×

ACC หุ้นต่ำบาทที่ร้อนแรงกับสตอรีใหม่ ลุยธุรกิจกัญชง-กัญชา แต่นักวิเคราะห์มองว่ายังขาดมาตรการพลิกฟื้นธุรกิจที่ชัดเจน แนะเลี่ยงลงทุน

06.12.2021
  • LOADING...
ACC share

โบรกเกอร์เตือนนักลงทุนหลีกเลี่ยงหุ้น บมจ.แอดวานซ์ คอนเนคชั่น คอร์ปอเรชั่น (ACC) เหตุมีผลการดำเนินงานขาดทุนต่อเนื่องยาวนาน ไร้มาตรการพลิกฟื้นธุรกิจอย่างชัดเจน แม้บริษัทเตรียมแผนลุยธุรกิจใหม่กัญชง กัญชา และพัฒนาระบบการค้าออนไลน์ก็ตาม

 

ความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น บมจ.แอดวานซ์ คอนเนคชั่น คอร์ปอเรชั่น (ACC) ผู้ประกอบการธุรกิจผลิตและออกแบบพัดลม ภายใต้เครื่องหมายการค้า Sunlight, COMPASS EAST และ Air-Le-Gance ถูกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จับตามองอีกครั้ง หลังราคาหุ้นร้อนแรงจนเข้าข่ายความผิดปกติ

 

โดย ตลท. จับหุ้น ACC เข้ามาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 2 หมายความว่า สมาชิกต้องดำเนินการให้ลูกค้าซื้อหลักทรัพย์ด้วยบัญชี Cash Balance เท่านั้น โดยลูกค้าต้องวางเงินสดไว้ล่วงหน้ากับสมาชิกเต็มจำนวนก่อนซื้อหลักทรัพย์ และห้ามสมาชิกใช้หลักทรัพย์เป็นหลักประกันในการคำนวณเป็นวงเงินซื้อขายหลักทรัพย์ในทุกประเภทบัญชี มีผลตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน – 15 ธันวาคม 2564

 

หากย้อนหลังกลับไปดูความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น ACC ซึ่งเป็นหุ้นเล็ก ราคาต่ำบาทอีกตัวหนึ่ง ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2564 ราคาหุ้นและมูลค่า หรือวอลุ่มการซื้อขายต่อวันของหุ้นตัวนี้ค่อยๆ ขยับปรับตัวสูงขึ้นเป็นช่วงๆ

 

เมื่อไล่เรียงไทม์ไลน์ความเคลื่อนไหวของหุ้น ACC จะเห็นว่า ในช่วงเดือนกันยายน ราคาหุ้นเริ่มมีการขยับจากที่เคยยืนอยู่ในระดับ 0.77 บาท เคลื่อนไหวสูงสุดเต็มที่ไม่เกิน 1 บาท ราคาสามารถขยับปรับตัวขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่ที่ 1.27 บาทได้ ท่ามกลางวอลุ่มซื้อขายที่พุ่งขึ้นไปมากกว่า 300 ล้านบาท

 

โดยในรอบนี้ความร้อนแรงของราคาหุ้นถูกสกัดจากมาตรการกำกับดูแลระดับ 1 ของ ตลท. ให้นักลงทุนต้องซื้อหุ้นด้วยเงินสด (Cash Balance) มีผลตั้งแต่ 20 กันยายน – 29 ตุลาคม 2564 ส่งผลให้ราคาหุ้นอ่อนตัวลงไปบ้าง แต่ยังสามารถยืนได้ในฐานใหม่เหนือระดับ 1 บาทเล็กน้อย

 

ต่อมาในช่วงเดือนตุลาคม แม้ความเคลื่อนไหวของหุ้น ACC จะไม่ได้โดดเด่นใดๆ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ยังมีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นตัวนี้พยุงให้ยืนเหนือระดับ 1 บาทได้ยาวนาน แม้ผลสะท้อนของมาตรการกำกับการซื้อขายของ ตลท. จะทำให้วอลุ่มการซื้อขายต่อวันเบาบางลงเหลือเพียงหลักสิบถึงยี่สิบล้านบาทต่อวันก็ตาม

 

กระทั่งในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤศจิกายน ราคาหุ้นได้กลับมาร้อนแรงอีกครั้งด้วยการปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ที่ 1.52 บาท ประกอบกับมูลค่าการซื้อขายหนาแน่นเกือบ 500 ล้านบาท เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 จึงเป็นเหตุผลให้ ตลท. ตัดสินใจใช้มาตรการกำกับการซื้อขายหุ้นตัวนี้ครั้งใหม่ โดยยกระดับขึ้นเป็นมาตรการระดับ 2 ตั้งแต่วันท่ี 25 พฤศจิกายน – 15 ธันวาคม 2564 นับเป็นการใช้มาตรการกำกับดูแลการซื้อขายเป็นรอบที่สองของปีนี้ภายในระยะเวลาไม่ห่างกัน

 

ส่วนราคาเคลื่อนไหวล่าสุดของหุ้น ACC เมื่อวันศุกร์ที่ 3 ธันวาคม 2564 ปิดตลาดที่ 1.80 บาท เพิ่มขึ้น 0.15 บาท หรือ 9.09%

 

ทีมข่าว THE STANDARD WEALTH ได้สำรวจข้อมูลเพื่อหาพัฒนาการที่จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยับปรับตัวสูงขึ้นของราคาหุ้น ACC ในช่วง 3 เดือนดังกล่าว พบว่ามีเพียงข้อมูลการรายงานของบริษัทต่อ ตลท. เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ถึงความคืบหน้าในการจัดตั้ง 4 บริษัทย่อย เพื่อประกอบธุรกิจใหม่

 

โดย 4 ธุรกิจใหม่ ประกอบด้วย

  1. การวิจัย พัฒนา ผลิต (ปลูก) และแปรรูปกัญชง กัญชา
  2. การปลูก สกัด แปรรูป จัดจำหน่าย นำเข้า ส่งออก ดำเนินธุรกิจทุกด้านที่เกี่ยวข้องวัตถุดิบกัญชง กัญชา
  3. กิจการรับเหมาก่อสร้าง
  4. การพัฒนาระบบอีคอมเมิร์ซการตลาดออนไลน์

 

ทั้งนี้ ACC ระบุว่า การจัดตั้งบริษัทย่อยขึ้นใหม่ดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มช่องทางการดำเนินการธุรกิจใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับการประกอบธุรกิจในยุคปัจจุบันและสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มบริษัทในอนาคต

 

ขณะเดียวกัน ACC ยังมีปัญหาไม่สามารถเรียกรับเงินจากการขายเงินลงทุนใน 2 บริษัทย่อยให้กับบริษัท ไทยลานนา ฟู้ด แอนด์ คัลเชอรัล เซ็นเตอร์ จำกัด มูลค่าที่เหลือ 480 ล้านบาท จากมูลค่ารวมทั้งสิ้น 550 ล้านบาทได้ เนื่องจากผลกระทบการระบาดของโควิด ทำให้ต้องเลื่อนการชำระเงินออกไปจากเดิมในเดือนกรกฎาคม 2564 เป็นภายในวันที่ 30 ธันวาคมนี้ ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยลบส่งผลกระทบต่อราคาหุ้น ACC มากกว่า

 

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์รายหนึ่งกล่าวว่า แม้บริษัทจะระบุว่ามีความคืบหน้าในการทำธุรกิจใหม่ๆ แต่ยังไม่มีความชัดเจนที่เป็นรูปธรรมว่าจะประสบความสำเร็จและช่วยพลิกฟื้นให้บริษัทกลับมามีกำไรได้หลังจากที่ขาดทุนมาอย่างยาวนาน และในปีนี้คาดว่าบริษัทจะยังขาดทุนต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปี (2560-2564) ที่ผ่านมา ACC มีผลการดำเนินงานขาดทุนติดต่อกัน โดยในปี 2560 ขาดทุน 52.76 ล้านบาท ปี 2561 ขาดทุน 39.27 ล้านบาท และขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 56.86 ล้านบาท ในปี 2562 ปี 2563 ACC ก็ยังคงขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 69.20 ล้านบาท ส่วนงวด 9 เดือนของปีนี้ บริษัทมีผลขาดทุนแล้ว 40.38 ล้านบาท

 

นักวิเคราะห์กล่าวว่า บริษัทยังมีความเสี่ยงที่จะถูกเลื่อนการชำระค่าขายหุ้นของบริษัทย่อยอีกด้วย จึงแนะนำว่านักลงทุนควรหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าแผนธุรกิจใหม่จะช่วยพลิกฟื้นให้บริษัทกลับมามีกำไรได้อย่างไร

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X