วานนี้ (27 มิถุนายน) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดของกรมควบคุมโรค พบว่าในกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีแรงงานติดโควิด-19 เป็นจำนวนมาก และพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในหลายพื้นที่ของปริมณฑล อีกทั้งใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงมีการประกาศการใช้มาตรการควบคุมและชะลอการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างน้อยเป็นเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 ซึ่งการปิดแคมป์คนงาน อาจทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของแรงงานหรือการเดินทางของประชาชนเพื่อกลับภูมิลำเนานั้น กรมควบคุมโรคในฐานะเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จึงได้ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ให้ตั้งทีมค้นหา เฝ้าระวัง และป้องกันโรคในทุกอำเภอ หมู่บ้าน เพื่อสำรวจจัดทำฐานข้อมูลผู้เดินทางกลับภูมิลำเนา พร้อมให้ความรู้ในการแยกตัวสังเกตอาการ หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้อื่นและอยู่ในที่พักจนครบ 14 วัน
สำหรับประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) มีผลตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 โดยสรุปมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ดังนี้
1. สกัดกั้นการระบาดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล คือ จังหวัดนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และ 4 จังหวัดภาคใต้ คือ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา
2. ควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้าง และปฏิบัติการตามมาตรการควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) ในสถานประกอบการและโรงงานในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
3. เพิ่มมาตรการให้เข้มงวดขึ้น คือ 1) งดการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ร้าน 2) ห้างสรรพสินค้าเปิดได้ถึงเวลา 21.00 น. เท่านั้น 3) โรงแรม ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุมเปิดได้ แต่ให้งดกิจกรรมการประชุม การสัมมนา และการจัดเลี้ยง 4) ห้ามรวมกลุ่มมากกว่า 20 คน
4. เมื่อพบการระบาดกลุ่มก้อนให้พิจารณาปิดชุมชนหรือจำกัดการเคลื่อนย้าย
5. ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ และบุคคลอื่นตามความเหมาะสม
6. ให้เจ้าหน้าที่ตั้งจุดตรวจหรือจุดสกัดเพื่อคัดกรองการเดินทาง ควบคุมการเดินทาง และเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามจังหวัดอย่างเข้มงวด
7. ให้เจ้าพนักงานเข้มงวด มิให้มีการลักลอบหรือรวมกลุ่มมั่วสุม เล่นการพนัน เสพยาเสพติด รวมกลุ่มแข่งรถ หรือการฝ่าฝืนเปิดสถานบริการในพื้นที่ที่มีข้อกำหนด และให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อเตรียมพร้อมในการรับแจ้งเบาะแส เหตุฉุกเฉินจากประชาชน
8. ใช้มาตรการ Work From Home เพื่อลดการเดินทางและการสัมผัสระหว่างบุคคล โดยให้ดำเนินการทั้งหมดในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวดอย่างน้อย 30 วัน
นพ.โอภาสกล่าวเพิ่มเติมว่า ขอความร่วมมือทุกจังหวัดปฏิบัติตามแนวทางที่ ศบค. กำหนด ตั้งแต่ตรวจ คัดกรอง เตรียมมาตรการเฝ้าระวัง ติดตามการเข้าออกจากจังหวัด หากพบผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้ดำเนินการคุมไว้สังเกตอาการ แยกกัก หรือกักกันในพื้นที่พำนักหรือสถานที่ที่ราชการกำหนด ทั้งนี้ ขอให้ผู้ประกอบการงดการเคลื่อนย้ายแรงงานออกจากพื้นที่ และหากแรงงานมีความจำเป็นต้องกลับภูมิลำเนา ขอให้สังเกตอาการตนเองก่อนการเดินทาง หากมีไข้ มีอาการทางเดินหายใจ ขอให้งดเดินทาง ควรอยู่ในที่พักและสังเกตอาการ หากอาการ ไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ระหว่างการเดินทางไม่ควรแวะพักหากไม่จำเป็น เมื่อถึงจังหวัดปลายทางขอให้รายงานตัวต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พร้อมสนับสนุนการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยการปฏิบัติงานคัดกรองเชิงรุก เร่งค้นหาผู้ติดเชื้อเพื่อจำแนก จำกัดขอบเขตการแพร่ระบาดของโรค และเร่งกระจายวัคซีนไปยังพื้นที่ต่างๆ ตามแผนกระจายวัคซีนของ ศบค. ซึ่งขณะนี้มีผู้ได้รับวัคซีนแล้วจำนวน 9,055,141 โดส (ข้อมูลวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง 26 มิถุนายน 2564) และขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเอง สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง วัดไข้และสแกน ‘ไทยชนะ’ เมื่อเข้าใช้สถานที่ หากพบเห็นการฝ่าฝืนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ขอให้แจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อจังหวัด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์