วันนี้ (5 เมษายน) เครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย หรือ We Watch ออกแถลงการณ์ถึงมาตรฐานความโปร่งใสในการเลือกวุฒิสภา โดยมีใจความของแถลงการณ์ดังนี้
“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กำหนดให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โดยกระบวนการเลือกจะเริ่มต้นขึ้นหลังจากสมาชิกวุฒิสภาชุดเดิมหมดวาระลงในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงไม่มีสิทธิเลือกบุคคลที่จะเป็น สว. มีเพียงผู้สมัครที่ต้องอายุ 40 ปีขึ้นไป และจ่ายค่าสมัคร 2,500 บาท เท่านั้นที่มีสิทธิเลือก ยังไม่ต้องกล่าวถึงกลไกการเลือกที่ซับซ้อนและข้อจำกัดอีกจำนวนมากที่ล้วนกีดกันประชาชนออกจากการเลือก สว.
นอกเหนือจากปัญหาข้างต้น เครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย (We Watch) มีความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่า การเลือก สว. ครั้งนี้จะถูกจัดทำในที่ปิดแบบลับหูลับตาประชาชน ขาดความโปร่งใส และเปิดช่องโหว่ให้ทุจริตได้ง่าย หากไม่เตรียมการรับมือให้ทันท่วงที การเลือก สว. ในระบบเช่นนี้จะยิ่งลดทอนความศรัทธาและความเชื่อมั่นของประชาชนต่อสถาบันทางการเมืองที่เกี่ยวข้อง รวมถึงต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อย่างทวีคูณ ข้อกังวลดังกล่าวมาจากข้อสังเกตหลัก 2 ประการ คือ
- การเลือก สว. ครั้งนี้นอกจากประชาชนจะไม่มีสิทธิเลือกแล้ว ยังถูกออกแบบให้เป็นการเลือกในระบบปิด กล่าวคือ ผู้สมัครเท่านั้นที่มีสิทธิลงคะแนนเลือกกันเอง และมีเฉพาะเจ้าหน้าที่และผู้สมัครเท่านั้นที่สามารถเข้าไปในสถานที่เลือกได้ กติกาเช่นนี้เปิดทางสู่ปฏิบัติการเตรียมพรรคพวกและฮั้วกันอย่างเป็นเครือข่าย เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มผู้มีอิทธิพลทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ขัดแย้งกับแนวทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ที่ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการกำหนดทิศทางของประเทศ
- นับจนถึงปัจจุบัน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนต่อมาตรฐานความโปร่งใส รวมถึงการเปิดให้ประชาชนเข้าร่วมสังเกตการณ์ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไป จะทำให้การเลือก สว. เกิดขึ้นนอกสายตาประชาชนอย่างสิ้นเชิง
หากปล่อยปละละเลยปัญหาดังกล่าวไว้ ย่อมจะทำให้ความน่าเชื่อถือในระบบการเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันถูกทำลายลงอย่างถอนรากถอนโคน และ สว. ชุดใหม่จะไร้ซึ่งการยอมรับของประชาชนโดยสิ้นเชิง ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว เพื่อความโปร่งใส เพื่อป้องปรามการทุจริต และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่กระบวนการเลือก สว. ณ เวลานี้ We Watch จึงมีข้อเรียกร้องสั้นๆ เพียงหนึ่งข้อคือ
“กกต. ต้องเปิดพื้นที่และมีมาตรการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าสังเกตการณ์การเลือก สว. ได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพในทุกกระบวนการและทุกพื้นที่ ทั้งในการเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และในระดับประเทศ
ด้วยความหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประเทศไทยจะมีกระบวนการทางการเมืองที่โปร่งใส เป็นธรรม และประชาชนตรวจสอบได้”