×

ธนาคารโลกเผย รายงานสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ เบลเยียม-ฝรั่งเศส-สวีเดนรั้งที่ 1 ไทยอันดับ 103

03.03.2019
  • LOADING...

มีเพียง 6 ประเทศในโลก ที่ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) สำรวจพบว่า ประชากรชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและกฎหมาย ซึ่ง 6 ประเทศนี้ ได้แก่ เบลเยียม เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ลัตเวีย ลักเซมเบิร์ก และสวีเดน ที่ทำคะแนนได้เต็ม 100 ในรายงาน Women, Business and the Law 2019 (WBL) ขณะที่ไทยมี 75 คะแนน อยู่ในอันดับ 103 จากทั้งหมด 187 ประเทศและดินแดนทั่วโลก

 

รายงานของเวิลด์แบงก์จะวัดว่า ประเทศต่างๆ มีประสิทธิภาพในการสร้างหลักประกันด้านความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและกฎหมายแค่ไหน ซึ่งดูจากเกณฑ์วิเคราะห์ เช่น ความสามารถในการเดินทางไปสถานที่ต่างๆ, การเริ่มงาน, การรับค่าจ้าง, การแต่งงาน-มีบุตร, การดำเนินธุรกิจ, การบริหารจัดการสินทรัพย์ และการรับเบี้ยบำนาญ นอกจากนี้ยังมีคำถามปลีกย่อยที่น่าสนใจ เช่น ผู้หญิงสามารถเดินทางนอกบ้านได้เหมือนกับผู้ชายหรือไม่ และมีกฎหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวหรือทำร้ายคู่สมรสโดยตรงหรือไม่

 

สำหรับประเทศที่มีค่าดัชนี WBL สูงสุดในโลกปี 2019 ได้แก่

เบลเยียม 100 คะแนน

เดนมาร์ก 100 คะแนน

ฝรั่งเศส 100 คะแนน

ลัตเวีย 100 คะแนน

ลักเซมเบิร์ก 100 คะแนน

สวีเดน 100 คะแนน

ออสเตรีย 97.50 คะแนน

แคนาดา 97.50 คะแนน

เอสโตเนีย 97.50 คะแนน

ฟินแลนด์ 97.50 คะแนน

กรีซ 97.50 คะแนน

ไอร์แลนด์ 97.50 คะแนน

โปรตุเกส 97.50 คะแนน

สเปน 97.50 คะแนน

สหราชอาณาจักร 97.50 คะแนน

 

ส่วนไทยทำได้ 75 คะแนน เท่ากับกัมพูชา กานา ฮอนดูรัส ไลบีเรีย โดยอยู่ในอันดับ 103 ต่ำกว่าจีนซึ่งมี 76.25 คะแนน  

 

เมื่อแยกดูในภูมิภาคอาเซียน ลาวมีคะแนนดัชนี WBL สูงสุดที่ 88.13 คะแนน ตามมาด้วยสิงคโปร์ เวียดนาม และฟิลิปปินส์ (82.50, 81.88 และ 81.25 คะแนน ตามลำดับ)

 

ส่วนประเทศและดินแดนที่น่าสนใจอื่นๆ ได้แก่

เยอรมนี 91.88 คะแนน

ไต้หวัน 91.25 คะแนน (สูงสุดในเอเชีย)

ฮ่องกง 86.25 คะแนน

เกาหลีใต้ 85 คะแนน

สหรัฐอเมริกา 83.75 คะแนน

ญี่ปุ่น 79.38 คะแนน

 

รายงานระบุว่า ถึงแม้ทั่วโลกจะส่งเสริมความเท่าเทียมในสิทธิทางกฎหมายระหว่างชายและหญิงมากขึ้น แต่ที่ผ่านมามีพัฒนาการที่ช้ามาก หลังจากธนาคารโลกเริ่มวิจัยครั้งแรกเมื่อ 10 ปีก่อน ซึ่งในตอนนั้นไม่มีประเทศใดที่ทำคะแนนได้เต็ม 100 ขณะที่ 10 ปีต่อมา ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเพียง 6 ประเทศเท่านั้น

 

งานศึกษานี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้าใจให้ดีขึ้น เกี่ยวกับผลกระทบของการเลือกปฏิบัติทางกฎหมายที่มีต่อการว่าจ้างหรือการเป็นผู้ประกอบการของผู้หญิง โดยเน้นย้ำให้เห็นว่า ผู้หญิงยังต้องเผชิญกับกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เลือกปฏิบัติในทุกๆ อาชีพ ซึ่งจำกัดความเสมอภาคในโอกาส

 

อย่างไรก็ตาม รายงานนี้ไม่ได้วัดปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีต่อความเสมอภาคระหว่างชายหญิง รวมถึงไม่ได้ประเมินประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายของแต่ละประเทศด้วย

 

สามารถดูรายงานฉบับเต็มได้ที่ openknowledge.worldbank.org/bitstream/handle/10986/31327/WBL2019.pdf

 

ภาพ: Shutterstock

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising