หลังถูกกระแสวิจารณ์ในโซเชียลมีเดียว่า พระปรางค์มีสีขาวโพลน ลวดลายกระเบื้องหายและเปลี่ยนไป โดยเฉพาะ ‘ยักษ์’ ที่ประดับพระปรางค์ ที่ดูเหมือนว่าลวดลายกระเบื้องที่ประดับหลังการบูรณะจะหายไป
วัตถุสถานทุกอย่างภายในวัดขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากร วัดเป็นเพียงที่ตั้งโบราณสถานเหล่านี้ เพราะฉะนั้น วัดไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ เพราะจะผิดกฎหมาย
เทียบ ‘ยักษ์’ พระปรางค์ผิดตัว
THE STANDARD เดินทางไปที่พระปรางค์ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เพื่อสำรวจข้อเท็จจริงพร้อมพูดคุยกับ พระมหาบุญรุ่ง สิริโชติ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งชี้แจงเรื่องนี้ว่า ‘ยักษ์’ ที่ถูกนำไปเทียบเป็นยักษ์คนละตัว กล่าวคือ นำภาพยักษ์พระปรางค์ใหญ่ก่อนขัดทำความสะอาดไปเทียบกับภาพยักษ์พระปรางค์มณฑป ซึ่งยักษ์พระปรางค์มณฑปชั้นยศน้อยกว่ายักษ์พระปรางค์ใหญ่ ดังนั้น เครื่องประดับจึงน้อยกว่า และหากสังเกตดูที่ยักษ์พระปรางค์ก็จะเห็นว่า กระเบื้องเครื่องประดับยังอยู่เหมือนเดิม ส่วนเศษกระเบื้องที่เหลือจากการบูรณะ ทางวัดได้เก็บไว้โดยมีโครงการจะทำเป็นพิพิธภัณฑ์พระปรางค์วัดอรุณฯ ในอนาคต
“วัตถุสถานทุกอย่างภายในวัดขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากร วัดเป็นเพียงที่ตั้งโบราณสถานเหล่านี้ เพราะฉะนั้น วัดไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ เพราะจะผิดกฎหมาย”
ระหว่างเดินสำรวจพระปรางค์ เราพบกับ ทศพล สิทธิมงคล ไกด์นำเที่ยวนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น ที่พานักท่องเที่ยวมาชมพระปรางค์วัดอรุณฯ ตลอด 15 ปี เล่าเรื่องพระปรางค์ในมุมของเขาให้ฟังว่า ช่วงบูรณะพระปรางค์ก็ต้องพานักท่องเที่ยวมาดู เพราะอยู่ในโปรแกรม จึงเห็นการบูรณะพระปรางค์มาตลอด ช่วงก่อนบูรณะ องค์พระปรางค์ก็มีสีดำ เพราะผ่านลมผ่านฝนมามาก พอหลังบูรณะก็สะอาดขึ้น
“ถ้าให้เทียบพระปรางค์ก่อนบูรณะกับหลังบูรณะ ผมว่ามันก็ต้องมีการบูรณะ เพราะคนที่เขาไม่เคยมาก็จะได้เห็นพระปรางค์ที่สวยงาม ส่วนคนที่ดูมาตลอด 15 ปีอย่างผม ภาพเก่าๆ ก็จะลบไป ได้เห็นสิ่งใหม่ๆ ซึ่งสวยงามเกิดขึ้น”
ยืนยันว่าสีขาวคือสีปกติของพระปรางค์ ถ้าดูภาพหลังการบูรณะสมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 ก็จะเห็นว่า ถ้าในสภาพหลังบูรณะใหม่ในผิวพื้นที่เป็นปูนหมักแล้วก็จะต้องออกมาเป็นสีขาวแบบนี้
กรมศิลป์ ยืนยันบูรณะตามหลักวิชา พระปรางค์เนื้อเดิมเป็น ‘สีขาว’
อนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร อธิบายประวัติพระปรางค์วัดอรุณฯ พอสังเขปว่า พระปรางค์องค์ใหญ่ที่ตั้งตระหง่านให้เราเห็นทุกวันนี้ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 แต่มาแล้วเสร็จในช่วงรัชกาลที่ 3 โดยสร้างคร่อมพระปรางค์องค์เดิมที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
ส่วนการบูรณะพระปรางค์ครั้งใหญ่มีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 พร้อมโชว์ภาพถ่ายหลังการบูรณะสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2409 และการบูรณะใหญ่สมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2444 ให้เห็นว่า องค์พระปรางค์หลังบูรณะใหญ่ในสมัยนั้นก็มีสีขาว
“ยืนยันว่าสีขาวคือสีปกติของพระปรางค์ ถ้าดูภาพหลังการบูรณะสมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 ก็จะเห็นว่า ถ้าในสภาพหลังบูรณะใหม่ในผิวพื้นที่เป็นปูนหมักแล้วก็จะต้องออกมาเป็นสีขาวแบบนี้”
อธิบดีกรมศิลปากรอธิบายกรอบแนวคิดโครงการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ ว่า เป็นการบูรณะในเชิงศิลปกรรมแบบเต็มรูปแบบเพื่อคงศิลปะแบบดั้งเดิม เริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2556-2560 ใช้เวลา 5 ปีเต็ม เพื่อเตรียมฉลองการสถาปนาครบ 250 ปี กรุงธนบุรี
โดยก่อนการบูรณะได้ทำการสำรวจอย่างละเอียด โดยใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายสามมิติ หรือ CT Scan เก็บรายละเอียด
หลังสำรวจแล้วพบว่า มีลวดลายเซรามิกทั้งหมด 120 ลวดลาย พร้อมทำการ ‘กระสวนลาย’ คือนำลายมาคัดลอกไว้หมดว่าลายแบบไหนอยู่ตรงไหน เพื่อเป็นหลักฐาน การบูรณะจะได้ไม่ผิดเพี้ยน
อย่างไรก็ตาม การบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ เกิดขึ้นหลายครั้งด้วยกัน บางครั้งอาจมีการใช้วัสดุที่ไม่เหมาะสม จากการตรวจสอบพบว่า บางตำแหน่งใช้ปูนดำ (ปูนซีเมนต์ที่ใช้ทั่วไป) ซึ่งแม้จะมั่นคงแต่เป็นอันตรายต่อศิลปกรรมโบราณ เพราะเมื่อกะเทาะออก ปูนดำจะกินเนื้อกระเบื้องซึ่งเป็นวัตถุโบราณ
ลักษณะความเสียหายที่พบจากการสำรวจมีหลายแบบ ทั้งการแตกลายงา โป่งพอง ผุเปื่อย แตกร้าว สึกกร่อน หลุดล่อน แตกแยก ซึ่งความเสียหายแต่ละแบบจะใช้วิธีบูรณะที่แตกต่างกัน ในส่วนนี้กรมศิลปากรลงไปในรายละเอียดทั้งหมด
ฝีมือช่างก็ไม่ได้ถึงกับเป็นช่างไร้ฝีมือ แต่ความละเอียดก็อาจจะบกพร่องอยู่บ้าง ส่วนนี้กรมศิลปากรไม่ได้ปฏิเสธอะไร
บูรณะพระปรางค์ใช้กระเบื้องเดิมเกินครึ่ง
ส่วนกระเบื้องและเซรามิกที่ตั้งข้อสังเกตกันว่าลายไม่สวยงามเหมือนก่อน อธิบดีกรมศิลปากรชี้แจงว่า ไม่ได้ถอดของเดิมหมดแล้วเอาลายใหม่ใส่ แต่จะทำการสำรวจความเสียหาย “ต้องชำรุด 30-50% จึงจะรื้อออก”
ซึ่งการบูรณะครั้งนี้ใช้กระเบื้องดั้งเดิมกว่า 60% ส่วนอีก 40% หรือไม่น้อยกว่า 1.2 แสนชิ้นเป็นการทำขึ้นใหม่ โดยขั้นตอนการทำลายเซรามิกเพื่อทดแทนของดั้งเดิม เราพยายามทำให้ใกล้เคียงสีเดิมที่สุด
“ยอมรับว่ามีบ้างที่การเก็บรายละเอียด ปูนจะเข้าไปทับตามขอบหรือจมไป หรือการเช็ดปูนออกจากลายเซรามิกไม่สะอาดบ้างก็ยังมีอยู่ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ฝีมือช่างก็ไม่ได้ถึงกับเป็นช่างไร้ฝีมือ แต่ความละเอียดก็อาจจะบกพร่องอยู่บ้าง ส่วนนี้กรมศิลปากรไม่ได้ปฏิเสธอะไร” อธิบดีกรมศิลปากรกล่าว
กรมศิลป์ยันเศษกระเบื้องพระปรางค์ วัดนำไปทำวัตถุมงคลได้
ส่วนประเด็นร้อนที่วิจารณ์กันว่า มีการนำเศษกระเบื้องพระปรางค์ไปทำวัตถุมงคลให้เช่าบูชานั้น อธิบดีกรมศิลปากรยืนยันว่า ชิ้นส่วนของกระเบื้องที่บูรณะแล้ว เรามอบให้วัด แต่อาจมีกระเบื้องบางส่วนติดไปกับปูนที่กะเทาะออกมาบ้าง
“เรื่องนำเศษกระเบื้องไปทำวัตถุมงคล กรมศิลป์ไม่ได้ทำ เรามอบเศษกระเบื้องให้วัด เราเลยไม่แน่ใจ เศษกระเบื้องที่กรมศิลป์มอบให้วัด ถ้าวัดนำมาทำวัตถุมงคล วัดทำได้ เพราะกระเบื้องถือเป็นทรัพย์สินของวัด” อธิบดีกรมศิลปากรกล่าว
วัดอรุณฯ แจง เศษกระเบื้องที่เก็บไม่ใช่ของเก่า ยังไม่มีแผนทำวัตถุมงคล
อย่างไรก็ตาม ก่อนอธิบดีกรมศิลปากรจะแถลงข่าว THE STANDARD โทรศัพท์สัมภาษณ์ พระศากยปุตติยวงศ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ประธานโครงการบูรณะวัดอรุณฯ ถึงกระแสข่าวเรื่องการนำเศษกระเบื้องพระปรางค์หลังการบูรณะไปทำวัตถุมงคล
พระศากยปุตติยวงศ์ตอบว่า กระเบื้องดังกล่าวเป็นเศษกระเบื้องที่ชำรุด และเป็นกระเบื้องใหม่เมื่อครั้งบูรณะพระปรางค์เมื่อปี 2538 ไม่ใช่กระเบื้องดั้งเดิมและเป็นเศษกระเบื้องโมเสกเล็กๆ ซึ่งวัดได้เก็บไว้ประมาณ 4 ถุง เพราะเห็นว่าน่าจะนำมาทำประโยชน์ได้
แต่ยังไม่มีแผนว่าจะนำมาใช้ประโยชน์อย่างไร