×

เตรียมเก็บค่าน้ำสาธารณะ สทนช. เร่งระดมความคิดเห็นทุกภาคส่วน หาทางออก

01.09.2019
  • LOADING...
ค่าน้ำสาธารณะ

(1 กันยายน) สำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวถึงแนวทางการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โครงการจัดทำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการคิดค่าน้ำ และจัดทำกฎหมายลำดับรอง ตามกฎหมายว่าด้วยทรัพยากรน้ำ (หมวดที่ 4 การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ) ว่า 

 

จากสภาพปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในหลายด้าน ทั้งปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และคุณภาพน้ำ ที่ในแต่ละปีปัญหาเหล่านี้จะทวีความรุนแรงขึ้น อีกทั้งความต้องการใช้น้ำสำหรับกิจกรรมของภาคส่วนต่างๆ ก็เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งสภาพภูมิอากาศที่มีความแปรปรวน ทำให้มีความเสี่ยงในการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอกับความต้องการใช้น้ำของทุกภาคส่วน ก่อให้เกิดความไม่เข้าใจกัน จนกลายเป็นความขัดแย้งและปัญหาการแย่งชิงน้ำ รวมทั้งการดำเนินการแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำในอดีต เกิดขึ้นโดยหลายหน่วยงานตามอำนาจหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ในกฎหมายหลายฉบับ ทำให้การดำเนินงานแก้ไขปัญหาขาดความเป็นเอกภาพ แต่ปัจจุบันพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ได้มีผลใช้บังคับแล้ว เว้นแต่บทบัญญัติในหมวดที่ 4 เรื่องการจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ ให้ใช้บังคับเมื่อประกาศใช้กฎหมายไปแล้ว 2 ปี ประกอบด้วยมาตรา 40-55 มีรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดลำดับความสำคัญการจัดสรรน้ำ การแบ่งประเภทการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะ และการออกใบอนุญาตการใช้น้ำ ซึ่ง สทนช. ได้เร่งศึกษาเพื่อจัดทำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การจัดสรรน้ำ การใช้น้ำ การคิดค่าใช้น้ำ และกฎหมายลำดับรอง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บังคับใช้ในหลายมาตรา 

 

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องการจัดเก็บค่าน้ำ ที่จะมีการจัดเก็บค่าใช้น้ำสาธารณะเฉพาะประเภทที่ 2 การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปา และกิจการอื่น และประเภทที่ 3 การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ หรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง 

 

ดังนั้น เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการยอมรับ และสอดคล้องกับความต้องการของทุกภาคส่วน ตลอดจนมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติมากที่สุด สทนช. ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการจัดทำหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข การคิดค่าน้ำ และจัดทำกฎหมายลำดับรอง ตามกฎหมายว่าด้วยทรัพยากรน้ำ (หมวด 4 การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ) และจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น เพื่อชี้แจงรายละเอียดของการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 หมวด 4 การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจได้รับทราบ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการลุ่มน้ำ ภาคเอกชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กลุ่มผู้ใช้น้ำ และภาคประชาชนทั่วไป โดยการประชุมจะมีการนำเสนอภาพรวมการดำเนินงานของโครงการฯ อาทิ พื้นที่ศึกษา ขอบเขตการศึกษา ตลอดจนแผนการดำเนินงานในขั้นตอนต่อไป และที่สำคัญจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และร่วมมือหาทางออก เพื่อกำหนดแนวทางการศึกษาบนพื้นฐานการมีส่วนร่วม ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพพื้นที่และภูมิสังคม โดย สทนช. จะดำเนินจัดประชุมกลุ่มใหญ่และกลุ่มย่อย จำนวน 5 ครั้ง รวม 47 เวที ให้ครอบคลุมทุกลุ่มน้ำ เพื่อเป็นช่องทางในการชี้แจง สร้างการรับรู้และเข้าใจให้กับประชาชนในวงกว้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563  

 

“สทนช. ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งในภาคส่วนของผู้ที่มีหน้าที่ในการอนุญาต ควบคุม ดูแล ทั้งในระดับการกำหนดนโยบาย และระดับปฏิบัติงาน รวมทั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ ที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการ ดังนั้น การประชุมในครั้งนี้ จึงนับเป็นโอกาสที่ดีที่ทุกภาคส่วนจะได้รับทราบข้อมูลและรายละเอียดโครงการ รวมทั้งจะได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการโครงการ เพื่อรวบรวมปัญหา ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่างๆ มาประเมินและพิจารณาประกอบการปรับปรุงโครงการให้มีความเหมาะสมและเป็นไปได้ในทางปฏิบัติให้มากที่สุด โดยหลังจากนี้ สทนช. จะดำเนินการจัดประชุมกลุ่มย่อยครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 22 ลุ่มน้ำ เพื่อให้ได้มาซึ่งเกณฑ์การจัดสรรน้ำ ประเภทการใช้น้ำ เกณฑ์กำหนดโครงสร้างราคาน้ำ และการยกร่างกฎหมายลำดับรอง ในหมวด 4 การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ ที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศเป็นไปอย่างเป็นระบบ เกิดประโยชน์กับประชาชนในทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียม ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคมปี 2564 และบรรลุตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561” รองเลขาธิการ สทนช. กล่าว

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising