×

นักปกป้องสิทธิฯ เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา บุกไล่โรงงานน้ำตาล-โรงงานไฟฟ้า เผยรอดู ‘เศรษฐา’ จะซ้ำรอยรัฐบาลประยุทธ์หรือไม่ ขอรัฐแก้ปัญหาราคาข้าว

โดย THE STANDARD TEAM
18.12.2023
  • LOADING...

วันนี้ (18 ธันวาคม) ที่ลานข้างเทศบาลตำบลโนนสวรรค์ อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลารวมตัวกันเพื่อขับไล่อุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลทรายและโรงไฟฟ้าชีวมวลออกไปจากพื้นที่ และเรียกร้องให้ผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ดให้คำตอบว่าจะปกป้องผืนแผ่นดินทุ่งกุลาสำหรับเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิโลก หรือจะเปลี่ยนเป็นไร่อ้อยเพื่อตอบสนองนายทุน

 

จากนั้นเวลา 11.00 น. เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา ได้เคลื่อนขบวนเดินเท้าไปยังบริเวณหน้าสำนักงานของบริษัทดังกล่าว พร้อมถือป้ายผ้าระบุข้อความ เช่น “คัดค้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล, เราไม่เอาโรงงานน้ำตาล/โรงไฟฟ้าชีวมวล, ออกไปจากบ้านกู” 

 

โดยระหว่างการเดินทางแกนนำได้มีการปราศรัยช่วงหนึ่งระบุว่า หาก EIA ผ่าน หรือโรงงานยังไม่ปิดปีหน้า ทางเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาจะมาชุมนุมปิดโรงงานแน่นอน และเมื่อเดินทางมาถึงบริเวณหน้าสำนักงานของบริษัท ได้มีการตั้งเต็นท์และเตรียมกิจกรรมต่อไป

 

โรงงานน้ำตาล แปลงร่างหาพื้นที่ก่อสร้างใหม่หลังพื้นที่เดิมตั้งไม่สำเร็จ

 

ต่อมา เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ที่ปรึกษาเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา กล่าวปราศรัยตอนหนึ่งว่า บริษัทน้ำตาลดังกล่าวได้เปลี่ยนชื่อนั้น เพราะเงื่อนไขตามกฎหมายระบุว่าเมื่อบริษัทชื่อเดิมไม่สามารถตั้งโรงงานตามอายุใบอนุญาตที่ได้รับไปจะไม่เปิดโอกาสให้บริษัทชื่อเดิมตั้งโรงงานในพื้นที่เดิมได้ ตอนนี้มีใบอนุญาตตั้งโรงงานได้แล้ว โดยขออนุญาตใหม่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จะหมดอายุลงในเดือนกุมภาพันธ์ 2569 ดังนั้นเขาจะไม่ยอมให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม เพราะครั้งที่แล้วล้มเหลว เขาต้องพยายามให้ EIA ผ่านในปีนี้ หรือต้นปีหน้าเพื่อให้ก่อสร้างโรงงานได้ทัน และใช้วิธีจัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็น EIA ภายในโรงงานซึ่งเป็นพื้นที่ปิด เพื่อให้ยกมือเป็นเสียงเดียว ไม่จัดเวทีที่ อบต. เทศบาล หรืออำเภอเหมือนกรณีอื่นๆ แต่จัดในพื้นที่ส่วนบุคคล 

 

เลิศศักดิ์กล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายกำลังเปลี่ยนโฉมหน้าของประเทศอย่างมาก ก่อนรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี จะมาบริหารประเทศ โรงงานน้ำตาล 2 โรงงาน ต้องตั้งห่างกัน 100 กิโลเมตร แต่มีการแก้กฎหมายให้ขยับมาเป็น 50 กิโลเมตร ซึ่งอุตสาหกรรมนี้ต้องถูกควบคุม ไม่ใช่แค่การตั้งโรงงานอย่างเดียว เพราะหนึ่งโรงงานต้องใช้พื้นที่ปลูกอ้อยไม่ต่ำกว่า 3-5 แสนไร่ และทั่วประเทศต้องใช้พื้นที่ปลูกอ้อยไม่ต่ำกว่า 10.5 ล้านไร่  ถ้าใกล้กันจะแย่งโควตาอ้อยกัน  

 

อัดรัฐบาล ‘ประยุทธ์’ ปล่อยนายทุนอ้อยกำหนดยุทธศาสตร์ประเทศ

 

เลิศศักดิ์กล่าวต่อว่า สิ่งที่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ทำคือให้นายทุนอ้อยเบอร์หนึ่งของประเทศมากำหนดยุทธศาสตร์การปลูกอ้อย อ้างว่าพื้นที่ทุ่งกุลาเป็นนาน้ำฝน ผลผลิตข้าวที่ได้ต่ำ ไม่ควรเป็นนาข้าว ให้เปลี่ยนเป็นไร่อ้อยเสีย ซึ่งเป็นการเหยียบย่ำชาวบ้าน เหมือนสมัย สมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ที่จะให้ทุ่งกุลาเป็นที่ทิ้งขยะของประเทศไทย หรือแม้กระทั่งในยุคของรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ก็จะให้เป็นพื้นที่คาสิโน 

 

รอดูน้ำยา ‘รัฐบาลเศรษฐา’ จะเดินตามรอย คสช. หรือไม่

 

“ตอนนี้เราต้องมาดูน้ำยาของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ว่าจะดำรงนโยบายของ พล.อ. ประยุทธ์เอาไว้อย่างเดิม ด้วยการเปลี่ยนท้องนาทุ่งกุลาเป็นไร่อ้อย หรือจะเปลี่ยนนโยบายนี้หรือไม่” เลิศศักดิ์กล่าว 

 

เลิศศักดิ์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้การดำเนินการทั้งหลายจะผ่านระบบเกษตรพันธสัญญา แต่ 5-6 ปีที่โรงงานน้ำตาลเข้ามาอยู่ในพื้นที่ เขาต้องการที่ดินปลูกอ้อย 300,500 ไร่ แต่ปัจจุบันได้เพียง 14,000 ไร่ เพียงพอต่อการหีบอ้อยได้แค่ 3 วัน ตัวเลขนี้ชี้ว่าพี่น้องทุ่งกุลาไม่ใช่หมู แสดงว่าชาวบ้านไม่อยากเปลี่ยน และผูกพันกับวิถีชีวิตเดิมคือการปลูกข้าวหอมมะลิ อยากเก็บผืนแผ่นดินทุ่งกุลาไว้ให้ลูกหลาน รัฐบาลนี้กำลังส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ ข้าวหอมมะลิเป็นซอฟต์พาวเวอร์มาก่อนรัฐบาลไทยรักไทยจะจัดตั้งรัฐบาลอีก บริษัทน้ำตาลบ้านโป่งที่ถูกเปลี่ยนชื่อรายใหญ่อยู่มา 5-6 ปี ไม่สามารถเปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวบ้านได้ แสดงถึงความล้มเหลวของโรงงานน้ำตาล จนต้องไปหาอ้อยจากนอกพื้นที่ทุ่งกุลา ในเมื่อพื้นที่ปลูกอ้อยอยู่ห่างไกลจากทุ่งกุลาและไม่สามารถหาพื้นที่ปลูกอ้อยในทุ่งกุลาได้ ดังนั้นจึงต้องย้ายโรงงานไป

 

“ข้อเรียกร้องเดียวคือ โรงงานแห่งนี้ต้องย้ายตามไร่อ้อยออกไป เราจะไม่ประนีประนอมอีกต่อไป ขอฝากบริษัทแห่งนี้ถ้ายังมีสำนึกดีอยู่ก็ให้ย้ายโรงงานออกไป อย่ามาตั้งที่นี่ ปีหน้าเราจะให้โอกาสเป็นเวลา 1 เดือน คือในเดือนมกราคม และผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ด ต้องแสดงให้เห็นว่าคุณใหญ่กว่าบริษัทนี้ และต้องมีคำตอบให้กับเราว่าจะเลือกให้ทุ่งกุลาเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิหรือเป็นไร่อ้อย ถ้าไม่ได้คำตอบในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เราจะยกระดับการชุมนุมด้วยการปิดบริษัทแห่งนี้ และเราจะตั้งหมู่บ้านคนฮักทุ่งกุลาขึ้นที่ผืนแผ่นดินที่นี่” เลิศศักดิ์กล่าว

 

ห่วงโรงงานแย่งน้ำบาดาล-ทำลายอาชีพคนในชุมชน

 

นิวาส โคตรจันทึก นักปกป้องสิทธิมนุษยชน เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา กล่าวว่า พี่น้องที่มามีส่วนร่วมในวันนี้เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ในการต่อสู้เพื่อถิ่นเกิดของตัวเอง ถ้าสมมติว่าโรงงานมาตั้งได้ ไม่มีที่จะถอนออกไป มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากหมื่นตันเป็นแสนตัน โรงงานน้ำตาลไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ตนไปดูมาหมดแล้ว มีแต่สร้างเพิ่ม ไม่มีเล็กลง มีแต่ใหญ่ขึ้น 

 

จึงขอขอบคุณพี่น้องที่ออกมาต่อสู้ร่วมกันในวันนี้ และขอให้เรารู้ว่าเราเป็นตัวแทนที่จะต่อสู้เพื่อลูกหลานไม่ให้เกิดโรงงานที่จะสร้างผลกระทบต่อไป ทั้งนี้ผลกระทบที่สำคัญที่สุดคือเรื่องน้ำ โดยเฉพาะน้ำบาดาลของคนในพื้นที่ เพราะโรงงานนี้ไม่มีแหล่งน้ำผิวดิน นอกจากน้ำใต้ดินเท่านั้น โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เท่านี้จะต้องใช้น้ำเท่าไร นอกจากนั้นคือปัญหาการจราจรในฤดูหีบอ้อย ตราบใดที่เราสกัดโรงงานไม่ให้สร้างได้ปัญหาจะไม่เกิด เจ้าของโรงงานไม่ได้อยู่กับเรา แต่เอามลพิษมาฝากไว้ที่เรา

 

ขณะที่ เกียรติศักดิ์ แก้วพิลา จากเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา กล่าวว่า หากมีโรงงานน้ำตาลปัญหาที่จะเกิดขึ้นคืออุบัติเหตุจากรถขนอ้อย ชาวบ้านจะสูญเสียพื้นที่เลี้ยงวัว เกิดสารเคมีจากไร่อ้อย กระทบต่อไส้เดือนที่เป็นรายได้หลักของชาวบ้านเกือบ 1,000 บาทต่อวันก็จะหายไป นอกจากนั้นยังเกิดการสูญเสียป่าชุมชนจากการสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวล สุดท้ายภัยแล้งจะมาเยือน เพราะหากปลูกอ้อยคันนาจะถูกทำลายส่งผลต่อการเก็บกักน้ำ และปัญหาน้ำเสียจากโรงงานที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งปัญหาฝุ่น PM2.5  

 

อรัฐแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำแทนผุดโรงงานน้ำตาล

 

หมุน ลุนศร ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา กล่าวว่า หากโรงงานไม่ย้ายออกไป เราจะย้ายมาตั้งหมู่บ้านที่บริเวณโรงงานนี้ และทำอุตสาหกรรมต้มเหล้าจากข้าวหอมมะลิในพื้นที่นี้ เราต้องปกป้องผืนดินทุ่งกุลาที่เป็นทุ่งสีทองเหมือนทองคำ เราต้องพาลูกหลานลุกขึ้นมาต่อสู้ อย่าให้เขามาสร้างโรงงานน้ำตาลได้ ถ้าเราจะสร้างคือสร้างโรงต้มเหล้าจากข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา เราจะใส่แบรนด์ของเราลงไปให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศ

 

ด้าน หนูปา แก้วพิลา ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มคนฮักทุ่งกุลา กล่าวว่า ที่พวกเราต้องออกมาคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวลในครั้งนี้เพราะเราเล็งเห็นผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ไม่อยากให้เข้ามาทำลายทุ่งกุลาแหล่งอาหารธรรมชาติและแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิขนาดใหญ่ของพวกเรา เราอยากให้ลูกหลานของเราได้อยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศที่ดี 

 

“รัฐควรให้ความสำคัญ ไม่ใช่การเร่งขยายแหล่งผลิตโรงงานน้ำตาลหรือโรงไฟฟ้าชีวมวล แต่ควรแก้ปัญหาราคาข้าวที่ตกต่ำลงทุกวัน ข้าวหอมมะลิเราเป็นข้าวหอมมะลิที่ส่งออกทั่วโลก แต่ไม่มีรัฐบาลชุดไหนให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาราคาข้าวที่ตกต่ำเลย” หนูปากล่าว

 

แถลงการณ์หากไม่ยุติโรงงานจะปิดสำนักงานโรงงาน

 

พร้อมแถลงการณ์ระบุตอนหนึ่งว่า “เราให้เวลาหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและบริษัทดังกล่าวภายในเดือนมกราคม 2567 เมื่อล่วงเข้าเดือนกุมภาพันธ์ 2567 หากไม่ประกาศยุติโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำตาลทรายและโรงไฟฟ้าชีวมวลขึ้นที่ตำบลโนนสวรรค์ หรือบริเวณอื่นใดบนผืนแผ่นดินทุ่งกุลา เราจะทำการปิดสำนักงานของบริษัทด้วยสองมือสองเท้าของเราเอง”

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising