ด้วยไลฟ์สไตล์ที่เน้นความสะดวกในปัจจุบัน ทำให้ ‘เดลิเวอรี’ กลายเป็นสิ่งที่จะตอบโจทย์ผู้บริโภคให้ได้รับประทานอาหารจานโปรดได้อย่างไร้ข้อจำกัด จึงไม่ต้องแปลกใจหากศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะประเมินว่ามูลค่าตลาดเดลิเวอรีในปี 2562 จะสูงถึง 35,000 ล้านบาท
หากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มปริมาณพลาสติกที่ย่อยสลายยาก โดยคาดการณ์ตัวเลขขยะในปี 2562 ที่อาจมีจำนวนสูงถึง 560 ล้านชิ้น ตัวเลขจำนวนชิ้นขยะดังกล่าวเป็นการคาดคะเนจากการคำนวณจำนวนเงินเฉลี่ยต่อการสั่ง 1 ครั้ง เท่ากับ 250 บาท จะทำให้มีจำนวนการสั่งเดลิเวอรีที่ประมาณ 140 ล้านครั้ง
ลองคิดภาพว่าในการสั่งเดลิเวอรีต่อ 1 ครั้ง สร้างขยะอย่างน้อย 4 ชิ้นคือ จากภาชนะบรรจุภัณฑ์ 1 ชิ้น ถุงใส่น้ำจิ้ม 1 ชิ้น ถุงพลาสติก 1 ชิ้น และช้อนส้อมอีก 1 ชิ้น ก็จะทำให้เกิดเป็นตัวเลขประเมินขยะจากธุรกิจเดลิเวอรีที่สูงถึง 560 ล้านชิ้นได้เลยทีเดียว ในขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดการใช้ถุงพลาสติก
ในเมื่อธุรกิจต้องหาเส้นทางใหม่ๆ ในการเติบโต แต่ขณะเดียวกันเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ต้องให้ความสำคัญและมองข้ามไม่ได้ จุดที่เหมาะสมจึงต้องทำธุรกิจควบคู่ไปกับการแสดงจุดยืนเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งนี่คือแนวคิดของ ‘ฟู้ดแพชชั่น’ ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ร้านอาหารคุ้นหูอย่าง บาร์บีคิวพลาซ่า, จุ่มแซ่บฮัท, ฌานา, สเปซคิว และเรดซัน ที่เริ่มรุกธุรกิจเดลิเวอรีจริงจังเมื่อไม่นานมานี้
ชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่า แนวคิดการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนเป็นสิ่งที่ทำมานานแล้ว โดยเริ่มภายในองค์กรเอง ก่อนขยายไปสู่ซัพพลายเชนเพื่อช่วยลดขยะตั้งแต่ต้นน้ำ ด้วยอยากดูแลโลกและสัมคมไปพร้อมๆ กัน แนวคิดนี้ไม่ได้โลกสวย เพราะการทำธุรกิจในอนาคตจะยากขึ้น ถ้าไม่มีการจัดการทรัพยากรที่ดีตั้งแต่วันนี้ ต้นทุนจะสูงขึ้นจนเราคาดไม่ถึง
“ในฐานะคนที่เข้ามาในตลาดฟู้ดเดลิเวอรี เราไม่อยากเพิ่มขยะให้มากขึ้นจากที่เป็นอยู่ แต่อย่างไรก็ตามเราต้องมาอยู่แล้ว เพราะผู้บริโภคต้องการสินค้าจากแบรนด์ไปกินที่บ้าน สิ่งที่เราต้องทำคือ จะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคยังได้สินค้าที่มีคุณภาพไปถึงที่บ้าน ขณะเดียวกันต้องไม่สร้างภาระเพิ่มให้กับสิ่งแวดล้อมด้วย แต่เราทำเรื่องนี้เองทั้งหมดไม่ได้ ต้องมีเพื่อนมาช่วยทำ”
นี่จึงเป็นที่มาของโครงการ ‘Wasteless Delivery’ ลดขยะ Single-use plastics ที่จะพลิกโฉมบริการฟู้ดเดลิเวอรีในครั้งนี้ ดำเนินการภายใต้แนวคิดของการช่วยลดขยะใน 2 แง่มุมคือ
เรื่องแรก ‘ลดปริมาณขยะพลาสติกคงค้าง’ โดยร่วมกับ Duni ได้ผลิตและออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากชานอ้อยที่สามารถรักษาคุณภาพของอาหารและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยสามารถย่อยสลายได้เองในเวลาเพียง 45 วันเท่านั้น และยังมีผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดการใช้ Single-use plastics ด้วยการใช้พอลิแลคติคแอซิด (PLA) หรือพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) ที่สามารถย่อยสลายได้ในระยะเวลาไม่ถึงปี มาทดแทนการใช้พลาสติกทั่วไปที่ใช้เวลาย่อยสลายถึง 100 ปี
เรื่องที่ 2 ‘หากต้องมีการใช้พลาสติก จะต้องมีการส่งเสริมให้นำกลับมาใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด’ จึงได้ร่วมกับบริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) หรือเจ้าของโครงการวน (Won) เข้ามาช่วยออกแบบและพัฒนาถุงพลาสติกคุณภาพสูงพิเศษ ที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล มีความหนาถึง 5 เท่า ในบริการจัดส่งอาหารทุกออร์เดอร์ เพื่อให้ผู้บริโภคนำถุงพลาสติกกลับมาใช้หมุนเวียนได้ใหม่สูงสุดถึง 30 ครั้ง โดยหลังจากใช้เสร็จแล้ว สามารถสแกน QR Code เพื่อหาจุดทิ้งถุงที่ทางโครงการจัดไว้ได้
นอกจากนี้ได้ร่วมกับ GrabFood ในการสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นผู้บริโภคให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ด้วยการมอบโค้ดส่วนลดค่าส่งมูลค่า 10 บาท จำนวนทั้งสิ้น 50,000 โค้ด เมื่อสั่งชุดอาหารที่ร่วมรายการจากร้านในเครือฟู้ดแพชชั่น ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน ถึง 31 ธันวาคม 2562 เพื่อเป็นการขอบคุณลูกค้าที่มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมและมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในคำถามที่เกิดจากผู้บริโภคคือ การใช้บรรจุภัณฑ์แบบใหม่ย่อมมาพร้อมกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ใครคือผู้รับผิดชอบในส่วนนี้?
ชาตยายอมรับว่า การเปลี่ยนการใช้แพ็กเกจจิ้งใหม่ทำให้ต้นทุนเพิ่ม 10-100% โดยแต่ละชิ้นมีราคาไม่เท่ากัน แต่ต้นทุนในส่วนนี้บริษัทรับไว้เอง ไม่ได้ผลักภาระให้กับผู้บริโภค ด้วยเห็นว่านี่คือสิ่งที่ธุรกิจต้องเป็นผู้รับผิดชอบเอง แม้วันนี้พฤติกรรมผู้บริโภคเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมจะอยู่ในขั้นเริ่มรับรู้ แต่หวังว่าสิ่งที่ฟู้ดแพชชั่นทำจะทำให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจเรื่องนี้อย่างจริงจังมากขึ้น
ปัจจุบันธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีของฟู้ดแพชชั่นมีให้บริการภายใต้ Hub เดลิเวอรีจำนวน 10 สาขา โดยมีสัดส่วนออร์เดอร์ที่มาจากช่องทางนี้ 35% มียอดซื้อเฉลี่ยต่อบิล 200 บาท ในขณะที่ทานในร้านเฉลี่ยต่อบิลอยู่ที่ 300 บาท
สำหรับทิศทางธุรกิจในปีหน้าจะเกิดขึ้นใน 5 เรื่องหลัก ได้แก่ 1. ออกแบบเมนูที่มีนวัตกรรม โดยวางแผนจะมีเมนูเฉพาะเดลิเวอรี 50 เมนูกระจายในทุกแบรนด์, 2. สร้างความหลากหลาย, 3. เพิ่ม Hub เดลิเวอรีเป็น 50 สาขา 4. ให้บริการที่ไร้รอยต่อ และ 5. สร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ฟู้ดแพชชั่นได้วางเป้าหมายในการลดขยะ Single-use plastics จากบริการเดลิเวอรีของฟู้ดแพชชั่นไว้สูงถึง 1.2 ล้านชิ้น ควบคู่ไปกับเป้าหมายในเชิงของยอดขาย โดยตั้งเป้าหมายในการสร้างสัดส่วนยอดขายเดลิเวอรีในปี 2563 ให้ได้ 10% ของยอดขายรวมในสาขาที่เป็น Hub เดลิเวอรี
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า