×

วาโยชวนประชาชน-นักวิชาการ แสดงความเห็นต่อร่างกฎหมายควบคุมงานวิจัย หวั่นพากลับยุคมืด

โดย THE STANDARD TEAM
31.10.2024
  • LOADING...
วาโย อัศวรุ่งเรือง

วันนี้ (31 ตุลาคม) วาโย อัศวรุ่งเรือง สส. แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ว่าด้วยหลักเกณฑ์การวิจัยและข้อกำหนดจริยธรรมการวิจัย ซึ่งมีปัญหากับหลักศาสนา, วัฒนธรรม, จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ที่ยกร่างโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และเคยเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบและให้ผ่านเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป

 

วาโยระบุว่า ร่าง พ.ร.ฎ. ดังกล่าวมีเนื้อหาที่สร้างความกังวลอย่างกว้างขวางในหมู่นักวิชาการและนักวิจัยของประเทศไทย ทำให้ ครม. ต้องถอยภายใน 1 สัปดาห์ต่อมา โดยเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 ครม. มีมติให้ย้อนร่างฯ กลับไปยัง วช. เพื่อรับฟังความคิดเห็นใหม่อย่างรอบด้าน

 

วาโยกล่าวว่า จากนั้นวันที่ 19 กันยายน 2567 ที่ประชุม กมธ.อว. ซึ่งตนเองเป็นประธาน จึงเชิญหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาหารือและเห็นตรงกันว่า วช. ควรจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน โดยต้องประสานงานกับเครือข่ายภาคีนักวิจัยและนักวิชาการทั้งหลาย รวมถึงสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ เพื่อประชุมหารือ วิเคราะห์ และสังเคราะห์แนวทางยกร่างกฎหมาย โดยเสนอให้แจ้งมายัง กมธ.อว. เพื่อเข้าร่วมสังเกตการณ์

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2567 วช. กลับนำร่างฯ เดิม ชื่อไฟล์เดิม และเนื้อหาเดิม อัปโหลดเข้าสู่ระบบกลางทางกฎหมายเพื่อรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง โดยไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการตามที่พูดคุยหารือกัน จนถึงวันนี้เป็นวันสุดท้ายที่เปิดรับฟังความคิดเห็น จึงอยากเชิญชวนให้ประชาชนทั้งหลายโดยเฉพาะผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งนักวิชาการและนักวิจัย เข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นกับร่างกฎหมายดังกล่าวภายในคืนนี้

 

“ร่างกฎหมายนี้ยังมีปัญหาอยู่หลายประเด็น แต่โดยหลักการแล้วเป็นการทำหมันหรือ ‘ควบคุม’ ไม่ใช่ ‘ส่งเสริม’ ให้เกิดการวิจัยตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแม่ คือ พ.ร.บ.การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม จึงมีความเสี่ยงเป็นการย้อนกลับไปสู่ยุคมืดที่งานวิจัยถูกอ้างว่าขัดหลักศาสนาต่างๆ รวมทั้งถูกกีดกัน นักวิทยาศาสตร์ที่ทำการวิจัยถูกตีตราบาป และทำให้ไม่เกิดความก้าวหน้าในทางวิทยาศาสตร์หรือนวัตกรรม” วาโยกล่าว

 

วาโยกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังเห็นว่าบทกำหนดโทษนั้นรุนแรงเกินไป โดยเป็นการตัดท่อน้ำเลี้ยงการวิจัย ทั้งที่กฎหมายดังกล่าวควรเป็นเพียงแนวทางให้นักวิจัยปฏิบัติ เพื่อไม่ให้งานวิจัยของตนเองถูกตีตราว่าขัดหลักศาสนาหรือความเชื่อ จึงจะสมเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการส่งเสริมให้เกิดการวิจัยในแขนงต่างๆ อย่างกว้างขวาง นอกจากจะเห็นว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ขัดเจตนารมณ์ของกฎหมายแม่แล้ว ยังอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญซึ่งรับรองสิทธิและเสรีภาพในทางวิชาการไว้อีกด้วย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising