วันนี้ (7 ส.ค.) เวลา 10.00 น. THE STANDARD ลงพื้นที่เกาะติดสถานการณ์น้ำบริเวณสปิลเวย์เขื่อนแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี พบว่าระดับน้ำไหลเพิ่มสูงขึ้นจากเมื่อวานมาก เจ้าหน้าที่สำนักเครื่องจักรกล กรมชลประทาน ต้องย้ายเครื่องสูบน้ำมาติดตั้งในพื้นที่สูงขึ้นเพื่อเร่งระบายน้ำออกผ่านสปิลเวย์
จากการสอบถามเจ้าหน้าที่สำนักเครื่องจักรกล กรมชลประทาน ให้ข้อมูลว่าระดับน้ำในเขื่อนแก่งกระจานยังเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยชั่วโมงละ 1 เซนติเมตร จึงต้องเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อนทั้งการติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณสปิลเวย์ และทำกาลักน้ำบริเวณสันเขื่อน รวมถึงเปิดประตูระบายน้ำทุกประตูเพื่อรักษาระดับน้ำในเขื่อนแก่งกระจานไม่ให้เกินศักยภาพการรับน้ำ
ขณะที่นายสุธี เล้าสุบินประเสริฐ เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนแก่งกระจานไม่เคยมากขนาดนี้มาก่อน โดยครั้งล่าสุดที่ระดับน้ำในเขื่อนสูงจนล้นสปิลเวย์คือเมื่อปี 2546 หรือ 15 ปีที่แล้ว ยืนยันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากแผนรับมือที่ไม่ดี แต่เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติจริงๆ โดยช่วงวันที่ 19-20 ก.ค. ที่ผ่านมา น้ำไหลเข้ามาในเขื่อนแก่งกระจานกว่า 100 ล้าน ลบ.ม.
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบส่วนพื้นที่ท้ายน้ำของอำเภอแก่งกระจาน มีเพียงรีสอร์ตที่ปลูกสร้างอยู่ริมน้ำที่ได้รับผลกระทบ ขณะที่ประชาชนทั่วไปในพื้นที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สูง
ทั้งนี้มีรายงานว่า พื้นที่แรกของอำเภอแก่งกระจานที่ได้รับผลกระทบคือบริเวณถนนเชื่อมต่อเข้ารีสอร์ตบ้านอิงน้ำ ต้นน้ำเพชรรีสอร์ต ณัฐพลรีสอร์ต และรีสอร์ตอีกกว่า 5 แห่ง ซึ่งถือเป็นจุดรับน้ำท้ายเขื่อนหมู่บ้านแรก ซึ่งได้รับผลกระทบจากมวลน้ำล้นสปิลเวย์ ส่งผลให้ถนนทางเข้าขาดเมื่อช่วงกลางดึกที่ผ่านมา โดยระดับน้ำจากพื้นถนนอยู่ที่ประมาณ 20 เซนติเมตร
โดยทางรีสอร์ตได้ปิดรับคนเข้าพักเพื่อความปลอดภัยมาตั้งแต่ช่วงที่ได้รับแจ้งเตือนจากทางการแล้ว และถือเป็นการท่วมครั้งแรกของพื้นที่ในรอบ 4 ปี
ด้าน พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า มั่นใจว่าจะสามารถบริหารจัดการและรับมือกับสถานการณ์น้ำในเขื่อนแก่งกระจานจังหวัดเพชรบุรี แม้ว่าจะมีน้ำล้นสปิลเวย์ หรือมีน้ำทะเลหนุนในช่วง 2 วันนี้ แต่สถานการณ์ไม่รุนแรง มีการระบายน้ำได้ โดยจะมี 4 อำเภอที่อาจได้รับผลกระทบบ้าง คือ อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอเมือง และอำเภอบ้านแหลม
ขณะที่การประเมินสถานการณ์หรือการเตรียมการอพยพ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันประเมินสถานการณ์ หากมีการอพยพ และมีชาวบ้านที่ไม่ยอมทิ้งบ้าน ทางกระทรวงมหาดไทยจะให้ความช่วยเหลือผู้ชายเฝ้าบ้านไว้ 1 คน และจะมีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ หรือ อส. ในพื้นที่คอยดูแล