×

Thailand is not enough! เมื่อซีอีโอ Wisesight ชี้ชัด ‘โซเชียลมีเดีย 2025’ ต้องทะลุกรอบความเป็นไทย

02.01.2025
  • LOADING...
wisesight-ceo-social-media-2025-global-vision

HIGHLIGHTS

  • โซเชียลมีเดียในปี 2025 จะเห็นการหลอมรวม 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ ‘สื่อและสังคม’ ที่ทุกคนสามารถเป็นผู้สร้างคอนเทนต์และอินฟลูเอ็นเซอร์ได้ ‘สื่อและคอมเมิร์ซ’ อย่าง YouTube Shopping ที่ผสานการรับชมและการซื้อขาย และ ‘สื่อและประสบการณ์’ ที่เชื่อมโยงออนไลน์สู่ออฟไลน์ผ่านกิจกรรมต่างๆ
  • เทรนด์คอนเทนต์คุณภาพยังคงได้รับความนิยม เช่น 8 Minute History ที่ย่อยความรู้ประวัติศาสตร์ให้เข้าใจง่ายใน 8 นาที และรายการ ไกลบ้าน ที่นำเสนอการท่องโลกผ่านมุมมองคนไทยในต่างแดน สะท้อนว่าผู้บริโภคยังต้องการเนื้อหาที่ลึกซึ้งและมีคุณค่า
  • กล้า ตั้งสุวรรณ CEO ของ Wisesight มองว่า ‘Thailand is not enough’ ต้องขยายขอบเขตเนื้อหาและประสบการณ์สู่ระดับภูมิภาค โดยเฉพาะในอาเซียนและเอเชีย เนื่องจากแพลตฟอร์มที่เติบโตขึ้นทำให้การเข้าถึงง่ายขึ้น นำไปสู่การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมผ่านโซเชียลมีเดีย
  • ต้องจับตาการแข่งขันระหว่างแพลตฟอร์มจีนและสหรัฐฯ เช่น Lemon8 และ Roblox ที่ต่างต้องการขยายอิทธิพลทางวัฒนธรรมทั้งในโลกจริงและออนไลน์ ส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงในปี 2025 ไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยี แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่กระทบทุกภาคส่วน

โลกโซเชียลมีเดียในปี 2025 จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร? คำถามนี้อาจดูเรียบง่าย แต่คำตอบกลับซับซ้อนและท้าทายนักการตลาดทั่วโลก ในขณะที่เทคโนโลยีก้าวกระโดดและพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงจึงไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่เป็นความจำเป็นที่จะกำหนดอนาคตของแบรนด์และธุรกิจ

 

แล้วอะไรคือกุญแจสำคัญที่จะแยก ‘ผู้อยู่รอด’ ออกจาก ‘ผู้นำตลาด’ ในยุคที่การแข่งขันดุเดือดขึ้นทุกวัน? คำตอบอาจไม่ได้อยู่ที่การมีงบประมาณมหาศาลหรือทีมงานขนาดใหญ่ แต่อยู่ที่ความเข้าใจในพลวัตของโซเชียลมีเดียที่กำลังจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะการหลอมรวมระหว่างสื่อ การค้า และประสบการณ์ผู้ใช้ ที่จะกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

ในขณะที่หลายคนมองว่าปี 2025 จะเป็นปีแห่งความท้าทาย แต่ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชียลมีเดีย นี่คือปีแห่งโอกาสครั้งสำคัญที่จะปฏิวัติวงการการตลาดดิจิทัลไปอีกขั้น แต่โอกาสเหล่านั้นคืออะไร? และใครจะเป็นผู้คว้ามันไว้ได้สำเร็จ?

 

กลายเป็นที่มาที่ THE STANDARD WEALTH พูดคุยกับ กล้า ตั้งสุวรรณ CEO และ Co-founder Wisesight (Thailand) ที่ได้ออกมาคาดการณ์ถึงเทรนด์ในโลกโซเชียลมีเดียในปี 2025 ที่กำลังจะมาถึงนี้ โดยแบ่งออกเป็น 3 ด้านด้วยกัน

 

‘สื่อ’ และ ‘สังคม’ ในโลกเดียวกัน

 

‘สื่อ’ และ ‘สังคม’ ในโลกเดียวกัน

 

ในมุมหนึ่งที่นักการตลาดควรต้องรู้คือพฤติกรรมการเสพสื่อของคนในสังคมจะเปลี่ยนไปมากกว่าที่เคย ความนิยมของสื่อกระแสหลักอย่างหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ถูกลดทอนลงอย่างมีนัยสำคัญ และโซเชียลมีเดียจะกลายมาเป็นสื่อกระแสหลักสำหรับพวกเขาโดยปริยาย

 

เพราะนี่คือโลกอีกใบที่กลายเป็น ‘สื่อ’ และ ‘สังคม’ ในโลกเดียวกัน แน่นอนว่าโซเชียลมีเดียคือพื้นที่สำหรับเชื่อมต่อ สร้างปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ครอบครัว และสังคมเสมือนในโลกออนไลน์ ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่รับข่าวสารและในบางโอกาสก็อาจเป็นผู้ส่งสารด้วย เราจึงเห็นว่าใครๆ ก็เป็นอินฟลูเอ็นเซอร์หรือผู้มีอิทธิพลต่อความคิดผู้อื่นได้ไม่ยาก

 

“กระแสการดังชั่ววูบของอินฟลูเอ็นเซอร์ในโซเชียลมีเดียเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ทำให้เห็นภาพได้ชัดเจน จากคนธรรมดาทั่วไป ทำอะไรบางอย่างแล้วโพสต์ลงใน TikTok รู้ตัวอีกทีคนนั้นกลายเป็นเน็ตไอดอล โด่งดังชั่วข้ามคืน กลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ โดยที่เจ้าตัวก็ตั้งรับกับความดังนี้ไม่ถูก โซเชียลมีเดียจึงอาจเป็นเครื่องมือของคนที่อยากสร้างกระแส ถูกหรือผิดไม่มีใครบอกได้ แต่เร็วและดัง” กล้ากล่าว

 

ถึงกระนั้นผู้คนยังคงถวิลหาคอนเทนต์ที่ลึกซึ้ง น่าเชื่อถือ อัดแน่นไปด้วยความรู้ และน่าติดตาม เช่น รายการ 8 Minute History โดย ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน ทางช่อง THE STANDARD PODCAST รายการพอดแคสต์ประวัติศาสตร์ เล่าให้ง่ายภายใน 8 นาที ย่อยเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่สุดแสนจะ Academic และเราอาจไม่เคยคาดคิดว่าจะสนใจ ให้เข้าใจง่าย เติมความรู้ได้ภายใน 8 นาที กลายเป็นรายการที่มีแฟนคลับติดตามมากมาย

 

อีกหนึ่งตัวอย่างคือรายการ ไกลบ้าน โดย ฟาโรส พาผู้ชมไปท่องโลกผ่านการพบปะคนไทยในต่างแดน พร้อมท่องเที่ยวในต่างแดน สอดแทรกด้วยเกร็ดความรู้และมุมมองตามสไตล์ของกลุ่มเพื่อน สร้างปรากฏการณ์ ‘ชาวช่อง’ กลุ่มแฟนคลับที่ติดตามและพร้อมสนับสนุน จนสามารถต่อยอดไปสู่รายการอื่นๆ ได้มากมาย

 

‘สื่อ’ และ ‘คอมเมิร์ซ’ ถูกหลอมรวม

 

อีกสิ่งที่ตามมาคือ ‘สื่อ’ และ ‘คอมเมิร์ซ’ ถูกหลอมรวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแบบปฏิเสธไม่ได้ จะเห็นได้จากแพลตฟอร์ม YouTube ประกาศเดินหน้ารุกตลาดอีคอมเมิร์ซ ผลักดันฟีเจอร์ ‘YouTube Shopping’ ให้คอนเทนต์ครีเอเตอร์ทำเงินได้มากขึ้นจากวิดีโอของตัวเอง

 

‘สื่อ’ และ ‘คอมเมิร์ซ’ ถูกหลอมรวม

 

โดยผู้ชมสามารถกดซื้อสินค้าได้จากคลิปสั้น ไลฟ์ และวิดีโอบน YouTube ได้เลย อำนวยความสะดวกให้กับผู้ชม ไม่ต้องเสียเวลาออกจากแพลตฟอร์มไปกดค้นหาและเลือกซื้ออีกต่อไป ปิดการขายได้อย่างง่ายดาย เปรียบเสมือนหน้าร้านในโลกออนไลน์ ให้ผู้คนได้มีประสบการณ์ช้อปปิ้งแบบใหม่

 

นี่ไม่ต่างกันกับแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่มองเห็นโอกาสนี้มาก่อนแล้ว กลายเป็นโจทย์ของครีเอเตอร์รวมถึงนักการตลาดที่ต้องตีโจทย์ให้แตกในการขยายช่องทางสื่อสารและขายของได้มากยิ่งขึ้น

 

‘สื่อ’ และ ‘ประสบการณ์’ ส่งผลต่อแบรนด์

 

สุดท้ายคือ ‘สื่อ’ และ ‘ประสบการณ์’ อาจพูดได้ว่าคือการหลอมรวมประสบการณ์ที่มีต่อแบรนด์ หรือตัวบุคคลจากโลกออนไลน์มาสู่โลกออฟไลน์ เพื่อเสริมประสบการณ์ให้ครบรส ไม่ว่าจะมาในรูปแบบคอนเสิร์ต แฟนมีตติ้ง การจัดอีเวนต์ เพื่อเชื่อมโลกออนไลน์ให้มาสู่การสัมผัสประสบการณ์จริงมากยิ่งขึ้น

 

เช่น การจัดกิจกรรมแฟนมีตติ้งคู่จิ้นหรือดาราที่ได้รับความนิยมและเป็นกระแสโด่งดังอย่างมากในโลกออนไลน์ เปิดขายบัตร จัดอีเวนต์แฟนมีตติ้งเพื่อต่อยอดกระแสความนิยม และเพิ่ม Immersive Experience ให้กลุ่มแฟนคลับ

 

หรือการต่อยอดรายการ 8 Minute History สู่ ‘8 Minute History On Stage’ เป็นทอล์กโชว์ประวัติศาสตร์รูปแบบ ‘Edutainment’ ที่เป็นการผสมผสานความรู้และความบันเทิงเข้าด้วยกัน เติมเต็มความฟินให้กับเหล่าแฟนคลับทั้งหลายได้เป็นอย่างดี เชื่อว่าในอนาคตคงเห็นรูปแบบใหม่ๆ ของการเสริมประสบการณ์ให้ผู้ชมและลูกค้าในหลากหลายกระบวนท่าที่สร้างสรรค์มากขึ้น

 

‘สื่อ’ และ ‘ประสบการณ์’ ส่งผลต่อแบรนด์

 

หากพูดถึงภาพรวมของโซเชียลมีเดียในปี 2025 เชื่อว่า สื่อและสังคม, สื่อและคอมเมิร์ซ, สื่อและประสบการณ์ คือสิ่งที่เราควรจะต้องโฟกัส แต่กล้ามองว่า ‘Thailand is not enough’ หมายความว่าคอนเทนต์ที่เฉพาะเจาะจงในประเทศไทยอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ประสบการณ์ที่คำนึงถึงเฉพาะกลุ่มผู้ชม ผู้บริโภคคนไทยอาจไม่เพียงพอ เนื่องจากแพลตฟอร์มเติบโตมากขึ้น ขยายเขตแดนของการรับชมและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

 

เราน่าจะได้เห็นการเปรียบเทียบกันในความต่างของวัฒนธรรมมากขึ้น เช่น บ้านเราเป็นแบบนี้ บ้านเขาเป็นอย่างไร โดยเฉพาะในอาเซียน หรือแม้กระทั่งทั่วเอเชียเลยก็ว่าได้ สิ่งนี้อาจนำไปสู่การผสมผสาน แลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมดีๆ โดยมีโซเชียลมีเดียเป็นสะพานนำทาง เป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่าโซเชียลมีเดียคือโลกไร้พรมแดนที่แท้จริง

 

“หากลองนึกย้อนกลับไปว่าทำไมเราถึงเริ่มตระหนักรู้ว่าต้องขับรถหลีกทางให้กับรถพยาบาลที่เปิดไซเรนบนท้องถนน นั่นก็เพราะเราได้เรียนรู้พฤติกรรมนี้จากคลิปหนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ที่เมื่อรถพยาบาลเปิดไซเรนขอทาง ทุกคนจะต้องหลบทางให้ เพราะนั่นคือกฎหมายที่บังคับใช้ในประเทศญี่ปุ่น แล้วกลายมาเป็นสิ่งที่คนไทยเห็นและเอามาทำตาม ผมเชื่อว่ารัฐบาลไม่ได้เป็นแรงผลักดันหรือบังคับให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น แต่มันกลายเป็น Norm ที่คนส่วนใหญ่อยากจะทำ” กล้า ตั้งสุวรรณ กล่าว

 

กล้าทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่าเราน่าจะได้เห็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียสัญชาติจีนและสหรัฐอเมริกาผุดขึ้นมาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งอย่างแน่นอน เช่น แพลตฟอร์ม Lemon8 ของจีน ที่สอดแทรกไลฟ์สไตล์ วัฒนธรรม แฟชั่นต่างๆ หรือแพลตฟอร์มเกม Roblox จากฝั่งสหรัฐอเมริกา ที่สามารถเป็นเครื่องมือสื่อการสอนให้แก่เด็กๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการสอนทักษะ Coding ด้วยการใช้ภาษา Lua สร้างเกม Roblox หรือจะเป็นการสร้างบทเรียนสำหรับการเรียนแบบออนไลน์ที่น่าสนใจในเรื่องของแอนิเมชัน

 

ดังนั้นต้องจับตาสื่อออนไลน์ที่อยู่ระหว่างการต่อสู้ของมหาอำนาจสองฝั่งนี้ว่าจะปรับตัวอย่างไรในอนาคต เพราะทั้งสองก็ต่างต้องการขยายขอบเขตอำนาจทางวัฒนธรรมทั้งในโลกจริงและโลกออนไลน์ให้ได้มากที่สุด

 

ด้วยเหตุนี้เองเมื่อมองไปข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงของโซเชียลมีเดียในปี 2025 จะไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มใหม่ๆ เท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่จะส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ การศึกษา หรือวัฒนธรรม การหลอมรวมระหว่างสื่อ สังคม และการค้า จะสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับผู้ที่เข้าใจและปรับตัวได้ทัน ขณะเดียวกันก็อาจเป็นความท้าทายสำหรับองค์กรที่ยังยึดติดกับรูปแบบการสื่อสารแบบเดิมๆ

 

สำหรับนักการตลาดและผู้ประกอบการไทย การมองข้ามพรมแดนและเข้าใจบริบทระดับภูมิภาคจะเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ โซเชียลมีเดียจะไม่ใช่แค่เครื่องมือในการสื่อสาร แต่เป็นระบบนิเวศขนาดใหญ่ที่หล่อหลอมพฤติกรรม ความคิด และวิถีชีวิตของผู้คน การเข้าใจพลวัตนี้จะช่วยให้แบรนด์สามารถสร้างความเชื่อมโยงกับผู้บริโภคได้อย่างลึกซึ้งและยั่งยืนมากขึ้น ท่ามกลางการแข่งขันที่จะทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

 

ภาพ: Anton Vierietin / Shutterstock

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X