฉพาะเช่นกัน เช่น วอนเกาหลีใต้และดอลลาร์ไต้หวัน ที่เผชิญกับความผันผวนจากราคาหุ้นเทคโนโลยี เซมิคอนดักเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI) กล่าวคือ หากช่วงใดหุ้นกลุ่มนี้เคลื่อนไหวสวิงก็จะทำให้วอนเกาหลีใต้และดอลลาร์ไต้หวันผันผวนสูงขึ้นเช่นกัน

 

ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ระดับราว 34.37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และเคยอ่อนค่าไปแตะระดับราว 37.25 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายน ก่อนจะพลิกแข็งค่าไปแตะระดับราว 32 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา

 

เช้าวันนี้ค่าเงินบาทก็เริ่มกลับสู่เส้นทางการอ่อนค่าอีกครั้ง โดยเปิดที่ระดับ 33.55 บาทต่อดอลลาร์ ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์เป็นปัจจัยหลัก หลังผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤศจิกายน ท่ามกลางแรงกดดันบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชีย หลังล่าสุดผู้เล่นในตลาดเริ่มผิดหวังต่อรายละเอียดใหม่ๆ ของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนที่ทำให้เงินหยวน (CNY) อ่อนค่าลง

 

บาท ‘ผันผวน’ ขึ้นอย่างมากหลังยุคโควิด

 

พูนอธิบายอีกว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเงินบาทมีความผันผวนมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากการระบาดของโควิด ที่ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกผิดแผกไปจากตำรา จนทำให้ตลาดเกิดภาวะปรับเปลี่ยนมุมมองไปมาเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นอกจากนี้ช่วงหลังโควิดยังเกิดสงครามในหลายพื้นที่ ทำให้เงินเฟ้อมีความผันผวน

 

“เมื่อมีความเสี่ยงด้านสงครามหรือภูมิรัฐศาสตร์ก็ทำให้ราคาทองคำมีความผันผวนตามไปด้วย โดยปัจจัยเหล่านี้ทุกสกุลเงินเจอกันหมด แต่ไทยอาจจะผันผวนเยอะกว่าประเทศอื่นเนื่องจากมีความสัมพันธ์กับทองคำสูง ขณะที่ประเทศอื่นเคลื่อนไหวกับธีมดอกเบี้ย Fed เป็นหลัก” พูนกล่าว

 

พูนอธิบายว่า การสังเกตความผันผวนสามารถดูได้จากกรอบการเคลื่อนไหวในช่วง 1 สัปดาห์ ซึ่งโดยเฉลี่ยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา กรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทต่อสัปดาห์อยู่ที่ราว 40 สตางค์เท่านั้น แต่ช่วงหลังโควิดเริ่มขยับมาอยู่ที่ 60-70 สตางค์โดยเฉลี่ย

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 เดือนที่ผ่านมา กรอบความผันผวนเงินบาทต่อสัปดาห์อยู่ที่ประมาณ 80 สตางค์ นับว่าสูงกว่าช่วงก่อนโควิดเท่าตัว

 

นอกจากนี้ยังสามารถดูได้จากอัตราความผันผวน (Rate of Volatility) โดยค่าเฉลี่ยดังกล่าวของเงินบาทตั้งแต่ปี 2010 ผันผวนราว 5% ซึ่งนับเป็นระดับที่มองได้ว่าผันผวนไม่สูง จนช่วงหนึ่งมีคนมองว่าบาทเป็นสกุลเงิน Safe Haven ของเอเชียด้วยซ้ำ

 

อย่างไรก็ตาม “หลังช่วงโควิดจนถึงปัจจุบัน ความผันผวนของเงินบาทอยู่ที่ประมาณ 7% และในปีนี้อัตราความผันผวนของเงินบาทอยู่ที่ 7.3% (YTD) แต่ค่าความผันผวนในเร็วๆ นี้อยู่ที่ราว 10% ด้วยซ้ำ” พูนกล่าว

 

ทั้งนี้ ย้อนกลับไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยรวบรวมข้อมูลความผันผวนของค่าเงินในเอเชีย (จนถึงวันที่ 26 กันยายน) พบว่าเงินบาทมีความผันผวนสูงเป็นอันดับที่ 2 เมื่อเทียบกับสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ดังนี้

 

  • เยนญี่ปุ่น (USD/JPY) 9.6%
  • บาทไทย (USD/THB) 7.5%
  • วอนเกาหลีใต้ (USD/KRW) 7.1%
  • ริงกิตมาเลเซีย (USD/MYR) 5.9%
  • รูเปียห์อินโดนีเซีย (USD/IDR) 5.6%
  • ดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) 5.2%
  • เปโซฟิลิปปินส์ (USD/PHP) 4.8%
  • ดอลลาร์ไต้หวัน (USD/TWD) 3.9%
  • ดอลลาร์สิงคโปร์ (USD/SGD) 3.8%
  • หยวนจีน (USD/CNY) 2.6%
  • ดองเวียดนาม (USD/VND) 2.4%
  • รูปีอินเดีย (USD/INR) 1.5%

 

พูนกล่าวอีกว่า แม้การที่ค่าเงินอ่อนหรือแข็งค่าจะมีผู้ที่เสียและได้ประโยชน์เสมอ อย่างไรก็ตาม ภาวะค่าเงินผันผวนสูงเป็นสิ่งไม่ดี ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็พยายามจะควบคุมอยู่

 

“ถ้าผู้ประกอบการรู้ว่ามองไปข้างหน้าเงินบาทจะทยอยแข็งค่าขึ้น ผู้ประกอบการก็จะเปลี่ยน Position ทันและทยอยปิดความเสี่ยงได้ทัน แต่หากค่าเงินแข็งหรืออ่อนค่าเร็วเกินไป ผู้ประกอบการก็อาจจะปรับตัวไม่ทันจนส่งผลกระทบต่อมาร์จิ้นได้ โดยหากรายใดบริหารต้นทุนไม่ดี ยอดขายตก ก็อาจมีความเสี่ยงถึงขั้นผิดนัดชำระหนี้ได้” พูนกล่าว

 

พร้อมทั้งระบุอีกว่า “สิ่งที่แบงก์ชาติพูดมาโดยตลอดคือจะไม่เข้ามาแทรกแซงเพื่อให้ค่าเงินไปอยู่ที่ระดับใดระดับหนึ่ง แต่มี Agenda คือการคุมความผันผวน เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัวได้ทัน”

 

ผู้ประกอบการควรปรับตัวอย่างไร

 

พูนยังแนะนำว่าผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือ เช่น Options หรือสกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

 

“เรามองว่าผู้ประกอบการต้องพยายามปิดความเสี่ยงด้วยเครื่องมือต่างๆ เช่น Forward ให้ครอบคลุมต้นทุนราว 50-60% โดยยังสามารถเปิดความเสี่ยงไว้ได้ หากประเมินว่าค่าเงินอาจจะแข็งหรืออ่อนลง ต้องเปิดความเสี่ยงแบบใช้กลยุทธ์เสริม เช่น Options”

 

ทั้งนี้ Forward คือการทำสัญญาซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้ากับธนาคาร โดยกำหนดค่าเงินแบบคงที่เอาไว้ ขณะที่ Options คือการทำสัญญาโดยสามารถเลือกได้ว่าเมื่อถึงเวลากำหนดชำระเงินจะเลือกจ่ายที่อัตราการแลกเปลี่ยนคงที่หรืออัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น ซึ่งจะเสียแค่ค่าธรรมเนียมการทำสัญญาเท่านั้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X