เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม วัชรวิทย์ ยาอินตา ผู้ควบคุมกล้องมิวสิกวิดีโอเพลง ROCKSTAR ของศิลปินระดับโลก ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล ในฐานะสมาชิกสมาคมผู้ควบคุมกล้องระดับโลก กล่าวถึงประเด็นทิศทางอุตสาหกรรมหนัง-ซีรีส์ประเทศไทยในอนาคต ผ่านรายการ THE STANDARD NOW ‘เปิดใจช่างภาพไทยระดับโลก ถ่าย MV ROCKSTAR ของ LISA สู่โอกาสผลักดันอุตสาหกรรม’
วัชรวิทย์ระบุว่า ปัจจุบันการจัดการในกองถ่ายของบ้านเราเทียบเท่าในระดับสากลแล้ว ประเทศไทยเรียกได้ว่ามีความพร้อมทั้งด้านทรัพยากรบุคคลและสถานที่มากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
หากมองในฐานะโปรดักชันต่างประเทศ ทีมประเทศไทยมีความเป็นสากล 100% แต่ปัญหาการทำงานที่ยังติดอยู่คือ เรื่องการสื่อสารภาษาอังกฤษที่อาจทำให้การทำงานเป็นไปอย่างล่าช้า แม้จะใช้ล่ามหรือคนช่วยแปลภาษา แต่พวกเขาอาจไม่รู้จักเทคนิคในการถ่ายทำหรือชื่อเครื่องมือในการผลิตหนัง
แต่หากมองในฐานะการสร้างหนังหรือซีรีส์ของประเทศไทย ส่วนตัวมองเห็นว่าต้องปรับปรุงในหลายด้าน เพราะจากประสบการณ์ที่ได้พูดคุยกับเพื่อน รุ่นพี่ และรุ่นน้อง ที่ทำงานส่วนนี้ สะท้อนว่าชั่วโมงการทำงานต่อวันคือไม่ต่ำกว่า 16 ชั่วโมง ไม่รวมการเดินทางไป-กลับสถานที่ถ่ายทำ
“ตารางการทำงานแบบนี้จะเห็นได้ว่าเขาพยายามบีบให้งานเสร็จให้เร็วมากที่สุด เรากลายเป็นเครื่องมือหนึ่งของอุตสาหกรรมนี้ ถ้าวันหนึ่งที่ไปไม่ไหว ล้มป่วย เขาก็หาคนใหม่เข้ามาเท่านั้น” วัชรวิทย์กล่าว
วัชรวิทย์กล่าวว่า ในฐานะที่ตัวเองมีโอกาสได้ทำงานที่วงการนี้และมีช่องทางสื่อสาร จึงพยายามเป็นกระบอกเสียงสำหรับคนในอุตสาหกรรมหนัง พูดแทนคนหาเช้ากินค่ำที่ไม่สามารถพูดได้ เพราะจะกระทบกับรายได้ในแต่ละวันของพวกเขา
ความก้าวหน้าของซีรีส์-หนังไทยหลังจากนี้
วัชรวิทย์กล่าวยอมรับว่า ทุกอย่างสามารถไปต่อได้ แต่การที่ซีรีส์หรือหนังจะเป็น Soft Power ได้แบบโดยแท้ ไม่ได้ปั้นแต่ง เราไม่ควรบังคับหรือกำกับว่าตัวมันคือ Soft Power เช่น กรณีมิวสิกวิดีโอเพลงของลิซ่า
เพราะผู้ผลิตเองไม่ได้โฟกัสไปที่ป้ายถนนเยาวราช แต่ทำให้รู้ว่าฉากหลังนั้นคือถนนเยาวราชที่มีป้ายร้านค้าและบริษัทเป็นภาษาไทย สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเรียกว่าเป็น Soft Power ไปโดยธรรมชาติ ไม่ใช่การยัดเยียด
วัชรวิทย์กล่าวต่อว่า ซีรีส์ประเภท Boys’ Love (BL) หรือซีรีส์วายของประเทศไทยในปัจจุบันเป็นตัวอย่างที่ดีมาก เพราะสามารถสะท้อนผ่านการมีแฟนคลับกระจายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนมาก
“ในฐานะทีมงาน กองถ่าย ผู้ผลิต เราทำให้ดีที่สุดในทุกผลงาน แต่สิ่งที่จะทำให้ของที่มีอยู่ดีขึ้นมากคือการสนับสนุนจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและการผลักดัน” วัชรวิทย์กล่าว
ตัวอย่างการผลักดันของภาครัฐที่ดี ส่วนตัวมองว่าเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมนี้ เช่น ประเทศโปแลนด์ โดยรัฐบาลลงทุนช่วยสร้างหนังเกินกว่า 40%
วัชรวิทย์ขยายความว่า ปัจจุบันไม่ใช่ว่ารัฐบาลไทยไม่อำนวยความสะดวกหรือไม่ให้การช่วยเหลือ เพราะทุกวันนี้การขออนุญาตเข้าถึงสถานที่ต่างๆ ก็ทำได้ง่าย เป็นเหตุผลให้มีหนังต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทยมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน การผลิตใดๆ ก็ตามในประเทศ อุตสาหกรรมนี้อาจยังไม่ได้รับการผลักดันมากเท่าที่ควร ส่วนตัวก็ต้องยอมรับว่าอยากทำผลงานในไทยมาก แต่ยังไม่มีโอกาส ส่วนมากงานทุกวันนี้จะเป็นนายทุนจากต่างประเทศ
ถ้ารัฐบาลสนับสนุนความคล่องตัวของธุรกิจอุตสาหกรรมหนัง และหนังในประเทศก็ยังสามารถใช้บุคลากรที่มีในประเทศอยู่แล้วได้อีก จะเกิดประโยชน์ต่อทั้งอุตสาหกรรมนี้มาก ซึ่งสิ่งที่เราทำได้ดีอย่างเห็นได้ชัดอีกหนึ่งอย่างคือรายการเกมโชว์ที่เนื้อหาดีมาก ฉะนั้นจึงต้องกลับมาพูดถึงเรื่องเงินทุนและการสนับสนุนที่จะต้องเข้ามาช่วยผลักดันคอนเทนต์ที่ดีเหล่านี้ต่อไป
“หากเปรียบเทียบการผลิตของต่างประเทศหรือแม้แต่ซีรีส์เกาหลีที่เป็นที่นิยมของคนทั้งโลก เรามองว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่สามารถเติบโตได้ไม่ห่างไกลจากกลุ่มประเทศเหล่านั้น เพราะตอนนี้คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดของอุตสาหกรรมหนังในประเทศแล้ว” วัชรวิทย์กล่าว