บรรยากาศการซื้อขายหุ้นของ บมจ.โกลบอล เซอร์วิส เซ็นเตอร์ (GSC) ผู้ประกอบการธุรกิจศูนย์บริการข้อมูล และธุรกิจติดตามและทวงถามหนี้ ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ mai ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นไปอย่างร้อนแรงท่ามกลางแรงเทขายหุ้นรายการใหญ่หรือ Big Lot ของ ‘ประยูร อัสสกาญจน์’ ประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร ซึ่งเป็นผู้บริหารและผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 1 ของ GSC นั่นเอง
ประยูรได้ขายหุ้น GSC แบบเกลี้ยงหน้าตัก รวมทั้งสิ้น 128 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 51.20% ประเมินคร่าวๆ ว่าน่าจะได้รับเงินจากการขายหุ้นครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 379 ล้านบาท
หากย้อนกลับไปพิจารณาความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นตัวนี้จะพบว่า ได้ส่งสัญญาณความร้อนแรงมาเป็นระยะๆ โดยราคาหุ้นเริ่มไต่ระดับปรับตัวในทิศทางขาขึ้นตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 จากระดับ 1 บาทกว่าๆ มายืนเหนือ 2 บาทได้ หลังจากนั้นก็เดินหน้าพุ่งขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง จนทะลุ 3 บาทมายืนที่ 3.58 บาท ก่อนจะย่อตัวลงมาปิดที่ 3.54 บาท เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
กระทั่งเมื่อวันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2564 เป็นวันเดียวกับที่ตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงรุนแรง ท่ามกลางความกังวลต่อการตรวจพบโควิดสายพันธุ์ใหม่ แต่ทว่าหุ้น GSC กลับพุ่งสวนตลาดอย่างโดดเด่น โดยมาปิดตลาดในวันดังกล่าวที่ 4.16 บาท เพิ่มขึ้น 15%
นอกจากนี้เมื่อวันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน แม้ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะลดลงไปราว 20 จุด หรือ 1.3% แต่หุ้น GSC ก็ยังคงปรับเพิ่มขึ้นได้อีกเกือบๆ 2% มาปิดตลาดที่ 4.24 บาท ส่วนล่าสุดในวันนี้ (30 พฤศจิกายน) ราคาหุ้น GSC ปิดการซื้อขายที่ 4.26 บาท เพิ่มขึ้นจากกวันก่อนหน้า 0.02 บาท หรือ 0.47%
ความร้อนแรงของหุ้นสะท้อนออกมาผ่านมูลค่าการซื้อขายที่ไต่ระดับสูงขึ้นจากหลักล้านบาทต่อวัน มาที่ 100-200 ล้านบาทต่อวัน และพุ่งขึ้นหนาแน่นถึง 860 ล้านบาท ณ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564
โดยในวันนั้น ประยูรได้ทยอยขายหุ้นออกจำนวน 73 ล้านหุ้น ให้กับนักลงทุนที่ยังไม่เปิดเผยชื่อ และต่อมาก็ได้เกิดรายการขายหุ้นรายการใหญ่ออกมาอีกครั้งเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน จำนวน 55 ล้านหุ้น คิดเป็น 22% ของทุนจดทะเบียน
การทยอยขายบิ๊กล็อตออกมาในระยะเวลาไม่ห่างกันส่งผลให้ ตลท. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนต้องตั้งคำถามไปยังบริษัทว่า การเทขายหุ้นขนาดใหญ่ครั้งนี้มาจากผู้ถือหุ้นรายใด และจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัทหรือไม่ พร้อมทั้งดับความร้อนแรงของหุ้นด้วยมาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 1 คือสมาชิกต้องดำเนินการให้ลูกค้าซื้อหลักทรัพย์ด้วยบัญชีเงินสด (Cash Balance) เท่านั้น โดยลูกค้าต้องวางเงินสดไว้ล่วงหน้ากับสมาชิกเต็มจำนวนก่อนซื้อหุ้น
แต่มาตรการกำกับดูแลระดับ 1 ไม่สามารถหยุดความร้อนแรงของหุ้นตัวนี้ได้ ทำให้หลังจากใช้มาตรการดังกล่าวได้เพียงวันเดียว ตลท. ก็ต้องยกระดับการกำกับเข้มข้นขึ้นเป็นระดับ 2 คือห้ามสมาชิกใช้หลักทรัพย์เป็นหลักประกันในการคำนวณเป็นวงเงินซื้อขายหลักทรัพย์ในทุกประเภทบัญชี และลูกค้าต้องซื้อหลักทรัพย์ด้วยบัญชีเงินสดเท่านั้น มีผลตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน – 30 ธันวาคม 2564
ถึงแม้วันนี้บริษัท GSC จะชี้แจงรายการบิ๊กล็อตดังกล่าวแล้วว่า ประยูร อัสสกาญจน์ ประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ อันดับ 1 ได้ทยอยขายออกจํานวน 73 ล้านหุ้น และ 55 ล้านหุ้น รวมเป็น 128 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 51.20% เมื่อวันที่ 17 และ 19 พฤศจิกายนตามลำดับ
โดยขายให้กับนักลงทุน 5 รายคือ
- สุสิชณ์ทักษ์ อัจฉริยะสมบัติ จำนวน 32.5 ล้านหุ้น คิดเป็น 13%
- วสันต์ จาวลา จำนวน 26.32 ล้านหุ้น คิดเป็น 10.53%
- นันทพร ชลวณิช จำนวน 22.5 ล้านหุ้น คิดเป็น 9%
- สามารถ ฉั่วศิริพัฒนา จำนวน 20 ล้านหุ้น คิดเป็น 8%
- นักลงทุนรายอื่นๆ จำนวน 26.67 ล้านหุ้น คิดเป็น 10.67%
การขายหุ้นดังกล่าวย่อมส่งผลให้โครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทเปลี่ยนแปลงไป จากก่อนหน้านี้ที่นักลงทุนเหล่านี้ไม่เคยถือหุ้น GSC มาก่อนเลย
ทั้งนี้ หากพิจารณากลุ่มนักลงทุนรายใหม่ที่เข้ามาถือหุ้น GSC จะพบว่า เป็นนักลงทุนที่คร่ำหวอดในแวดวงตลาดหุ้นมายาวนานพอสมควร โดยปัจจุบันถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว ประกอบด้วย
1. สุสิชณ์ทักษ์ อัจฉริยะสมบัติ ถือหุ้น บมจ.สตาร์ ยูนิเวอร์แซล เน็ตเวิร์ค (STAR) รวมทั้งยังเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 9 ใน บมจ.ยูเนี่ยน ปิโตรเคมีคอล (UKEM) จำนวน 11.7 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.95% และเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 6 ใน บมจ.โซลาร์ตรอน (SOLAR) จำนวน 10.55 ล้านหุ้น คิดเป็น 1.94%
2. นันทพร ชลวณิช เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 2 ของ SOLAR จำนวน 37.82 ล้านหุ้น คิดเป็น 6.95%
3. วสันต์ จาวลา เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 4 ของ บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) จำนวน 439.53 ล้านหุ้น คิดเป็น 6.73%
การเทขายหุ้น GSC แบบเกลี้ยงพอร์ตของประยูร จนทำให้เกิดการเปลี่ยนเปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในครั้งนี้ยังเป็นที่น่าจับตามอง เพราะล่าสุด (23 พฤศจิกายน) บริษัทได้แจ้งต่อ ตลท. ว่า คณะกรรมการบริษัท 2 ท่าน คือ 1. เดชอุดม ไกรฤทธิ์ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ และกรรมการอิสระ 2. สมชาย แสงชมภูเพ็ญ คณะกรรมการตรวจสอบ และกรรมการอิสระ ได้ขอลาออกจากตำแหน่ง มีผลตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป
อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ กล่าวว่า นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเชิงลึกก่อนตัดสินใจเข้าลงทุนในหุ้นตัวนี้ เนื่องจากยังมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหญ่ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่ในเบื้องต้นประเมินว่านักลงทุนคาดหมายว่าบริษัทอาจมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การเปลี่ยนธุรกิจใหม่ หรืออาจประเมินว่าธุรกิจติดตามทวงถามหนี้มีโอกาสมากขึ้นจากภาวะหนี้เสียที่เพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม GSC เป็นหุ้นที่ไม่มีค่า P/E สะท้อนว่ามีผลการดำเนินงานขาดทุน รวมทั้งยังเป็นหุ้นที่ประเมินพื้นฐานไม่ได้ นักลงทุนจึงควรหลีกเลี่ยงการลงทุนจนกว่าจะมีความชัดเจน
“นักลงทุนอาจจะมองว่าเมื่อมีกลุ่มใหม่เข้ามา อะไรๆ อาจจะดีขึ้น เพราะธุรกิจทวงหนี้ยังมีอนาคต หรือบริษัทอาจจะเปลี่ยนไปทำธุรกิจใหม่ไปเลย ซึ่งนักลงทุนทั่วไปต้องระวัง เพราะยังไม่มีใครรู้ข้อมูลที่แท้จริง แต่เมื่อ ตลท. ใช้มาตรการแล้วยังมีคนเล่นหุ้นตัวนี้ แสดงว่าน่าจะเป็นกลุ่มที่รู้ข้อมูลอะไรมา”
ด้าน ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า GSC เป็นหุ้นที่ไม่มีนักวิเคราะห์รายใดทำการวิเคราะห์ จึงถือว่าไม่สามารถประเมินพื้นฐานได้ ขณะที่พฤติกรรมของนักลงทุนในตลาดหุ้นจะมีกลุ่มที่นิยมลงทุนในหุ้นเก็งกำไร แม้ ตลท. จะเตือนด้วยมาตรการกำกับดูแลแล้วก็ตาม ซึ่งนักลงทุนจะต้องประเมินอย่างรอบคอบ เพราะการลงทุนในหุ้นเก็งกำไรมีทั้งโอกาสและความเสี่ยง
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP