กรมชลประทานเผยข้อมูลจากการติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำทั่วประเทศ หลังเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ภาคอีสาน ส่งผลให้ระดับน้ำในลำห้วยธรรมชาติและแม่น้ำต่างๆ มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นหลายแห่ง จนทำให้เกิดน้ำท่วมขังและน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ โดยล่าสุดมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 5 จังหวัด คือ ยโสธร ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี นครพนม และสกลนคร โดยสรุปได้ดังนี้
- ยโสธร
มีน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร 5 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.ไทยเจริญ อ.ป่าติ้ว อ.กุดชุม และ อ.คำเขื่อนแก้ว รวมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 37,889 ไร่
สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำลำเซบายที่สถานี M.32 อ.ป่าติ้ว มีปริมาณน้ำ 340 ลบ.ม./วินาที สูงกว่าตลิ่ง 1 เมตร แนวโน้มระดับน้ำทรงตัว ส่วนลุ่มน้ำชีที่สถานีวัดน้ำ E.2A บริเวณ อ.เมือง มีปริมาณน้ำ 953 ลบ.ม./วินาที ต่ำกว่าตลิ่ง 0.47 เมตร และสถานีวัดน้ำ E.20A อ.มหาชนะชัย ปริมาณน้ำ 936 ลบ.ม./วินาที ต่ำกว่าตลิ่ง 0.67 เมตร แนวโน้มระดับน้ำเพิ่มขึ้น
สำหรับการให้ความช่วยเหลือ กรมชลประทานเร่งการระบายน้ำผ่านเขื่อนลำเซบาย พร้อมเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำที่ท่วมขังบริเวณดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
- ร้อยเอ็ด
น้ำในลำน้ำยังไหลเข้าท่วมพื้นที่ริม 2 ฝั่งของลำน้ำยัง บริเวณ อ.เสลภูมิ และ อ.โพนทอง รวมพื้นที่ได้รับผลกระทบ 17,000 ไร่
สถานการณ์น้ำในลำน้ำยังปัจจุบัน (วันที่ 2 ส.ค.) ที่สถานีวัดน้ำ E.92 บ้านท่างาม อ.เสลภูมิ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 687 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 2.22 เมตร ระดับน้ำลดลง
สำหรับการให้ความช่วยเหลือ กรมชลประทานเฝ้าระวังสถานการณ์บริเวณพื้นที่ที่เคยซ่อมพนังกั้นน้ำลำน้ำยัง นำรถแบ็กโฮ 6 คัน รถบรรทุก 8 คัน ไปยังจุดเสี่ยง เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่โดยการตัดถนนเส้นทางหลวง 2259 สายเสลภูมิ-คำพล ยาว 50 เมตร
- อุบลราชธานี
มีน้ำท่วม 7 อำเภอ คือ อ.นาตาล อ.เขื่องใน อ.เขมราฐ อ.โพธิ์ไทร อ.โขงเจียม อ.ดอนมดแดง และ อ.ตระการพืชผล รวมพื้นที่ประมาณ 270 ไร่
เนื่องจากสถานการณ์น้ำบริเวณเขื่อนธาตุน้อย อ.เขื่องใน มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 916 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนธาตุน้อยสูงกว่าระดับควบคุม ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่งบริเวณ ต.ค้อทอง อ.เขื่องใน ได้ จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามประกาศแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดไว้ด้วย
ส่วนลุ่มน้ำชีบริเวณสถานีวัดน้ำ E.98 อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี ล่าสุด (เวลา 12.00 น. วันที่ 2 ส.ค. 61) มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 804 ลบ.ม./วินาที ต่ำกว่าตลิ่ง 0.78 เมตร มีแนวโน้มทรงตัว
- นครพนม
มีน้ำท่วม 8 อำเภอ คือ อ.ท่าอุเทน อ.ธาตุพนม อ.บ้านแพง อ.เมือง อ.โพนสวรรค์ อ.ปลากปลา อ.เรณูนคร และ อ.นาแก รวมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 128,098 ไร่
สำหรับการช่วยเหลือ ชลประทานเร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 3 เครื่อง บริเวณ อ.เมือง และเครื่องผลักดันน้ำบริเวณประตูระบายน้ำต่างๆ รวมจำนวน 14 เครื่อง หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติมในพื้นที่ คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 7 วัน
- สกลนคร
มีน้ำท่วมขัง 4 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.โคกศรีสุพรรณ อ.พรรณนิคม และ อ.โพนนาแก้ว รวมพื้นที่ได้รับผลกระทบประมาณ 9,000 ไร่
สำหรับการช่วยเหลือ ชลประทานติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 3 เครื่อง บริเวณหนองสนม อ.เมือง 1 เครื่อง และบริเวณโรงบำบัดน้ำเสียสกลนคร 2 เครื่อง พร้อมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำจำนวน 6 เครื่อง บริเวณประตูระบายน้ำบ้านหนองบึง และบริเวณ อ.โพนนาแก้ว เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด