×

โบรกฯ เตือนระวังหุ้น TRC พุ่งแรงในเดือน ธ.ค. สวนทางผลดำเนินงานขาดทุน 4 ปีซ้อน ด้าน ตลท. จับเข้ามาตรการกำกับซื้อขายระดับสูงสุด

24.12.2021
  • LOADING...
TRC

หุ้น บมจ.ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น (TRC) ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างในงานวางระบบท่อ ธุรกิจรับเหมาติดตั้งระบบวิศวกรรมและก่อสร้างโรงงานในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และธุรกิจพัฒนาโครงการและการลงทุน ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง/บริการรับเหมาก่อสร้าง ปรับตัวร้อนแรงขึ้นในช่วง 3 สัปดาห์แรกของเดือนธันวาคม

 

โดยสัปดาห์แรก หุ้น TRC ส่งสัญญาณความร้อนแรงขึ้นทั้งในด้านของราคาและมูลค่าการซื้อขายตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม เมื่อราคาพุ่งขึ้นไปยืนปิด ณ จุดสูงสุดของวันที่ 0.24 บาท เพิ่มขึ้น 26.32% เมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า ขณะที่มูลค่าการซื้อขายหนาแน่นกว่า 144 ล้านบาท เทียบกับวันก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 1.98 ล้านบาท 

 

หลังจากนั้นราคาหุ้น TRC ยังคงพุ่งแรงต่อเนื่อง ทำให้ ตลท. ต้องตัดสินใจใช้มาตรการกำกับการซื้อขายเข้มงวดระดับ 1 สั่งให้สมาชิกหรือโบรกเกอร์ต้องดำเนินการให้ลูกค้าซื้อหุ้นด้วยบัญชีเงินสด (Cash Balance) เท่านั้น โดยลูกค้าต้องวางเงินสดไว้ล่วงหน้ากับโบรกเกอร์เต็มจำนวนก่อนซื้อหุ้น ทั้งนี้เพื่อดับความร้อนแรงของหุ้นตัวนี้ โดยมีผลระหว่างวันที่ 7-24 ธันวาคม 2564

 

แต่ในสัปดาห์ถัดมา แม้ตลาดหุ้นไทยจะเปิดทำการซื้อขายแค่เพียง 3 วันทำการเพราะคาบเกี่ยวกับช่วงเทศกาลหยุดยาว แต่หุ้น TRC ยังคงพุ่งร้อนแรงทำนิวไฮใหม่ที่ระดับ 0.33 บาท ขณะที่มูลค่าการซื้อขายยังคงหนาแน่นเช่นเดิม

 

ซึ่งในรอบนี้ ตลท. ได้งัดมาตรการกำกับการซื้อขายที่เข้มข้นกว่าเดิม ด้วยการขยับใช้มาตรการระดับที่ 2 ห้ามโบรกเกอร์ใช้หลักทรัพย์ TRC เป็นหลักประกันในการคำนวณเป็นวงเงินซื้อขายหุ้นในทุกประเภทบัญชี และต้องซื้อหุ้นด้วยบัญชีเงินสดเท่านั้น มีผลตั้งแต่วันที่ 14-30 ธันวาคม 2564 ถือเป็นการยกระดับความเข้มข้นของมาตรการมากขึ้นภายในระยะเวลาไม่นานนัก

 

สำหรับการซื้อขายในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้นตัวนี้ยังคงเดินหน้าปรับตัวสูงขึ้นติดต่อกัน 4 วันทำการ โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 ซึ่งระหว่างวันพุ่งขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 0.49 บาท ก่อนจะย่อตัวเล็กน้อยมาปิดตลาดที่ระดับ 0.46 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขายที่มากกว่า 372 ล้านบาท

 

ทำให้ ตลท. ต้องตัดสินใจยกระดับมาตรการดูแลขึ้นเป็นระดับ 3 โดยการห้ามโบรกเกอร์หักกลบราคาค่าซื้อกับราคาค่าขายหุ้นตัวเดียวกันในวันเดียวกัน (Net Settlement) และห้ามโบรกเกอร์ใช้หลักทรัพย์เป็นหลักประกันในการคำนวณเป็นวงเงินซื้อขายหุ้นในทุกประเภทบัญชี และต้องซื้อหุ้นด้วยบัญชีเงินสดเท่านั้น มีผลตั้งแต่ 20 ธันวาคม 2564 – 7 มกราคม 2565 ถือเป็นการขยายระยะเวลาการบังคับใช้มาตรการออกไปอีกด้วย

 

ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวของหุ้น TRC ในรอบ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้จะถูก ตลท. กำกับด้วยมาตรการเข้มข้นทั้งระดับ 1 และ 2 แต่ราคาหุ้นยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางขาขึ้นต่อเนื่อง โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 142% ในช่วงระหว่างวันที่ 2-17 ธันวาคม 2564

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่หุ้น TRC เข้าสู่มาตรการกำกับการซื้อขายในระดับสูงสุด ซึ่งเริ่มใช้วันที่ 20 ธันวาคม 2564 เป็นวันแรก พบว่าราคาหุ้นเคลื่อนไหวผันผวนสูงมาก โดยหุ้น TRC เปิดการซื้อขายในวันดังกล่าวที่ระดับ 0.47 บาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากวันก่อนหน้า

 

แต่หลังจากนั้นไม่นานก็มีแรงเทขายออกมาอย่างหนัก กดดันให้ราคาหุ้นร่วงลงมาทำจุดต่ำสุดของวันดังกล่าวที่ 0.35 บาท ลดลงราว 24% ก่อนที่จะมีแรงซื้อกลับเข้ามาอีกครั้ง และหนุนให้หุ้นรีบาวด์มาปิดตลาดที่ระดับ 0.45 บาท ลดลงจากวันก่อนหน้า 2.17%

 

ล่าสุดราคาหุ้น TRC ปิดตลาดภาคเช้าของวันที่ 24 ธันวาคม 2564 ที่ระดับ 0.40 บาท ลดลงจากวันก่อนหน้า 4.76% 

 

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์รายหนึ่งกล่าวว่า การลงทุนในหุ้น TRC ถือว่ามีความเสี่ยงค่อนข้างสูง เพราะบริษัทถูก ตลท. ขึ้นเครื่องหมาย ‘C’ (Caution) เพื่อเตือนผู้ลงทุน กรณีบริษัทจดทะเบียนมีเหตุการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อฐานะการเงินและการดำเนินธุรกิจ ซึ่งผู้ลงทุนจะต้องซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวด้วยบัญชีแคชบาลานซ์ (Cash Balance) เท่านั้น

 

ทั้งนี้ TRC ได้แจ้งต่อ ตลท. เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ถึงแนวทางการดำเนินการแก้ไข กรณีหุ้นถูกขึ้นเครื่องหมาย C จากการที่บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่า 50 % ของทุนชำระแล้ว สำหรับงบการเงินไตรมาส 3 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564

 

แบ่งเป็นทางด้านแนวทางการเพิ่มรายได้ จะดำเนินการใน 3 ด้าน คือ

  1. ปรับกลยุทธ์การตลาดขยายการให้บริการก่อสร้างด้านอื่นเพิ่มเติมนอกเหนือจากการให้บริการงานก่อสร้างที่มีอยู่ในปัจจุบันแก่กลุ่มลูกค้ารายเดิม และขยายฐานลูกค้ารายใหม่
  2. เร่งรัดงานก่อสร้างให้เสร็จเร็วขึ้น เพื่อประหยัดต้นทุนและสร้างผลกำไรที่สูงขึ้น
  3. เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์ให้ได้ผลงานเพิ่มขึ้น

 

ส่วนแนวทางการลดค่าใช้จ่ายจะดำเนินการ 2 แนวทาง ประกอบด้วย

  1. บริหารจัดการต้นทุนในการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ โดยปรับแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงาน
  2. ควบคุมค่าใช้จ่ายในการบริหาร (SG&A) ให้เป็นไปตามงบประมาณ

 

นอกจากนี้บริษัทยังตั้งเป้าทิศทางการดำเนินงานในอนาคต 3 ด้าน คือ

  1. ต้ังเป้าหมายในการขยายธุรกิจ โดยมุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจใหม่ เช่น Smart IoT ธุรกิจการจัดหาพลังงานทดแทนและสาธารณูปโภค เพื่อให้เกิดความหลากหลาย และสร้างความมั่นคงของรายได้และกำไร นอกเหนือจากงานก่อสร้าง
  2. มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากร เพื่อพัฒนาองค์กรให้สามารถแข่งขันได้ 
  3. หาผู้ร่วมทุนที่มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มโอกาสและประสิทธิภาพในการดำเนินงานของบริษัทในเครือ

 

นักวิเคราะห์กล่าวว่า จากข้อมูลของบริษัทพบว่ายังไม่มีความคืบหน้าหรือพัฒนาการใดๆ ที่จะสนับสนุนให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น ร้อนแรง ดังนั้น ตามแผนงานการแก้ไขกรณีเครื่องหมาย C ของบริษัท ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามว่าจะดำเนินการได้จริงหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางใดก็ตาม

 

นอกจากนี้ TRC ยังมีผลการดำเนินงานขาดทุนต่อเนื่องติดกันถึง 4 ปี โดยปี 2561 ขาดทุน 2,304.52 ล้านบาท และขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 3,426.61 ล้านบาท ในปี 2562 ส่วนปี 2563 ขาดทุน 3,196.04 ล้านบาท ขณะที่ 9 เดือนแรกปีนี้ขาดทุนแล้ว 3,251.99 ล้านบาท

 

ด้านเบญจพล สุทธิ์วนิช หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ บล.เอเชียเวลท์ กล่าวว่า นักลงทุนมีแรงขายทำกำไรหุ้น TRC ออกมา หลังจากราคาปรับตัวขึ้นไปร้อนแรงอยู่ในเกณฑ์ Over Zone 

 

อย่างไรก็ตาม TRC เป็นหุ้นขนาดเล็กที่นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่นิยม จึงไม่มีบริษัทหลักทรัพย์ทำการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานหุ้นดังกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising