วันนี้ (6 มกราคม) ศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ พบว่า ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำปัจจุบันมีอยู่รวมทั้งสิ้น 49,591 ล้านลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ 60) โดยแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การได้จริง 20,551 ล้านลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ 43) โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังน้ำน้อยในเขื่อนจำนวน 14 แห่ง ประกอบด้วย แม่กวง ภูมิพล สิริกิติ์ แม่มอก ทับเสลา กระเสียว จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำพระเพลิง ลำแซะ ลำนางรอง ป่าสักฯ คลองสียัด และหนองปลาไหล
ขณะที่สถานการณ์แม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยายังคงต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ส่วนภาคอีสานและภาคใต้มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย-ปกติ
ส่วนแม่น้ำโขงมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ภาพรวมน้อย ต่ำกว่าระดับน้ำ ซึ่งเคยต่ำสุดในปี 2535 (ในรอบ 28 ปี) และต่ำกว่าในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ระดับน้ำแม่น้ำโขงที่จังหวัดเชียงราย เลย นครพนม และมุกดาหาร มีแนวโน้มลดลง ส่วนจังหวัดหนองคายและอุบลราชธานีมีแนวโน้มทรงตัว
ทั้งนี้ สทนช. ได้มีการเสนอกรอบโครงสร้างศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจเตรียมรับมือภัยแล้งปี 2563 เนื่องจากภาวะแล้งที่กำลังจะเกิดขึ้นมีแนวโน้มรุนแรงกว่าทุกปี เพื่อให้การแก้ไขปัญหาภัยแล้งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วทันท่วงที จึงต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
ทาง สทนช. จึงได้เสนอขอความเห็นชอบกรอบโครงสร้างศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ และแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤตน้ำแล้ง โดยจะมีการเสนอขอความเห็นชอบโครงสร้างฯ ดังกล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 7 มกราคม 2563 และ สทนช. เตรียมเสนอ เตรียมเสนอตั้งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขาฯ ในการติดตามวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ และหากวิกฤตรุนแรงมากขึ้น จะยกระดับเป็นศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการ เพื่ออำนวยการแก้ไขปัญหาวิกฤตน้ำต่อไป
ทางด้าน ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจ สำนักเครื่องจักรกลแก้ไขและบรรเทาวิกฤตภัยแล้งปี 62/63 ว่า เนื่องจากหน้าแล้งปีนี้มีปริมาณน้ำเก็บกักน้อยจากฝนตกในปี 2562 มีน้อยกว่าค่าเฉลี่ย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคกลาง รวมถึงการคาดหมายช่วงต้นปี 2563 นี้ จนถึงเดือนพฤษภาคม จะมีฝนตกเฉลี่ยน้อยกว่าค่าปกติเช่นเดียวกัน ทำให้ภาครัฐตั้งศูนย์ฯ ดังกล่าวนี้ขึ้น เพื่อเป็นวอร์รูมช่วยเหลือด้านภัยแล้งปีนี้โดยเฉพาะ
สำหรับความพร้อมของศูนย์ฯ ได้เตรียมเครื่องมือเครื่องจักรไปประจำการที่ศูนย์ทั่วประเทศ โดยศูนย์กลางอยู่ที่กรมชลประทาน ปากเกร็ด และอีก 7 ศูนย์อยู่ในภูมิภาค ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี และสงขลา รวมเครื่องมือกว่า 4,300 ชิ้น เช่น เครื่องสูบน้ำ รถสูบน้ำ เรือขุด รถบรรทุก รถบรรทุกน้ำ รถแทรกเตอร์ พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดในทุกพื้นที่
หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือ สามารถแจ้งได้ที่โครงการชลประทานในพื้นที่ หรือสายด่วน 1460 ตลอด 24 ชั่วโมง
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: